ความต่าง ‘เพชรแท้-เพชรเทียม’ แยกอย่างไร ไม่ให้ถูกหลอก

ความต่าง ‘เพชรแท้-เพชรเทียม’ แยกอย่างไร ไม่ให้ถูกหลอก

ปัจจุบัน “เพชร” เครื่องประดับราคาแพง และทรงคุณค่าในการแต่งงาน ปรากฏว่ามีเพชรเลียนแบบที่คล้ายกันมากออกมา หากพลาดไปซื้อเพชรเทียมในราคาสูงคงเสียใจไม่น้อย จึงน่าสนใจว่า “วิธีแยกเพชรแท้และเพชรเทียม” ทำได้ด้วยวิธีใดบ้าง

Key Points

  • “รัสเซีย” เป็นประเทศที่ผลิตเพชรสูงที่สุดในโลก ในสัดส่วนสูงถึง 30% ของทั้งโลก
  • เพชรเทียม หรือเพชร CZ เกิดจากการหลอมละลายผงเซอร์โคเนียมไดออกไซด์รวมกับแคลเซียมและแมกนีเซียมในอุณหภูมิสูงราว 2,750 องศาเซลเซียส มีรอยได้ง่าย และมีอายุการใช้งานเพียง 2-3 ปี
  • เพชรสังเคราะห์ต่างจากเพชรเทียม โดยเพชรสังเคราะห์ใช้เวลาสร้างจากห้องแล็บไม่กี่สัปดาห์ จนมีคุณสมบัติคล้ายเพชรแท้ อีกทั้งราคาก็ต่ำกว่าเพชรธรรมชาติ 2-3 เท่า


“เพชร” แร่ที่แข็งที่สุดในโลก ระดับที่ไม่มีสิ่งใดสร้างรอยขีดข่วนได้ ยกเว้นเพชรด้วยกันเอง จนกลายเป็นสำนวนไทย “เพชรตัดเพชร” ซึ่งหมายถึง คนเก่งมาสู้กับคนเก่งระดับเดียวกัน

คุณสมบัติเป็นหนึ่งด้านความแข็งนี้ จึงทำให้เพชรถูกใช้เป็นเครื่องประดับล้ำค่า เช่น “แหวนแต่งงาน” และ “สร้อยเพชร” ที่มีมูลค่าสูง

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ตลาดอัญมณีทั่วไปกลับมีเพชรเลียนแบบอยู่มากมาย คล้ายเพชรแท้ และบางร้านก็ตั้งราคาสูงเกินความจริงเทียบเท่ากับเพชรแท้

ดังนั้น ถ้าสามารถแยกแยะเพชรแท้กับเพชรเทียมได้ คงมีประโยชน์ไม่น้อย

 

ความต่าง ‘เพชรแท้-เพชรเทียม’ แยกอย่างไร ไม่ให้ถูกหลอก

- เพชรแท้ธรรมชาติ (เครดิต: Shutterstock) -

 

  • เพชรเทียม คืออะไร

เพชรเทียม มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า เพชร CZ (Cubic Zirconia) โดยเกิดขึ้นจากการหลอมละลายผงเซอร์โคเนียมไดออกไซด์ (Zirconium Dioxide) รวมกับแคลเซียมและแมกนีเซียมในอุณหภูมิสูงราว 2,750 องศาเซลเซียส ซึ่งเพชรเทียมนี้มีรอยได้ง่าย และหากสวมใส่ประจำ จะมีอายุการใช้งานเพียง 2-3 ปี

 

ความต่าง ‘เพชรแท้-เพชรเทียม’ แยกอย่างไร ไม่ให้ถูกหลอก

- เพชรเทียมหรือเพชร CZ คล้ายเพชรแท้ (เครดิต: Shutterstock) -

 

  • วิธีแยกเพชรแท้กับเพชรเทียม

1. ใบรับรอง (ใบเซอร์ฯ) เป็นวิธีแยกเพชรได้ง่ายที่สุด และมีความน่าเชื่อถือสูง โดยใบรับรองจะออกโดยสถาบันอัญมณีที่มีชื่อเสียงอย่างสถาบัน GIA (Gemological Institute Of America) จากสหรัฐ

สถาบัน HRD Antwerp จากเบลเยียม และสถาบัน IGI (International Gemological Institute) จากเบลเยียมเช่นกัน

