ส่องขุมทรัพย์ ‘แร่หายาก’ ที่ธุรกิจ ‘ชิป’ และ ‘EV’ ขาดไม่ได้

ส่องขุมทรัพย์ ‘แร่หายาก’ ที่ธุรกิจ ‘ชิป’ และ ‘EV’ ขาดไม่ได้

“แร่หายาก” (Rare Earth) กลายเป็นทรัพยากรที่ได้รับความต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางยอดใช้งานที่เพิ่มขึ้นของชิปในรถ EV ไปจนถึงอาวุธสงคราม จึงน่าสนใจว่า แร่หายากในปัจจุบันมีกี่ชนิด และสำคัญต่อชีวิตประจำวันพวกเราอย่างไรบ้าง

Key Points

  • แร่หายาก ประกอบด้วยแร่ 17 ชนิด รวมถึง ซีเรียมที่มีมากกว่าทอง 15,000 เท่า แต่กลับถูกขุดนำมาใช้ยากกว่าทอง
  • จีน ครองสัดส่วนผลิตแร่หายากมากที่สุดของโลก คิดเป็น 70%
  • ราว 80% ของแร่หายากที่สหรัฐนำเข้า มาจากจีน และเป็นสินค้าพิเศษที่ไม่ถูกขึ้นกำแพงภาษี

 

ในปัจจุบัน ชีวิตประจำวันมนุษย์กำลังเปลี่ยนไปทางดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดตามข่าวสารทางออนไลน์แทนหน้าหนังสือพิมพ์ การชำระเงินผ่านการสแกนแทนเงินสด หรือแม้แต่การออกแบบบ้าน วาดรูปก็ใช้ระบบดิจิทัลจากคอมเข้ามาช่วย สิ่งเหล่านี้นำมาสู่ความต้องการชิปที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ 

ในการผลิตชิป วัตถุดิบสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ “แร่หายาก” หรือ “Rare Earth” นั่นเอง

นอกจากเป็นวัตถุดิบผลิตชิปแล้ว แร่หายากยังถูกใช้ทำแม่เหล็กแบบถาวร (Permanent Magnet) ซึ่งเป็นส่วนประกอบในมอเตอร์ของรถยนต์ไฟฟ้า มอเตอร์ในกังหันลม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ฮาร์ดไดรฟ์ ลำโพง หูฟัง คอมพิวเตอร์ อากาศยาน จอพลาสมา เลเซอร์ เซ็นเซอร์ หุ่นยนต์ ดาวเทียมไปจนถึงยุทโธปกรณ์ทางทหารอย่างเรดาร์ ขีปนาวุธ เครื่องบินรบ ฯลฯ ตัวอย่างเช่น

- เครื่องบินขับไล่สหรัฐ F35 ต้องใช้แร่หายากมากถึง 417 กิโลกรัม

- เรือพิฆาตสหรัฐชั้น Arleigh Burke (Arleigh Burke-class destroyer) ใช้แร่หายากมากกว่า 2 ตัน

- เรือดำน้ำสหรัฐ ชั้น Virginia ( US Virginia-class submarine) ใช้แร่หายากราว 4 ตัน

ดังนั้น จากความสำคัญแร่หายากเหล่านี้ ยิ่งสังคมเปลี่ยนเป็นดิจิทัล และหันมาใช้พลังงานสะอาดจากกังหันลม รถยนต์ไฟฟ้า (EV) มากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งทำให้ความต้องการแร่หายากพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย

 

ส่องขุมทรัพย์ ‘แร่หายาก’ ที่ธุรกิจ ‘ชิป’ และ ‘EV’ ขาดไม่ได้

- แร่หายาก (เครดิต: USGS) -

 

