รฟม.เร่ง BSR เคลียร์พื้นที่รถไฟฟ้าสายสีเหลือง - ชมพู เตรียมทยอยเปิดบริการ

รฟม.เร่ง BSR เคลียร์พื้นที่รถไฟฟ้าสายสีเหลือง - ชมพู เตรียมทยอยเปิดบริการ

รฟม.กำชับ BSR เร่งเคลียร์พื้นที่ผิวจราจรรถไฟฟ้าสายสีเหลือง - ชมพู ขีดเส้นแล้วเสร็จภายในปีนี้ พร้อมลอกท่อระบายน้ำรับมือหน้าฝน เตรียมเดินหน้าทดสอบระบบ ก่อนทยอยเปิดให้บริการ

นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ รฟม.ได้กำชับให้ผู้รับสัมปทานในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง และสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี เร่งดำเนินการคืนผิวจราจรตามแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้า เนื่องจากขณะนี้โครงการได้ทยอยก่อสร้างแล้วเสร็จ และเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการดำเนินงานโครงการให้แก่ประชาชน โดย รฟม.คาดว่าจะสามารถคืนผิวจราจรตลอดแนวเส้นทางภายในปี 2566

สำหรับปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง ความก้าวหน้างานโยธา 98.99%ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 99.07% ความก้าวหน้าโดยรวม 99.02% โดยมีการทยอยคืนผิวจราจรในบางพื้นที่ของโครงการ ได้แก่ ถนนลาดพร้าว บริเวณแยกรัชดา – ลาดพร้าว และถนนศรีนครินทร์ ถึง แยกศรีอุดม คิดเป็นร้อยละ 42.00 และแยกศรีอุดม ถนนเทพารักษ์ ถึง แยกสำโรง คิดเป็น 49%

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี ความก้าวหน้างานโยธา 96.19% ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 96.64% ความก้าวหน้าโดยรวม 96.43% ปัจจุบันได้เริ่มคืนผิวจราจรตามแนวเส้นทางโครงการฯ แล้วเช่นกัน ประกอบด้วย ถนนรามอินทรา ผู้รับจ้างได้ดำเนินการซ่อมแซม ปรับปรุงสภาพพื้นผิวถนนให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน มีความก้าวหน้าคิดเป็น 21.26%

รฟม.เร่ง BSR เคลียร์พื้นที่รถไฟฟ้าสายสีเหลือง - ชมพู เตรียมทยอยเปิดบริการ

ยกเว้นบริเวณแนวสายทางระหว่างสถานีมัยลาภ และสถานีวัชรพล ที่ยังอยู่ในระหว่างการเร่งดำเนินการคืนผิวจราจร สำหรับถนนแจ้งวัฒนะ ผู้รับจ้างได้ดำเนินการคืนผิวจราจร คิดเป็น 16.62% ถนนติวานนท์ คิดเป็น 12.24% และถนนสีหบุรานุกิจ คิดเป็น 28.57%

นอกจากนี้ รฟม.ได้ติดตามและเฝ้าระวังปัญหาน้ำท่วมขังตามแนวก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ โดยกำชับให้ผู้รับสัมปทานฯ ดำเนินการลอกท่อระบายน้ำและลำรางสาธารณะ เพื่อป้องกันเศษวัสดุอุดตันในแนวก่อสร้างรถไฟฟ้า และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ โดยได้เริ่มลอกท่อระบายน้ำในจุดสำคัญ ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำและมีปัญหาน้ำท่วมขังเป็นประจำแล้วเสร็จเรียบร้อยเป็นลำดับแรก ได้แก่ บริเวณสถานีราชภัฏพระนคร (PK15) สถานีรามอินทรา 3 (PK17) และเตรียมดำเนินการบริเวณสถานีลาดปลาเค้า (PK18) ในลำดับถัดไป

พร้อมกันนี้ รฟม. ได้สั่งการ พร้อมกำชับให้โครงการฯ ลอกท่อระบายน้ำตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงที่อาจเกิดน้ำท่วมขังได้ง่ายในช่วงฤดูฝน ควบคู่กับการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่และเครื่องสูบน้ำให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ พร้อมประสานให้ความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นในการเร่งระบายน้ำได้อย่างทันท่วงที เพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยให้แก่ประชาชนในกรณีฉุกเฉิน

รฟม.เร่ง BSR เคลียร์พื้นที่รถไฟฟ้าสายสีเหลือง - ชมพู เตรียมทยอยเปิดบริการ

ขณะที่ความพร้อมในการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพูนั้น ปัจจุบันในส่วนของสายสีเหลืองยังอยู่ระหว่างการทดสอบงานระบบเดินรถไฟฟ้าในระบบต่างๆ โดยผู้รับสัมปทานยังต้องแก้ไขในรายละเอียดของงานระบบรถไฟฟ้าหลายๆ ระบบ ก่อนเสนอให้ รฟม. พิจารณาการเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการในช่วงทดลองการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ซึ่งตามปกติจะต้องใช้เวลาในการทดสอบการเดินรถไม่น้อยกว่า 3 เดือน

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ นั้น ผู้รับสัมปทานได้แจ้งแผนการเปิดให้บริการ โดยผู้รับสัมปทานคาดว่าจะสามารถเริ่มทดลองการเดินรถได้ในเดือน ม.ค.2567 และมีกำหนดการเปิดให้บริการเดินรถตลอดเส้นทางภายในเดือน มิ.ย. 2567

สำหรับเอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าทั้งสองสายนั้น คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) โดยจดทะเบียนดำเนินงานภายใต้บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีชมพู