‘คน 2 วัย’ เป้าหมายเดียวกัน โจทย์ใหญ่ผู้บริหาร ‘รุ่นเก่า’

‘คน 2 วัย’ เป้าหมายเดียวกัน โจทย์ใหญ่ผู้บริหาร ‘รุ่นเก่า’

ด้วยวิธีการทำงานและพฤติกรรมที่แตกต่างกันระหว่างคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า ทำให้องค์กรจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อหาตรงกลางระหว่างคนสองวัยเพื่อให้การทำงานขององค์กรสามารถขับเคลื่อนไปได้และประสบผลสำเร็จต่อไปในอนาคต

ปัจจุบันองค์กรหลายแห่งอยู่ในภาวะที่กำลังคนทำงานมีหลากหลายเจนผสมกันอยู่ สัดส่วนระหว่าง “คนรุ่นใหม่” กับ “คนรุ่นเก่า” ผสมๆ กันอยู่มากน้อยแต่ต่างกันตามแต่ว่า “องค์กร” นั้นๆ ขณะนี้ คนรุ่นไหนเป็นฝ่ายที่กุมอำนาจบริหารสูงสุด ซึ่งพนักงานก็จะแปรผันไปตามวัยของผู้บริหาร แต่ไม่ว่าจะอยู่ในสัดส่วนเท่าไหร่ ทุกองค์กรต่างต้องปรับตัวให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งการทำงานมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้มากขึ้น ที่สำคัญ “แรงงาน” ที่อยู่ในระบบก็มีความจำเป็นต้อง “พัฒนาทักษะ” ให้ตามทันด้วยเช่นกัน

เพราะหาก “แรงงาน” ไม่มีการพัฒนา โอกาสที่จะอยู่ในระบบได้ต่อไปก็จะมีน้อยลง สิ่งที่จะแทนที่เป็นไปได้ทั้ง “กำลังคน” ด้วยกันที่มีสมรรถนะสูงกว่า หรือระบบอัจฉริยะ กลไกอัตโนมัติต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลว่าหากมีการนำ ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ มาทำงาน “แทนที่คน" มีความปลอดภัยมากพอหรือไม่ แรงงานไทยจะอยู่ในอาชีพ องค์กรได้ประมาณ 50 ปี เพราะถ้าเกินกว่านั้นอาจจะถูกเลิกจ้าง หรือถูกมองว่าเป็นแรงงานสูงอายุ ส่วนหนึ่งจะขาดทักษะการใช้เทคโนโลยีในการทำงาน

ขณะที่เด็กรุ่นใหม่ เมื่อจบการศึกษาส่วนหนึ่งจะไม่เข้าสู่ระบบการทำงานทันที พวกเขาจะใช้เวลาในการค้นหาตัวเอง ดำเนินชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการ และประมาณ 2-3 ปี ถึงจะเข้าสู่ระบบการทำงานจริงๆ เป็นฟรีแลนด์บ้าง หรือเลือกทำงานในองค์กรที่ตรงแพชชั่นของตนเองมากกว่าที่พิจารณาค่าตอบแทน ตัวเลขคนว่างงานไตรมาส 3 ปี 2565 มีถึง 4.91 แสนคน คิดเป็นอัตราว่างงาน 1.2% ของกำลังแรงงานรวม 40.09 ล้านคน ที่มีงานทำ 39.57 ล้านคน โดยผู้ว่างงานทั้งหมดเป็นคนที่ไม่เคยทำงานมาก่อนมากกว่า 2.56 แสนคน จบปริญญาตรีว่างงานมากที่สุด 1.8 แสนคน

ตลาดแรงงานปัจจุบันเดินมาถึงยุคที่ “คนทำงานเลือกองค์กร” แล้ว ขณะที่ “HR” ขององค์กร “รุ่นเก่า” รวมทั้งผู้บริหาร “รุ่นเก่า” ยังคงมีสไตล์การทำงานแบบเดิมๆ ที่คุ้นชิน สั่งงานแบบมองตาแล้วรู้ใจ ไม่อธิบายมาก ทำได้อย่างที่ผู้บริหารต้องการ ตรงใจแบบไม่ต้องแก้ไขประหนึ่งใช้รอยหยักในสมองเดียวกัน ขณะที่ทีมงานเป็น “คนรุ่นใหม่” ต้องการผู้บริหารที่ "สั่งการ" ชัดเจน-โปร่งใส-เปิดเผย"ต้องการได้รับยอมรับและมอบหมาย “งาน” ให้ทำ โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกโยนกลองเมื่องานไม่สำเร็จ

ผู้บริหารเจน X จึงต้องทำหน้าที่เป็นโค้ชให้ทีมงานคนรุ่นใหม่ เปิดโอกาสให้แสดงสามารถอย่างเต็มที่และพร้อมแชร์ประสบการณ์ ที่มีความชำนาญ พร้อมช่วยแก้ไขปัญหาหากเกิดอุปสรรคในการทำงาน เป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ที่รักอิสระ อยากใช้ชีวิตไปด้วยทำงานไปด้วย ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการคิดวิเคราะห์และความรู้ทางเทคโนโลยี การใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลากับความยืดหยุ่นและความคล่องแคล่วว่องไวให้สามารถทำงานให้กับ “องค์กร” ได้อย่างเต็มที่

ที่สำคัญ “HR” ก็ต้องปรับตัวให้ก้าวทันไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกการทำงานในปัจจุบันด้วยเช่นกัน ไม่อย่างนั้นแล้วองค์กรก็ยากที่รักษาคนที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีเอาไว้ได้มากกว่า 2 ปีที่ คนรุ่นใหม่จะเปลี่ยนที่ทำงาน