  • แร่หายากมีอะไรบ้าง และทำไมถึงหายาก

แร่หายาก ประกอบด้วยแร่ 17 ชนิด ได้แก่ สแกนเดียม (Sc) อิตเทรียม (Y) และกลุ่มธาตุแลนทาไนด์อีก 15 ตัว ได้แก่ แลนทานัม (La) ซีเรียม (Ce) เพรซีโอดิเมียม (Pr) นีโอดิเมียม (Nd) โพรมีเทียม (Pm) ซาแมเรียม (Sm) ยูโรเพียม (Eu) แกโดลิเนียม (Gd) เทอร์เบียม (Tb) ดิสโพรเซียม (Dy) โฮลเมียม (Ho) เออร์เบียม (Er) ทูเลียม (Tm) อิตเทอร์เบียม (Yb) และลูทีเชียม (Lu)

ส่องขุมทรัพย์ ‘แร่หายาก’ ที่ธุรกิจ ‘ชิป’ และ ‘EV’ ขาดไม่ได้

- ตารางธาตุแร่หายาก (เครดิต: Rare Element Resources) -

 

จริง ๆ แล้ว แร่หายากอย่างทูเลียม มีจำนวนมากกว่าทองคำในเปลือกโลก 125 เท่า และซีเรียมมีมากกว่าทอง 15,000 เท่า แต่ที่ได้ชื่อว่าหายาก เพราะในขณะที่ทองคำ “อยู่เป็นกลุ่มก้อน” แหล่งพบจะอุดมไปด้วยทองคำ แต่แร่หายากกลับ “อยู่กระจัดกระจายอย่างละเล็กน้อยทั่วโลก”  แหล่งพบต้องใช้กำลังอย่างมากในการแยกแร่นี้ออกจากสิ่งเจือปนอื่น ๆ และขุดได้ปริมาณน้อย

จึงทำให้แร่เหล่านี้หายากและมีราคาแพง จากข้อมูลบนเว็บไซต์บริษัท TRADIUM Gmbh ซื้อขายแร่หายาก ระบุว่า นีโอดิเมียมมีราคา 174.8 ดอลลาร์หรือราว 6,000 บาท/กก. ดิสโพรเซียม ราคา 543.70 ดอลลาร์หรือราว 18,500 บาท/กก. เทอร์เบียม ราคา 3,110.80 ดอลลาร์หรือราว 1 แสนบาท/กก.

ส่องขุมทรัพย์ ‘แร่หายาก’ ที่ธุรกิจ ‘ชิป’ และ ‘EV’ ขาดไม่ได้

- เหมืองแร่หายากที่ภูเขาเมาน์เทนพาสในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ (เครดิต: Reuters) -

ยิ่งไปกว่านั้น การสกัดแร่หายาก ยังก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม และปล่อยสารกัมมันตรังสีออกมา หลายประเทศจึงเลือกที่จะนำเข้าแร่หายากนี้จากประเทศอื่นแทน ซึ่งประเทศที่ครองส่วนแบ่งการผลิตแร่หายากและพบแหล่งแร่นี้มากที่สุดในโลก ก็คือ “จีน”

 

  • ประเทศใดผลิตแร่หายากสูงที่สุดในโลก

ตามข้อมูลสถาบันสถิติ Statista ปี 2565 ประเทศที่ครองส่วนแบ่งผลิตแร่หายากมากที่สุดของโลก คือ

อันดับ 1 จีน คิดเป็น 70% ผลิตได้ 210,000 ตัน/ปี

อันดับ 2 สหรัฐ คิดเป็น 14.33% ผลิตได้ 43,000 ตัน/ปี

อันดับ 3 ออสเตรเลีย คิดเป็น 6% ผลิตได้ 18,000 ตัน/ปี

อันดับ 4 เมียนมา คิดเป็น 4% ผลิตได้ 12,000 ตัน/ปี

อันดับ 5 ไทย คิดเป็น 2.37% ผลิตได้ 7,100 ตัน/ปี

 

ส่องขุมทรัพย์ ‘แร่หายาก’ ที่ธุรกิจ ‘ชิป’ และ ‘EV’ ขาดไม่ได้

- ส่วนแบ่งตลาดแร่หายาก (กราฟิก: ณัชชา พ่วงพี) -

 

เนื่องด้วยจีนครองส่วนแบ่งแร่หายากมากที่สุดในโลก จีนจึงใช้จุดแข็งนี้ในการต่อรองกับต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นในปี 2553 จากข้อพิพาทจีน-ญี่ปุ่นเหนือเกาะทะเลจีนตะวันออก

