รู้จัก 5 ระดับ ‘ความแรงเงินเฟ้อ’ ที่โลกต้องระวัง!

รู้จัก 5 ระดับ ‘ความแรงเงินเฟ้อ’ ที่โลกต้องระวัง!

เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในยุคปัจจุบัน บั่นทอนกำลังซื้อของเราในชีวิตประจำวัน ไปรู้จัก 5 ระดับความแรงเงินเฟ้อ แต่ละระดับตัวเลขแตกต่างกันเพียงใด ส่งผลกระทบอะไรบ้าง และบรรดาธนาคารกลางจัดการเงินเฟ้อในแต่ละระดับอย่างไร

Key Points

  • “เงินเฟ้อ” มีความสำคัญในชีวิตประจำวัน เนื่องจากเป็นตัวชี้วัดราคาอาหาร สิ่งของอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน
  • การจัดการเงินเฟ้อของธนาคารกลางจะมีความท้าทายมากขึ้น ตามระดับของเงินเฟ้อ ยิ่งเงินเฟ้อสูง ก็ยิ่งมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยที่แรงขึ้น
  • โดยทั่วไป ธนาคารกลางทั่วโลกจะอนุโลมให้เกิดเงินเฟ้ออย่างอ่อน ไม่เกิน 2% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 
  • ปี 2561 เวเนซุเอลา เผชิญเงินเฟ้อทะลุ 1,300,000% โดยราคาสินค้าในประเทศเพิ่มขึ้น 2 เท่าโดยเฉลี่ยทุก ๆ 19 วัน

 

ระดับ “เงินเฟ้อ” ที่พุ่งสูงในหลายประเทศทั่วโลกขณะนี้ ถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก เพราะทำให้ราคาสินค้าและค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างมาก

ขณะเดียวกัน บรรดาธนาคารกลางแต่ละประเทศต่างเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อฉุดตัวเลขเงินเฟ้อในประเทศลง และยังไม่ชัดเจนว่า “ดอกเบี้ยขาขึ้น” จะยุติลงในเร็ววันนี้หรือไม่

เหตุที่ “เงินเฟ้อ” มีความสำคัญในชีวิตประจำวัน เนื่องจากเป็นตัวชี้วัดราคาอาหาร สิ่งของอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงค่าเช่าบ้าน ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการต่าง ๆ ว่าเพิ่มขึ้นเท่าใดเมื่อเวลาผ่านไป โดยค่าเฉลี่ยของการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า และบริการต่าง ๆ จะถูกเรียกว่า “อัตราเงินเฟ้อ”

 

รู้จัก 5 ระดับ ‘ความแรงเงินเฟ้อ’ ที่โลกต้องระวัง!

- หญิงชาวอเมริกันยืนเลือกซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งที่ลอสแองเจลิส ขณะที่ผลกระทบจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ ทำให้ราคาสินค้าต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้น (เครดิต: Reuters) -

 

ขณะเดียวกัน เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น หรือเรียกเป็นภาษาทั่วไปคือ “ข้าวของแพงขึ้น” ก็จะทำให้มูลค่าเงินในกระเป๋าเราลดน้อยลง เปรียบเหมือนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เงิน 25 บาท ซื้อข้าวราดแกงได้ 1 จาน แต่ในปัจจุบัน สำหรับหลายร้านค้า เงิน 25 บาทนี้ซื้อไม่ได้อีกต่อไป ต้องเพิ่มเงินอีก 25 บาท เป็น 50 บาทถึงจะซื้อได้

ด้วยเหตุนี้ หากอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าระดับมาตรฐานหรือเกินกว่า 2% ธนาคารกลางในแต่ละประเทศก็อาจใช้วิธีขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อชะลอความต้องการซื้อสินค้าของผู้คน ผู้ขายก็จะลดราคาสินค้าลงโดยอัตโนมัติ เงินเฟ้อที่เกิดจากความต้องการนี้ก็จะลดลง

 

รู้จัก 5 ระดับ ‘ความแรงเงินเฟ้อ’ ที่โลกต้องระวัง!

- ลูกค้าชาวอเมริกันเดินเลือกสินค้าในห้างวอลมาร์ทสาขาหนึ่งในสหรัฐ (เครดิต: AFP) -

 

การจัดการเงินเฟ้อจะมีความท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามระดับของเงินเฟ้อ เพราะนั่นหมายถึงการต้องใช้ยาแรง หรือขึ้นดอกเบี้ยแบบเข้มข้นกว่าเดิม

ผลที่ตามมาคือ ความเสี่ยงการเกิดเศรษฐกิจถดถอย และปัญหาสภาพคล่องธนาคารในปัจจุบัน

ดังนั้น จึงน่าสนใจว่าเงินเฟ้อในแต่ละระดับเป็นอย่างไร และเมื่อถึงระดับนั้น ธนาคารกลางมีมุมมองอย่างไรบ้างในการเข้าจัดการ

 

  • 5 ระดับความรุนแรงของเงินเฟ้อ

ระดับที่ 1 เงินเฟ้อแบบคืบคลาน Creeping Inflation (1-4%)

มีอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 1-4% ต่อปี ถือเป็น “เงินเฟ้ออย่างอ่อน (Mild Inflation)” ที่ค่อย ๆ คืบคลานช้า ๆ ในระยะเวลายาว

โดยทั่วไปธนาคารกลางทั่วโลกจะอนุโลมให้เกิดเงินเฟ้ออย่างอ่อน ไม่เกิน 2% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะถ้าเผชิญเงินเฟ้อติดลบ หรือเป็นศูนย์เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในญี่ปุ่น จะทำให้เศรษฐกิจซบเซา ผู้ประกอบการไม่ค่อยมีแรงจูงใจในการขายสินค้าและลงทุนเพิ่ม

