ผ่าอินไซต์ 'อินเดียเที่ยวไทย' 8 หมื่นล้าน เร่งพลิกแมสโปรดักต์สู่ 'พรีเมียม'

ผ่าอินไซต์ 'อินเดียเที่ยวไทย' 8 หมื่นล้าน  เร่งพลิกแมสโปรดักต์สู่ 'พรีเมียม'

'อินเดีย' หนึ่งในตลาดเป้าหมายของภาคท่องเที่ยวไทย ด้วยจำนวนประชากรมากถึง 1,417 ล้านคนเมื่อสิ้นปี 2565 เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก! แซงหน้า 'จีน' เป็นที่เรียบร้อย รวมถึงศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ผู้ประกอบการต่างมุ่งหมายขยายฐานนักท่องเที่ยวอินเดียในยุคหลังโควิด-19 เพื่อบาลานซ์ความหลากหลายของตลาด ไม่ให้น้ำหนักตกอยู่ที่ตลาดจีนมากเกินไป

หลังจากปี 2562 ก่อนยุคโควิด-19 ระบาด ตามรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ในปีดังกล่าวมีนักท่องเที่ยวอินเดียทางเข้าไทย จำนวน 1,961,069 คน สร้างรายได้กว่า 80,039 ล้านบาท

“สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว” (แอตต้า) ได้จัดทำโครงการ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มความสามารถด้านการตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว” เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 3 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย และอังกฤษ นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่เหมาะสมและขายได้จริง!

 

จากการสำรวจแบบสอบถามและการสัมภาษณ์เชิงลึกของกลุ่มประเทศ “อินเดีย” กับกลุ่มนักท่องเที่ยวอินเดียเป้าหมาย 201 ชุด พบว่า 5 อันดับ “เหตุผล” ในการท่องเที่ยวของชาวอินเดีย มีดังนี้

1.หาประสบการณ์ที่น่าจดจำ 2.ใช้เวลาร่วมกับครอบครัว 3.ผ่อนคลายจากเรื่องเครียดในชีวิต 4.เรียนรู้ หาไอเดียใหม่ๆ ให้กับชีวิต และ 5.กระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว

ขณะที่ 5 อันดับ “สไตล์การท่องเที่ยว” ของชาวอินเดีย มีดังนี้

1.ค้นหาจุดหมายใหม่ๆ 2.ท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ 3.เที่ยวอย่างคุ้มค่า 4.เที่ยวแบบทั้งครอบครัว และ 5.กลับไปท่องเที่ยวในที่คุ้นเคยหรือชื่นชอบ

ส่วน “ความคาดหวัง” จากทริป นักท่องเที่ยวอินเดียตอบว่า สิ่งที่ต้องการมากเป็นอันดับ 1 คือ “ความสุขและความสนุก” (Happiness & Fun) อันดับ 2 ต้องการผ่อนคลายจากการทำงานและชีวิตประจำวัน อันดับ 3 ต้องการความปลอดภัยระหว่างทริป, ความคุ้มค่าเงิน และสร้างความทรงจำ สะท้อนให้เห็นว่าชาวอินเดียมีความต้องการด้านท่องเที่ยวหลากหลายมากขึ้น จึงต้องยกระดับทั้งคุณภาพการให้บริการ และตัวเลือกของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและตอบโจทย์ยิ่งขึ้น!

สำหรับแพลตฟอร์มสำคัญที่ชาวอินเดียใช้ในเวลาเดินทางท่องเที่ยว 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.Google / Yahoo 2.Facebook และ 3.Google Maps ผู้ประกอบการใช้ช่องทางเหล่านี้ในการสื่อสารผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ “อินฟลูเอนเซอร์” (Influencer) หรือบุคคลที่ติดตามเพื่อมีผลต่อการตัดสินใจท่องเที่ยวในไทย พบว่า 10 อันดับแรก มีดังนี้ 1.TAT New Delhi 2.Friends 3.Bhuvan Bam 4.Sharanya IYER 5.Dmc’s 6.Danal sae-ou 7.Blue rain tours 8.Kanlayakorn Dedkard 9.hungry cruisers และ 10.visit Kashmir