ในใบรับรอง ก็จะมีลายน้ำบาง ๆ อยู่บนโลโก้ และระบุรายละเอียด 4C ซึ่งเป็น 4 รายการใน “การวัดคุณภาพเพชร” ดังนี้

1) Carat weight น้ำหนักของเพชร ยิ่งเพชรมีน้ำหนักมากก็จะมีมูลค่าสูงขึ้น และถ้าหากเพชร 2 เม็ดมีน้ำหนักเท่ากัน เพชรที่มีหน้ากว้างกว่า จะมีมูลค่ามากกว่า

2) Clarity grade ระดับความสะอาดของเพชร เพชรที่มีสิ่งเจือปนและตำหนิน้อย จะมีราคาสูง

3) Color grade ระดับของสีเพชร สีของเพชรมีตั้งแต่ D Color หรือเรียกว่าเพชรน้ำ 100 ซึ่งมีสีขาวไร้สี มีสิ่งเจือปนน้อยที่สุด และ Z Color หมายถึง เพชรสีเหลืองนวล

 

ความต่าง ‘เพชรแท้-เพชรเทียม’ แยกอย่างไร ไม่ให้ถูกหลอก

- ระดับสีเพชร (เครดิต: Shutterstock) -

 

4) Cut grade คุณภาพของการเจียระไน โดยเพชรที่ดีจะมีเหลี่ยมเจียระไนที่สมมาตร และประณีต โดยประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการเจียระไนก็คือ เบลเยียม และรัสเซีย

นอกจากนี้ ในใบรับรองยังมีข้อความที่สลักบนขอบเพชร หรือเรียกว่า Inscription(s) ซึ่งสามารถตรวจจากขอบเพชรด้วยกล้องขยาย 10 เท่า ว่าตัวเลขในตัวเพชรกับใบรับรองตรงกันหรือไม่

ด้วยรายละเอียดเหล่านี้ จึงทำให้เพชรที่มีใบรับรอง ขายได้ราคาสูงกว่าเพชรที่ไม่มีใบเซอร์ฯ

 

ความต่าง ‘เพชรแท้-เพชรเทียม’ แยกอย่างไร ไม่ให้ถูกหลอก

- ใบเซอร์ฯเพชร (เครดิต: GIA) -

2. มองตัวหนังสือผ่านเพชร เนื่องจากเพชรมีค่าหักเหแสง (Refrective Index: RI) ที่สูงมาก เมื่อคว่ำหน้าเพชรลงบนกระดาษที่มีตัวหนังสือ เพชรแท้ จะมองไม่ออกว่าเป็นตัวหนังสืออะไร ขณะที่เพชรเทียมจะมองออกและตัวเพชรไม่แวววาวเท่า

3. หายใจรดใส่เพชร เพชรแท้มีคุณสมบัติการนำความร้อนที่ดี เมื่อปล่อยลมหายใจออกใส่เพชร จะไม่มีไอน้ำเกาะติดบนเพชร หากมีก็จางหายอย่างรวดเร็ว ในขณะที่เพชรเทียม ไอน้ำจะเกาะนาน 2-3 นาที อย่างไรก็ตาม เพชรเทียมบางอย่างอาจเป็นวัสดุนำความร้อน วิธีนี้จึงควรทดสอบร่วมกับวิธีอื่น ๆ ด้วย

4. เหลี่ยมมุมและรอยขีดข่วนบนเพชร เมื่อใช้กล้องขยาย 10 เท่า ส่องบนตัวเพชรแท้ จะพบเหลี่ยมมุมชัดเจน และไม่มีรอยขีดข่วน เหตุผลเพราะเพชรเป็นธาตุที่แข็งที่สุด จึงไม่มีอะไรทำให้เพชรเป็นรอยได้นอกจากตัวเพชรเอง ขณะที่เพชรเทียม จะเรียบมนดั่งพลาสติกใส อีกทั้งอาจมีรอยขีดข่วน

5. การจมน้ำ เพชรแท้จะจมน้ำ เพราะมีค่าความถ่วงจำเพาะสูงมาก ในขณะที่เพชรเทียมอาจไม่จมลงทั้งก้อนหรือจมน้ำ 100%

6. เครื่องตรวจเพชร เนื่องจากเพชรเป็นเครื่องประดับที่นำความร้อนได้ จึงสามารถใช้เครื่องตรวจวัดการนำความร้อน เพื่อตรวจสอบเพชร

