3 ดัชนีวัด ‘ความสามารถแข่งขัน’ ประเทศ ‘IMD’ – ‘GCI’ – ‘EoDB’ ต่างกันอย่างไร?

3 ดัชนีวัด ‘ความสามารถแข่งขัน’ ประเทศ  ‘IMD’ – ‘GCI’ – ‘EoDB’ ต่างกันอย่างไร?

ส่อง 3 ดัชนีประเมินขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่นักลงทุนและนักธุรกิจทั่วโลกใช้อ้างอิง และประเมินขีดความสามารถแข่งขัยทั่วโลก ทั้ง ‘IMD’ – ‘GCI’ – ‘EoDB’ มีความแตกต่างกัน และมีความสำคัญแตกต่างกันอย่างไร

“ขีดความสามารถในการแข่งขัน” เป็นดัชนีที่ใช้วัดขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในภาพรวม และในด้านต่างๆของประเทศ รวมทั้งเป็นข้อมูลที่นักธุรกิจ และนักลงทุนใช้ในการประกอบการตัดสินใจเข้าไปทำธุรกิจ หรือลงทุนในประเทศนั้น

จากข้อมูลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าปัจจุบันมีดัชนีระดับโลกที่ใช้ในการวัดขีดความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศต่างๆอยู่ 3 ดัชนี ที่จัดทำดยสถาบันที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางที่มีความแตกต่างกันทั้งการวัด และการจัดเก็บข้อมูลดังนี้

1.“ดัชนี IMD” หรือ  "IMD World Competitiveness Ranking" ที่จัดทำโดย International Institute for Management Development (IMD) หรือ "สถาบันการจัดการนานาชาติ"

ดัชนีนี้จัดเพื่อประเมินสมรรถนะ การพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศ ประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนที่มีผลต่อความสามารถในการ แข่งขัน และความสามารถในการสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศ สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

โดยประกอบด้วยปัจจัยหลัก 4 ด้าน ได้แก่

1) สมรรถนะทางเศรษฐกิจ

2) ประสิทธิภาพภาครัฐ

3) ประสิทธิภาพภาคธุรกิจ

และ 4) โครงสร้างพื้นฐาน

 

2. “ดัชนี GCI” หรือ Global Competitiveness Index (GCI) ที่จัดทำโดย World Economic Forum (WEF) หรือ "สภาเศรษฐกิจโลก" โดยพิจารณาจากประเด็นต่าง ๆ ที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขัน แบ่งออกเป็น 4 องค์ประกอบ ได้แก่

1) องค์ประกอบด้านสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริม ความสามารถในการแข่งขัน

 2) ด้านทุนมนุษย์

 3) ด้านตลาด

 และ 4) ด้านสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริม นวัตกรรม และแบ่งย่อยเป็น 12 เสาหลัก

ตามทรรศนะของ WEF ความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศไม่ใช่เกมที่ต้องมีการแพ้-ชนะ (zero-sum game) แต่ประเทศต่าง ๆ สามารถพัฒนาความสามารถในการแข่งขันไปพร้อม ๆ กันได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีประเทศใดสูญเสียความสามารถ ในการแข่งขัน

 ดัชนี GCI 4.0 มีค่าตั้งแต่ 0 ถึง 100 ค่าดัชนี 100 สะท้อนถึง frontier หรือจุดสูงสุดของตัวชี้วัดเปรียบเหมือนเป้าหมายของนโยบายว่าอยู่ห่างไกลจาก frontier มากน้อยเพียงใด เป็นเป้าหมายของการพัฒนาและเพิ่มค่าดัชนีในแต่ละด้านให้ได้มากที่สุด

และ 3.ดัชนี Ease of Doing Business (EoDB) หรือดัชนีความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ

ที่จัดทำโดย ธนาคารโลก (World Bank) เป็นการประเมินขั้นตอนในการทำธุรกิจแบบครบทั้งวงจร

ตั้งแต่การเริ่มขอจัดตั้งธุรกิจจนถึงการเลิกธุรกิจ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจสำหรับ

นักลงทุนหรือนักธุรกิจต่างชาติในการลงทุนในประเทศต่าง ๆ

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2563 WEF ไม่ได้มีการประกาศผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน

เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะที่ World Bank อยู่ระหว่าง

การปรับปรุงกระบวนการจัดเก็บข้อมูลและการประเมินผลให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น