ขณะที่การสร้างแบบจำลอง หรือ “Persona” ของนักท่องเที่ยวอินเดียกลุ่มเป้าหมาย เป็นคนรุ่น “มิลเลนเนียลส์” อายุ 28-42 ปี ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องการอิสระ ประสบการณ์ในการพักผ่อน และหาความสุขให้ครอบครัว

ภาพรวมกิจกรรมและความต้องการในการท่องเที่ยวในไทย กลุ่มครอบครัว (Family) เน้นทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว ให้ความปลอดภัยกับเด็กเล็ก หรือมีที่ท่องเที่ยวสำหรับเด็ก กลุ่มแต่งงาน (Wedding) มาไทยเพื่อหาที่จัดงานแต่งงานด้วยสภาพแวดล้อม ธรรมชาติ และต้นทุนที่ถูกกว่าอินเดีย กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness) เป็นแก๊งหญิงล้วน หรือคู่รักที่ต้องการเสริมความงาม และได้การบริการจากไทย กลุ่มท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ (Experience) ต้องการเปิดโลก ความแปลกใหม่ให้กับตนเอง

ด้าน “ทัศนคติ” ของชาวอินเดียที่มีต่อประเทศไทย พบว่าไทยถูกมองว่าเป็น “Cheap Destination” ในแง่บวก! หมายถึง ออกไปเที่ยวได้ง่าย ใกล้ และประหยัด! ส่วน “กิจกรรมประจำ” ที่ทำในไทย นิยมเที่ยวกลางคืน พักผ่อน ชอปปิง และเที่ยวทะเล โดย “เมืองเป้าหมาย” ของชาวอินเดียคือ กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต และกระบี่

“ปัญหาและอุปสรรค” ในไทยที่มีผลต่อชาวอินเดีย มีเรื่องมาตรฐานของอาหารอินเดีย และการบริการที่ไม่ต้อนรับชาวอินเดีย นอกจากนี้ยังมี “ข้อเสนอแนะ” ต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยว เช่น การเปลี่ยนจากกลุ่ม Mass เป็น “กลุ่ม Premium” การเปลี่ยนจาก Cheap Destination เป็น “Experience Based Destination” หรือจุดหมายปลายทางที่เน้นการสร้างประสบการณ์พร้อมด้วยคุณภาพ การสร้างมาตรฐานด้านอาหารและการบริการต่างๆ ที่เหมาะสมกับศาสนาและวัฒนธรรมของชาวอินเดีย เช่น มาตรฐานภารตะชอยส์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์เฉพาะกลุ่มมากขึ้น เช่น ท่องเที่ยวตามรอยละครไทย ผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวแบบ Premium Family และการโปรโมตจุดหมายศักยภาพสูงใกล้กรุงเทพฯ เช่น กาญจนบุรี และอื่นๆ

ก่อนหน้านี้ ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ปี 2566 ภาคท่องเที่ยวไทยยังต้องพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติจากตลาดระยะสั้น ตั้งแต่ต้นปีนี้มีนักท่องเที่ยวจากตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ครองสัดส่วนมากกว่า 60% โดย ททท.คาดการณ์ว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางเข้าไทยเกิน 1 ล้านคน

จากสถิติ “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” เดินทางเข้าประเทศไทยในช่วง 4 เดือนแรก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 เม.ย. 2566 มีจำนวนสะสม 8,596,452 คน โดย อินเดีย ติด 5 อันดับแรกของตลาดที่เดินทางเข้าไทยสูงสุด ได้แก่ 1.มาเลเซีย 1,270,151 คน 2.จีน 845,617 คน 3.รัสเซีย 682,168 คน 4.เกาหลีใต้ 536,257 คน และ 5.อินเดีย 452,117 คน