จับตาการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจริงในปีนี้  

จับตาการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจริงในปีนี้  

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นภาษีที่มีจุดประสงค์เพื่อทดแทนการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ที่ อบต.เป็นผู้จัดเก็บในอดีต เนื่องจาก พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 เป็นกฎหมายเก่าที่ใช้มานานและไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน

พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 จึงออกแบบมาเพื่อการเก็บภาษีจากมูลค่าปัจจุบันของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยเก็บในลักษณะของอัตราก้าวหน้า ซึ่งหวังว่าจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำจากการมีช่องว่างระหว่างผู้ที่มีทรัพย์สินมากและผู้ที่มีทรัพย์สินน้อยได้ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อนำเงินมาพัฒนาพื้นที่

เดิมทีแล้วภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเริ่มบังคับเก็บตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2563 เป็นต้นไป แต่หลังจากปี พ.ศ.2563 ได้เกิดเหตุการณ์โควิด-19 คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 90 ทำให้ภาษีที่ดินไม่ได้ถูกเก็บในอัตราปกติ

ทว่าในปี พ.ศ.2566 นี้การลดหย่อนฯได้ครบกำหนดเรียบร้อยแล้ว ล่าสุดได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566

โดยระบุให้มีการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 15 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ ในปีภาษี 2566  จึงกล่าวได้ว่าผลกระทบจากการเก็บภาษีจะเกิดขึ้นจริงหลังจากนี้เป็นต้นไป

หากพิจารณาดูแล้วจะพบว่าผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหลักๆ คือกลุ่มผู้ที่ถือครองที่ดินขนาดใหญ่และมีที่ดินจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ที่มีมูลค่ามากกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป โดยอ้างอิงจากอัตราภาษีที่เรียกเก็บตามสถานะและมูลค่าสินทรัพย์

อย่างไรก็ตาม ในแง่มุมของภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยเองก็เริ่มมีแนวโน้มที่แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น นอกเหนือไปจากภาระที่เกิดจากการเก็บภาษี โดยเฉพาะเรื่องของการกระจายที่ดินในประเทศไทย 

ช่วงที่ผ่านมา มูลค่าการซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เพิ่มขึ้นในทุกไตรมาสและในทุกภูมิภาคของไทย อีกทั้งยังมีการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินทั่วประเทศที่ขยายตัวขึ้นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่าน

จับตาการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจริงในปีนี้  

ตามการให้ข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์  ซึ่งมูลค่าการซื้อขายที่ดินที่เพิ่มขึ้น และการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินที่มากขึ้น อาจเป็นหนึ่งในดัชนีที่สะท้อนให้เห็นถึงการกระจายการถือครองที่ดินจากรายใหญ่สู่รายย่อยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายของนโยบาย

อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ของนโยบายนี้อาจไม่ได้มีแนวโน้มที่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบันยังคงมีการกระทำที่แอบแฝงการหลีกเลี่ยงภาษีที่ดินให้ได้พบเห็นเสมอ

เช่น บ่อยครั้งที่เห็นการปลูกกล้วยบนที่ดินขนาดใหญ่และที่ดินกลางกรุงที่ดูจะไม่คุ้มค่ากับราคาของที่ดิน หรือแม้กระทั่งการปลูกหญ้าเลี้ยงวัวในที่ดินใกล้สถานีรถไฟฟ้ากลางเมือง

แม้ว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นไปตามเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีในกรณีที่ดินเกษตรกรรม แต่เราต่างก็ตระหนักได้ดีว่าการกระทำเหล่านี้ดูเข้าข่ายเลี่ยงบาลีและดูไม่เหมาะสม 

ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีการวางกลไกการตรวจสอบผ่านหน่วยงานส่วนท้องที่ที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ การเก็บภาษีที่ดินยังต้องพึ่งพาฐานข้อมูลจำนวนที่ดิน ซึ่งเป็นความท้าทายต่อหน่วยงานส่วนท้องถิ่น

เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่เชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ ทำให้อาจมีข้อมูลการถือครองบัญชีทรัพย์สินไม่ตรงตามความจริง ซึ่งทำให้จำเป็นต้องมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ  ในขณะที่เจ้าหน้าที่ซึ่งทำหน้าที่ในการตรวจสอบอาจมีจำนวนไม่เพียงพอ

ดังนั้น การจะดำเนินนโยบายภาษีที่ดินให้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ จึงจำเป็นจะต้องมีฐานข้อมูลที่เชื่อมต่อ โปร่งใส มีประสิทธิภาพดีพอ รวมถึงมีการจัดสรรทรัพยากรได้สอดคล้องกับปริมาณงาน รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม และการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ซึ่งต้องได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เชี่ยวชาญ

นอกจากนี้ ในเชิงนโยบายอาจจะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น โดยการกำหนดเงื่อนไขในมิติเรื่องของมูลค่าสินทรัพย์ และประโยชน์จากการใช้งานที่แท้จริงหรือที่ควรจะเป็น

เช่น อัตราการเก็บภาษีของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน (ปล่อยเช่า) ไม่ควรเก็บในอัตราเดียวกับภาษีที่ดินเนื่องจากเกิดประโยชน์ต่อการอยู่อาศัยของคนอื่น เป็นต้น

ภาษีที่ดินและและสิ่งปลูกสร้างจะเห็นเป็นรูปธรรมในปีนี้ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งให้ความรู้แก่ประชาชน รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องดำเนินการเก็บภาษีตามเจตนารมณ์ตามกฎหมาย

โดยกรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์ตามสมควรแก่สภาพก็จำเป็นต้องเก็บภาษี แม้จะมีการปลูกกล้วยปลูกมะนาว หากมีเจตนาเข้าข่ายหลีกเลี่ยงภาษี กฎหมายก็เปิดช่องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บภาษีที่ดินได้

ปีนี้ประชาชนจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ประเทศไทยหลังภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีการเก็บภาษีได้จริงเพียงใด และมีผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สินได้ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ต่อไป.

จับตาการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจริงในปีนี้