เผยผลวิจัย คนไทย 46% จ่องดปาร์ตี้นอกบ้าน มองหาช่องประหยัดกว่าเดิม

เผยผลวิจัย คนไทย 46% จ่องดปาร์ตี้นอกบ้าน มองหาช่องประหยัดกว่าเดิม

บริษัทวิจัยระดับโลก 'มินเทล' เผยผลการสำรวจพฤติกรรมใช้จ่ายคนไทยในช่วงเทศกาล นิยมเฉลิมฉลองอยู่ที่บ้าน กังวลเศรษฐกิจมากกว่าโควิด เลือกใช้จ่ายแบบประหยัด เน้นทำอาหารเองที่บ้าน แบรนด์ต้องปรับกลยุทธ์รับมือตลาดเปลี่ยน

ผลจากสถานการณ์เศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ ตัวแปรสำคัญที่ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคคนไทยเปลี่ยนแปลงไป ต่างคุมเข้มในการใช้มากยิ่งขึ้น 

Mintel APAC Economic Tracker ได้เปิดเผยผลวิจัย การสำรวจพฤติกรรมของคนไทยหลังสถานการณ์โควิดในการเข้าร่วมเทศกาลต่างๆ พบประเด็นที่น่าสนใจใน 3 ด้านทั้ง 1. งานสังสรรค์และการนำเสนออาหารต่างๆ เป็นหัวใจสำคัญในการเฉลิมฉลองของวัฒนธรรมไทยสมัยใหม่ และการได้สังสรรค์กับคนที่รักเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดสำหรับผู้บริโภคกว่า 80%

2. คนไทย 7 ใน 10 คนเลือกที่จะไม่ออกไปข้างนอกในช่วงเทศกาลเพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น

3. ผู้ประกอบการจึงควรจัดกิจกรรมที่ทำให้เกิดความคิดถึงอดีต (nostalgia) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในช่วงนี้ 

ผลการสำรวจในการเข้าร่วมงานเทศกาลพบว่า กลุ่มผู้สูงวัย มีความต้องการเฉลิมฉลองไปกับวันหยุดตามประเพณี เช่น วันสงกรานต์ ประมาณ 57% แตกต่างจากคนรุ่นใหม่ กลุ่ม Gen Z และ Millennials ให้ความสำคัญกับการเฉลิมฉลองตามวิถีแบบตะวันตก โดยประมาณ เกือบหนึ่งในสี่ หรือ 22% ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ให้ความสำคัญในการเฉลิมฉลองคริสต์มาส วันวาเลนไทน์ ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน 19% และ 23% ตามลำดับ

ผลการวิจัยยังระบุว่า จากวิกฤติเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้พฤติกรรมของชาวไทยกว่า 46% ลดการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาจนถึงเดือนธันวาคม 2565 แสดงให้เห็นว่าคนไทย 7 ใน 10 คนเลือกที่จะเฉลิมฉลองช่วงงานเทศกาลรวมถึงโอกาสพิเศษต่างๆ ที่บ้าน และเกือบครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคไทยทำอาหารเพื่อรับประทานเองที่บ้าน ประมาณ 47% ส่วนรับประทานอาหารนอกบ้าน ประมาณ 31% 

ขณะเดียวกันคนไทยต่างให้ความสำคัญเรื่องราคา และมองหาวิธีประหยัดเพิ่มขึ้น โดยกว่า 2 ใน 5 หรือ 45% ต้องการรอส่วนลดพิเศษช่วงเทศกาลช้อปปิ้งก่อนจับจ่ายซื้อของ

ดร. วิลาสิณี ศิริบูรณ์พิพัฒนา นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสด้านไลฟ์สไตล์ บริษัท มินเทล ประเทศไทย กล่าวว่า ผู้บริโภคประเมินสถานการณ์โควิด-19 ไม่น่าห่วงแล้ว แต่สิ่งที่กังวลเป็นเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ผู้คนจำนวนมากเฉลิมฉลองเทศกาลวันหยุดอยู่ที่บ้านแทน

จากปัจจัยดังกล่าว แบรนด์ต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ยกตัวอย่าง การนำเสนอแคมเปญดีลพิเศษ ที่ทำให้ผู้บริโภคร่วมเฉลิมฉลองอย่างสบายใจแต่ไม่ต้องใช้จ่ายเกินไปจำเป็น เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าได้รับผล กระทบจากภาวะเศรษฐกิจ

แต่ในผลการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคมากกว่า 9 ใน 10 มีความพร้อมที่จะใช้ในเทศกาล ดังนั้น แบรนด์สามารถดึงดูดผู้บริโภค โดยนำเสนอองค์ประกอบที่ทำให้เกิดความคิดถึงอดีต เนื่องจากคนไทยกว่า 82% เห็นว่าวันหยุดทำให้นึกถึงความรู้สึกในวันวานได้

อีกทั้งคนไทยส่วนใหญ่ต่างให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพและการปรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้น โดยพบว่า ผู้บริโภคชาวไทยเกินกว่าครึ่ง หรือ 51% ให้ความสำคัญกับอาหารที่ทาน ผู้ประกอบการจึงควรมุ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ เช่น ผลิตภัณฑ์สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพลำไส้ และช่วยให้ผู้บริโภคสามารถรับประทานอาหารได้เยอะอย่างสบายใจและหลีกเลี่ยงอาการไม่สบายท้องในช่วงเทศกาลอีกด้วย