ปัญหาค่าไฟแพง ยังรอคนแก้ไข

ปัญหาค่าไฟแพง ยังรอคนแก้ไข

เมื่อค่าไฟฟ้ากลายเป็นปัญหาขึ้นมาในช่วงกำลังจะมีการเลือกตั้งพรรคการเมืองจึงต้องมีนโยบายแก้ปัญหาค่าไฟแพง ทำได้หรือทำไม่ได้ผู้รู้ต้องอธิบายให้ประชาชนทราบ

ค่าไฟแพงเป็นปัญหาให้ประชาชนไม่จบสิ้น แพงขึ้นแบบปกติไม่เป็นไรด้วยเข้าใจได้ว่า หน้าร้อนใช้ไฟมากโดยเฉพาะต้องเปิดแอร์ปรับอุณหภูมิให้ลดลง แต่ที่ประชาชนต้องโวยวายก็เพราะค่าไฟแพงผิดปกติ พึ่งพาใครไม่ได้ต้องโวยวายกันผ่านโซเชียลมีเดีย

จนสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะหน่วยงานคุ้มครองสิทธิผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต (คพข.) ทั้ง 13 เขตพื้นที่สำนักงาน กกพ. ประจำเขต ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองผู้ใช้พลังงาน เปิดช่องทางร้องเรียนให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ประสบปัญหาการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเรียกเก็บค่าไฟฟ้าที่ไม่ถูกต้อง หรือคิดค่าไฟฟ้าแพงเกินกว่าอัตราที่ กกพ. กำหนด

จะว่าไปโดยปกติ ช่วงฤดูร้อนเดือน มี.ค.-พ.ค. ปริมาณการใช้ไฟภาพรวมจะเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ยิ่งอากาศร้อนยิ่งต้องเปิดแอร์ เหมือนในเมืองหนาวมีปัญหาค่าไฟในฤดูหนาวเมื่อผู้คนต้องเปิดฮีตเตอร์สร้างความอบอุ่น ซึ่งโครงสร้างค่าไฟในประเทศไทยประกอบด้วยเชื้อเพลิง 50-60%, ต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า, ต้นทุนระบบส่งไฟฟ้า และต้นทุนขายปลีกและจำหน่าย

ขณะที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) แจงว่า จากโครงสร้างค่าไฟตั้งแต่ต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ไม่ได้มีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) แต่อย่างใด ประชาชนทั่วไปจ่ายเฉลี่ยหน่วยละ 4.72 บาทเท่ากับช่วงหน้าหนาว  

กลุ่มโรงงานภาคธุรกิจจ่ายที่หน่วยละ 5.33 บาท ซึ่งรัฐบาลก็มีมาตรการช่วยเหลือต่อเนื่อง และเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีมติล่าสุดปรับลดค่าเอฟทีและเรียกเก็บหน่วยละ 4.70 บาท เท่ากันทุกภาคส่วน

ส่วนเสียงเรียกร้องให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยสัญญารับซื้อไฟฟ้า​จากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน กฟผ.ยืนยัน ยินดีเปิดเผยข้อมูลแต่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สัญญาของ กฟผ.ด้วย การรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนของ กฟผ.เป็นไปตามนโยบายภาครัฐ ไม่มีการบวกกำไรเพิ่ม ค่าไฟที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ได้รับการเห็นชอบโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน 

ที่กล่าวมาทั้งหมดเรียกได้ว่า อากาศร้อนต้องใช้ไฟเพิ่ม พอใช้เจอบิลค่าไฟเข้าไปกลายเป็นหัวร้อนแทน พันกันเป็นงูกินหาง ผลสำรวจจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า อากาศร้อนทำให้ค่าใช้จ่ายของประชาชนพุ่งขึ้นใน 3 หมวด ได้แก่ ค่าไฟฟ้า ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ คาดว่า ในปี 2566 ค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือนใน 3 หมวดนี้จะอยู่ที่ 9,666 บาทต่อครัวเรือน ขยายตัวราว 9.0% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งนับว่ามากพอดู

เมื่อค่าไฟฟ้ากลายเป็นปัญหาขึ้นมาในช่วงกำลังจะมีการเลือกตั้งพรรคการเมืองจึงต้องมีนโยบายแก้ปัญหาค่าไฟแพง ทำได้หรือทำไม่ได้ผู้รู้ต้องอธิบายให้ประชาชนทราบ แต่อย่าเพิ่งตั้งป้อมว่าจะทำไม่ได้เสียทั้งหมด ในเมื่อคนเก่าแก้ปัญหาไม่ได้ก็ควรปล่อยให้ประชาชนเลือกคนใหม่ๆ เข้ามาทำงานให้บ้าง การเมืองในระบอบประชาธิปไตยก็เป็นเช่นนี้!