7. ลักษณะเนื้อเพชร เมื่อส่องกล้องลงไปบนขอบเพชรแท้ เนื้อเพชรแท้จะคล้ายคราบน้ำแข็งหรือเป็นเม็ดหยาบ ๆ เล็กน้อย ขณะที่เพชรเทียมจะเห็นเป็นเพียงผิวเรียบ ๆ

8. ตำหนิที่เพชร ส่วนใหญ่เพชรแท้ มักจะพบตำหนิตามธรรมชาติ มีจำนวนน้อยมากที่ไร้ตำหนิ ขณะเดียวกันเพชรเทียมที่สร้างจากมนุษย์ มักไม่ค่อยพบตำหนิ

 

  • แหล่งผลิตเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ข้อมูลจาก Market.US บริษัทวิจัยด้านการตลาด รายงานว่า ในปี 2565 ตลาดเพชรมีขนาดตลาดใหญ่ถึง 98,300 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าขนาดตลาดจะขยายเป็น 140,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2575

หลายคนอาจคิดว่าประเทศที่ผลิตเพชรมากที่สุดต้องอยู่ในทวีปแอฟริกา แต่ในความจริงแล้ว ข้อมูลจาก World Atlas ปี 2565 ระบุว่าเป็น “รัสเซีย” ซึ่งผลิตเพชรในสัดส่วนสูงถึง 30% ของทั้งโลก สามารถเรียงลำดับได้ดังนี้

อันดับ 1 รัสเซีย ผลิต 39.12 ล้านกะรัต

อันดับ 2 บอตสวานา ผลิต 22.88 ล้านกะรัต

อันดับ 3 แคนาดา ผลิต 17.62 ล้านกะรัต

อันดับ 4 คองโก ผลิต 14.09 ล้านกะรัต

อันดับ 5 แอฟริกาใต้ ผลิต 9.72 ล้านกะรัต

 

  • เพชรสังเคราะห์ คุณสมบัติคล้ายเพชรแท้ แต่ราคาถูกกว่า

หลายคนอาจเข้าใจว่า เพชรสังเคราะห์คือเพชรเทียม แต่อันที่จริงแล้ว “ไม่เหมือนกัน” โดยเพชรสังเคราะห์ (Laboratory-Grown) เกิดจากกระบวนการผลิตที่เหนือชั้นกว่าเพชรเทียม จนมีคุณสมบัติคล้ายเพชรแท้ และมีระดับความแข็งไม่ต่างจากเพชรแท้ด้วย แต่ราคาถูกกว่า โดยมี 2 แบบดังนี้

1. เพชรสังเคราะห์ CVD (Chemical Vapor Deposition) เกิดขึ้นจากห้องสุญญากาศที่เต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอน เช่น มีเทน มีการแตกตัวทางอะตอมจนให้กำเนิดเป็นเพชรสังเคราะห์

2. เพชรสังเคราะห์ HPHT (High Pressure High Temperature) มาจากการจำลองแรงกดดันและอุณหภูมิร้อนสูงเสมือนโลกใต้พิภพในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ (ห้องแล็บ) จนหล่อหลอมเป็นผลึกเพชรสังเคราะห์ขึ้นมา

จุดสำคัญคือ การผลิตเพชรสังเคราะห์ทั้งสองแบบนี้ใช้เวลาสร้างไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น ต่างจากเพชรธรรมชาติที่ใช้เวลาหลายร้อยล้านปี อีกทั้งราคาเพชรสังเคราะห์ส่วนใหญ่ก็ “ต่ำกว่าเพชรธรรมชาติ 2-3 เท่า”

ดังนั้น “เพชรสังเคราะห์” จึงกลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจแทนเพชรแท้ จากคุณสมบัติ ความแข็งที่ใกล้เคียงเพชรแท้ อีกทั้งราคาก็ต่ำกว่าด้วย

 

ความต่าง ‘เพชรแท้-เพชรเทียม’ แยกอย่างไร ไม่ให้ถูกหลอก

- เพชรสังเคราะห์จากห้องแล็บ (เครดิต: beldiamond) -

 

อ้างอิง: celi-jewelryceli-jewelry(2)abovediamondiringemsdiamondmansion

worldatlasmarket.us