ฝั่งจีนนิยามเกาะพิพาทนี้ว่า “เตียวหยู”

ในขณะญี่ปุ่นนิยามเกาะดังกล่าวว่า “เซนกากุ” 

ความตึงเครียดปะทุขึ้นเมื่อเรือประมงจีนชนกับเรือลาดตระเวนของญี่ปุ่นบริเวณพิพาทดังกล่าว ทางการญี่ปุ่นจึงจับกุมกัปตันเรือประมงจีน รัฐบาลจีนจึงตอบโต้ด้วยการระงับส่งออกแร่หายากไปญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม หลังการเจรจากันในภายหลัง ทางการญี่ปุ่นจึงปล่อยตัวกัปตันเรือประมงจีน และรัฐบาลจีนยกเลิกคำสั่งระงับส่งออกแร่ดังกล่าว

นอกจากกรณีญี่ปุ่นแล้ว ข้อมูลล่าสุดในปีนี้ สหภาพยุโรป (อียู) พึ่งพาการนำเข้าแร่หายากจากจีนสูงถึง 98% โดยเมื่อปี 2565 อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า แร่หายากจะสำคัญกว่าน้ำมันและก๊าซในเร็ว ๆ นี้ และคาดว่า ความต้องการใช้แร่หายากของชาวยุโรปจะเพิ่มขึ้น 5 เท่าภายในปี 2573

สำหรับสหรัฐ สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐ (USGS) รายงานว่า ประมาณ 80% ของแร่หายากที่นำเข้านี้มาจากจีน และเป็นสินค้าพิเศษที่สหรัฐไม่ขึ้นกำแพงภาษี แร่ดังกล่าวถูกใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยุทโธปกรณ์ทางทหารจำนวนมากของสหรัฐอย่างเครื่องบินรบ ขีปนาวุธ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

 

ส่องขุมทรัพย์ ‘แร่หายาก’ ที่ธุรกิจ ‘ชิป’ และ ‘EV’ ขาดไม่ได้

- แร่หายาก (เครดิต: shutterstock ) -

 

  • ความท้าทายแร่หายากของจีน

ถึงแม้ว่าจีนจะครองส่วนแบ่งแร่นี้สูงที่สุดในโลก แต่ความท้าทายจีนกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่สหรัฐและพันธมิตรพยายามลดการพึ่งพาจีนด้วยการลงทุนขุดแร่หายากมากขึ้น

เมื่อปีที่แล้ว มีการค้นพบแร่หายากในสวีเดนโดยบริษัททำเหมือง LKAB จำนวนมากกว่า 1 ล้านตัน ทางตอนเหนือของประเทศที่เมืองคิรูนา ซึ่งการค้นพบดังกล่าวอาจจะทำให้ยุโรปลดการพึ่งพาจีนได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การค้นพบแร่หายากในสวีเดนไม่ได้หมายความว่าภายใน 1 ปีจะนำแร่ออกมาใช้ได้เลย โดย แจน โมสตรอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัททำเหมือง LKAB ให้ความเห็นว่า ระยะเวลาไปสู่การขุดแร่ออกมาใช้ได้นั้นใช้เวลา ผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์ถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม การปล่อยสารกัมมันตรังสี การขอใบอนุญาตสำรวจ การสำรวจแร่และลงมือขุด โดยทั้งหมดคาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 10-15 ปี

จากข้อมูลเหล่านี้จะเห็นได้ว่า แร่หายากถือเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ขาดไม่ได้ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พลังงานสะอาดไปจนถึงอุปกรณ์ทางทหาร และความต้องการแร่ดังกล่าวก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต

นอกจากนั้น การครองส่วนแบ่งแร่หายากส่วนใหญ่โดยจีน และการเมืองที่ไม่แน่นอน กำลังทำให้สหรัฐและพันธมิตรเพิ่มการลงทุนขุดแร่หายากมากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาจีน

อ้างอิง: statista reuters politico cnbc cnbc(2) europa baks theconversation impakter usgs investingnews strategicmetalsinvest