ในขณะเดียวกัน หากเงินเฟ้อเกินระดับ 2% ก็จะสามารถบั่นทอนกำลังซื้อของผู้คนไปเรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกลางทั่วโลก จึงกำหนดมาตรฐานเงินเฟ้อให้อยู่ที่ 2%

ระดับที่ 2 เงินเฟ้อแบบเดิน Walking Inflation (4-10%)

จากเงินเฟ้อที่ค่อย ๆ คืบคลาน ก็เปลี่ยนอิริยาบถเป็นการเดินแทน มีอัตราเงินเฟ้อที่มากกว่า 4% แต่ไม่เกิน 10% ถือเป็น “เงินเฟ้ออย่างกลาง” (Moderate Inflation)

เงินเฟ้อระดับนี้ มีผลกระทบต่อกำลังซื้อผู้ยากไร้ และชนชั้นกลาง รวมไปถึงค่าจ้างมักจะปรับขึ้นไม่ทันกันกับเงินเฟ้อนี้

โดยเงินเฟ้อระดับนี้พบเห็นมากที่สุดในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อสหรัฐ อยู่ที่ 6% เงินเฟ้อเยอรมนี 8.7% เงินเฟ้ออิตาลี 9.1%

ดังนั้น ธนาคารกลางจะค่อนข้างกังวลและออกมาตรการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ กดเงินเฟ้อไม่ให้ไปสู่ขั้นที่สูงกว่านี้ได้

ระดับที่ 3 เงินเฟ้อแบบวิ่ง Running Inflation (10-20%)

เงินเฟ้อแบบวิ่งจะมีระดับอัตราเงินเฟ้อระหว่าง 10-20% ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างท้าทายต่อการควบคุม มีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจอย่างมากและทำให้มูลค่าเงินที่ถือครองปรับตัวลดลง
ธนาคารกลางอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการดอกเบี้ยที่เข้มข้นขึ้นในการเข้าควบคุม แต่ก็เพิ่มความเสี่ยงบอบช้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้นตามไปด้วย

ระดับที่ 4 เงินเฟ้อแบบควบม้า Galloping Inflation (20%-1,000%)

เงินเฟ้อนี้สูงกว่า 20% ไปจนถึง 1,000% ราคาสิ่งของและค่าสาธารณูปโภคปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ถือเป็นปัญหาใหญ่และท้าทายอย่างมากในการจัดการเงินเฟ้อระดับนี้

ระดับที่ 5 เงินเฟ้อขั้นรุนแรง Hyperinflation (1,000% ขึ้นไป)

เงินเฟ้อระดับสูงกว่า 1,000% มักเกิดขึ้นในประเทศที่ผ่านสงคราม หรือรัฐบาลต้องพิมพ์ธนบัตรจำนวนมากเพื่อชดใช้ค่าปฏิกรรมสงคราม (ค่าชดเชยความเสียหายจากสงคราม) ส่งผลให้ธนบัตรเฟ้ออย่างรุนแรง คล้ายเศษกระดาษ

กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ในปี 2466 ที่เยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 และต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่กลุ่มประเทศสัมพันธมิตร เป็นมูลค่าสูงถึง 33,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อรัฐบาลมีเงินไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องพิมพ์ธนบัตรออกมาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ค่าเงินเยอรมัน อ่อนค่าลงเหลือ 4.2 ล้านล้านมาร์คต่อ 1 ดอลลาร์ จาก 4 มาร์คต่อ 1 ดอลลาร์ช่วงก่อนสงคราม

เมื่อปี 2561 เวเนซุเอลาเผชิญอัตราเงินเฟ้อสูงทะลุ 1,300,000% โดยราคาสินค้าในประเทศเพิ่มขึ้น 2 เท่าโดยเฉลี่ยทุก ๆ 19 วัน ธนบัตรมีไว้ใช้แทนทิชชูในห้องน้ำ ผู้คนใช้วิธีแลกเปลี่ยนสิ่งของระหว่างกัน แทนตัวกลางอย่างเงิน

เมื่อมองภาพปัจจุบัน ความบอบช้ำทางเศรษฐกิจจากผลการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา รวมไปถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ธนาคารกลางทั่วโลกจึงกำลังเผชิญความท้าทายใหญ่ในการจัดการเงินเฟ้อ พร้อมกับพยุงเศรษฐกิจที่บอบช้ำนี้ไม่ให้ล้มด้วย

 

รู้จัก 5 ระดับ ‘ความแรงเงินเฟ้อ’ ที่โลกต้องระวัง!

- ลูกจ้างชาวเวเนซุเอลา รวมตัวประท้วงในกรุงการากัส บางคนใช้ธนบัตรโบลิวาร์ที่ปัจจุบันเปรียบเหมือนเศษกระดาษปกคลุมทั้งตัว เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงสอดคล้องกับเงินเฟ้อสูงในประเทศ (เครดิต: AFP) -

 

รู้จัก 5 ระดับ ‘ความแรงเงินเฟ้อ’ ที่โลกต้องระวัง!

- สรุประดับความรุนแรงเงินเฟ้อ 5 ขั้น (กราฟิก: วิชัย นาคสุวรรณ) -

 

ขณะเดียวกัน การปราบเงินเฟ้อ ยังคงเป็น “ภารกิจสำคัญของธนาคารกลางทั่วโลก” เพื่อรักษามูลค่าเงิน และกำลังซื้อของผู้คนให้ได้มากที่สุด

อ้างอิง: economicshelp spurlock profmex