‘ก้าวไกล’ เปิดตัว 7 ทีมเศรษฐกิจ แจงแผนเพิ่มรายได้ประเทศ ชูสวัสดิการถ้วนหน้า

‘ก้าวไกล’ เปิดตัว 7 ทีมเศรษฐกิจ แจงแผนเพิ่มรายได้ประเทศ ชูสวัสดิการถ้วนหน้า

พรรคก้าวไกลเปิดตัว7ทีมเศรษฐกิจ ชูนโยบายสวัสดิการถ้วนหน้า ดูแลทุกช่วงวัยแทนนโยบายสวัสดิการแห่งรัฐ เผยที่มาแหล่งงบฯ 6.5 แสนล้าน ทั้งปรับลดวงเงินที่ไม่จำเป็น เพิ่มรายได้ เสนอแก้ปัญหาที่ดินเป็นนโยบายเร่งด่วน ปลดล็อกหนี้เกษตรสูงวัย ดันเพิ่มรายได้จากดาต้า-ครีเอทีฟ

การเลือกตั้งปี 2566 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค.เป็นการเลือกตั้งที่แข่งขันกันด้วยนโยบายเศรษฐกิจ และนโยบายการจัดสวัสดิการให้กับประชาชนซึ่งนอกจากมีนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่พรรคในฟากฝั่งรัฐบาลใช้ในการหาเสียงยังมีอีกแนวนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงคือการ จัดสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับประชาชน

ซึ่งหนึ่งในพรรคที่ชูนโยบาย "สวัสดิการถ้วนหน้า" คือ "พรรคก้าวไกล"

ในการนัดหมายสัมภาษณ์นโยบายเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกล ทีมข่าวได้รับการนัดหมายที่อาคารที่ทำการพรรคอนาคตใหม่ ตั้งอยู่ท้ายซอยรามคำแหง 42 เมื่อขึ้นลิฟต์ไปยังห้องประชุมของพรรคภายในลิฟต์จะเห็นบทความอมตะเรื่อง “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดา ถึงเชิงตะกอน” ของ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของไทย ที่ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก จากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ  (UNESCO) ติดอยู่ทำให้เราพอเข้าใจพื้นฐานความคิดของนโยบายสวัสดิการถ้วนหน้าของพรรคก้าวไกล

 พรรคก้าวไกลเข้าสู่สนามเลือกตั้งในปี 2566 ด้วยการตั้งเป้าหมายปักธงได้ ส.ส.ทุกภาคทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเป้าหมายเพิ่มเติมจากการเลือกตั้งปี 2562 ที่ฐานเสียงอยู่ในกรุงเทพฯและพื้นที่ในเมืองใหญ่ ในครั้งนี้มีการระดมบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ในหลายสาขาอาชีพมาทำนโยบายเศรษฐกิจ ทั้งที่เป็น ส.ส. นักธุรกิจ นักวิชาการ อดีตข้าราชการ เข้ามาคิดนโยบายเศรษฐกิจของพรรค

โดยมี 7 คนที่เป็นแกนหลักของการจัดทำนโยบายเศรษฐกิจเพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง ได้แก่ ศิริกัญญา ตันสกุล  รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ที่ก่อนเข้าสู่การเมืองมีประสบการณ์ทำงานด้านนโยบายสาธารณะอย่างยาวนาน ปัจจุบันเป็นมือทำงานสภาและอยู่ในกรรมาธิการงบประมาณอย่างต่อเนื่องหลายปีงบประมาณ 

‘ก้าวไกล’ เปิดตัว 7 ทีมเศรษฐกิจ แจงแผนเพิ่มรายได้ประเทศ ชูสวัสดิการถ้วนหน้า  

เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center สถาบันวิชาการนโยบายของพรรคก้าวไกล อดีตนักวิชาการ และอาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รองศาสตราจารย์จาก National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) มหาวิทยาลัยด้านสาธารณะ แห่งกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น  สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล กรรมการบริษัทเอกชนสินค้าไลฟ์สไตล์แบรนด์ไทย Moshi Moshi  วรภพ วิริยะวิโรจน์ อดีต ส.ส.พรรคก้าวไกล มืออภิปรายเรื่องต่อต้านนโยบายผูกขาด ไม่เป็นธรรม

อภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล ประธานคณะกรรมการสำนักการตลาด กรุงเทพฯ อดีตผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)  ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร อดีตรองผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กรมีส่วนผลักดันโครงการพัฒนาเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเงินและนักยุทธศาสตร์ด้านข้อมูล

"ศิริกัญญา" กล่าวว่าพรรคก้าวไกลมีเป้าหมายด้านเศรษฐกิจในการสร้างเศรษฐกิจไทยให้ “เติบโตแบบเป็นธรรม” คือมีทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีการกระจายดอกผลของการเติบโตอย่างอย่างเป็นธรรมด้วย หรือที่เรียกว่า “Inclusive Growth”โดยเป้าหมายของนโยบายมี 3 ส่วน คือวางรากฐานชีวิตคนไทยให้มั่นคง สร้างกติกาการแข่งขันที่เป็นธรรม และพาธุรกิจไทยไปบุกตลาดโลก

แก้ปัญหาบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วยสวัสดิการถ้วนหน้า 

โดยในส่วนของการสร้างความเป็นธรรมของสังคมพรรคเห็นถึงจุดอ่อนของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่จากข้อมูลยังมีคนที่ตกหล่นจากการสำรวจ หรือคนจนจริงๆที่ยังเข้าไม่สามารถเข้าถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกว่า 46% พรรคจึงเสนอนโยบายสวัสดิการถ้วนหน้าที่จะดูแลคนไทยทุกคนตั้งเริ่มตั้งแต่เกิดจนตาย  โดยไม่ต้องมีการพิสูจน์รายได้ของครัวเรือน

โดยสวัสดิการถ้วนหน้าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือคนในแต่ละช่วงวัยตั้งแต่เกิด ทำงาน สูงวัย จนถึงเสียชีวิต เช่น  การให้ของขวัญแรกเกิด 3,000 บาทซึ่งแม่เด็กสามารถเลือกได้เอง ส่วนสวัสดิการเด็กแรกเกิด ถึง 6 ขวบจะได้เงินจากภาครัฐ 1,200 บาทต่อเดือน ส่วนแม่ที่ลาคลอดได้ 6 เดือนจะได้เงินช่วยเหลือจากกองทุนประกันสังคม 5,000 ต่อเดือนโดยจะผลักดันให้แรงงานนอกระบบเข้าระบบประกันสังคม ส่วนใครที่ไม่สามรถจ่ายประกันสังคมได้รัฐก็จะเตรียมงบประมาณไว้ส่วนหนึ่งไว้สนับสนุนให้ทุกคนเข้าสู่ประกันสังคมแบบถ้วนหน้า ซึ่งส่วนนี้รัฐต้องใช้เงิน 3-4 หมื่นล้านบาท แต่ก็สามารถสร้างความคุ้มครองทางสังคมได้  

ส่วนเบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาทต่อเดือนเท่ากันแทนที่การให้แบบขั้นบันได ส่วนผู้สูงอายุที่เป็นคนป่วยติดเตียงจะได้เงินค่าดูแล 9,000 บาทต่อเดือน และรวมทั้งค่าทำศพถ้วนหน้า จัดสรรเงินช่วยเหลือค่าจัดการศพ 10,000 บาท จากระบบประกันสังคมแบบถ้วนหน้า ที่รัฐบาลจะร่วมสมทบให้กับประชาชนทุกคน

ส่วนวัยทำงานที่ต้องการมีบ้านแต่เป็นผู้มีรายได้น้อย รัฐช่วยค่าเช่าบ้าน 1,000 บาทต่อเดือน ส่วนผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท และต้องการซื้อบ้านในราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท รัฐบาลจะช่วยผ่อนบ้านให้ 2,500 บาทต่อเดือน ซึ่งในส่วนนี้รัฐต้องการให้เกิดการแข่งขันการสร้างที่อยู่อาศัยราคาไม่แพงแต่คุณภาพดีเพื่อผู้มีรายได้น้อย

 

เปิดที่มารายได้ 6.5 แสนล้านใช้ดูแลคนไทย 

อย่างไรก็ตามการจัดสวัสดิการถ้วนหน้าให้ประชาชนเข้าถึงได้นั้นต้องใช้งบประมาณที่สูง คือประมาณปีละ 6.5 แสนล้านบาท แต่พรรคก็มีแนวทางในการทำงบประมาณเพื่อตอบโจทย์นโยบายโดยไม่เป็นภาระทางการคลังโดยใช้ทั้งการปรับลดงบประมาณในส่วนที่ไม่จำเป็น เพิ่มการใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ และการหารายได้เข้าประเทศมากขึ้น โดยที่มาของวงเงิน 6.5 แสนล้านบาทจะมาจาก  1)ลดขนาด เพิ่มประสิทธิภาพกองทัพ และเรียกคืนธุรกิจกองทัพ  5 หมื่นล้านบาท 2)ลดงบกลางฯ 3 หมื่นล้านบาท 3)ปรับลดโครงการที่ไม่จำเป็น 1 แสนล้านบาท,

4)เงินปันผลที่รัฐจะได้จากรัฐวิสาหกิจเพิ่ม 1.3 หมื่นล้านบาท 5)เก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินโดยเก็บจากทรัพย์สินของคนที่มีทรัพย์สินเกิน 300 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะได้รายได้ 6 หมื่นล้านบาท 5)เก็บภาษีที่ดินรายแปลง รวมแปลง ซึ่งจะได้รายได้เพิ่มอีก 1.5 แสนล้านบาท 6)เก็บภาษีนิติบุคคลทุนใหญ่วงเงินรวม 9.2 หมื่นล้านบาท 7)ปฏิรูปสิทธิประโยชน์บีโอไอให้เป็นไปตามแนวทางเดียวกันกับ OECD คาดว่าได้เงินเข้ารัฐเพิ่มอีก 8,000 ล้านบาท

8) เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีภาครัฐตั้งเป้าเพิ่มรายได้เข้ารัฐอีก  1 แสนล้านบาท  และ 9)นโยบายหวยบนดินที่จะเพิ่มรายได้ให้กับรัฐประมาณ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี

“พรรคจะทำควบคู่ไปทั้งในเรื่องของการเพิ่มรายได้ ตัดลดรายจ่ายภาครัฐ และแก้กฎระเบียบที่ไม่ทันต่อยุคสมัยและเป็นอุปสรรคของภาคธุรกิจ ที่สำคัญคือต้องปฏิรูปภาครัฐเพื่อให้สามารถสนับสนุนให้ประเทศไทยแข่งขันได้ในยุคปัจจุบันเพราะทุกประเทศต้องการรัฐที่มีความสามารถมากขึ้น แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นรัฐที่ใหญ่ขึ้น”

 

‘ก้าวไกล’ เปิดตัว 7 ทีมเศรษฐกิจ แจงแผนเพิ่มรายได้ประเทศ ชูสวัสดิการถ้วนหน้า

สำหรับในส่วนของนโยบายภาคเกษตร เดชรัตกล่าวว่าปัญหาเกษตรกรเราจะต้องแก้อย่างน้อย 3 เรื่องให้ได้  คือ ที่ดิน หนี้สิน และแหล่ง ซึ่งเรื่องที่ดินนั้นเป็นปัญหาใหญ่เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เช่นมี สปก.แต่มีข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์มาก จึงขาดหลักประกันในชีวิต พรรคจึงเสนอนโยบายที่จะเปลี่ยนการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรของเกษตรกรให้เป็นโฉนด โดยเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะเสนอให้รัฐบาลใหม่เดินหน้าภายใน 100 วันหลังจากเปิดสภาฯไม่ว่าพรรคจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.เปลี่ยน สปก. เป็นโฉนดที่ดินภายใน 2 ปี โดยเฉพาะชื่อที่ตรงกับผู้ถือครองที่ดินและเกษตรกรรมจริง ส่วนกรณีที่รับโอนมาจากผู้อื่นจะต้องมีการพิสูจน์สิทธิ์ก่อนว่าเป็นผู้ใช้ประโยชน์จริงหรือไม่ โดยสิทธิ์นี้จะให้กับเกษตรกรที่ถือครองที่ดินไม่เกิน 50 ไร่และมีทรัพย์สินไม่เกิน 10 ล้านบาท

ในส่วนที่ดินที่ต้องมีการพิสูจน์สิทธิ์ว่าเป็นที่ดินของรัฐหรือชาวบ้าน ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องใช้ค่าใช้จ่ายและงบประมาณที่ภาครัฐจัดสรรมาให้ ปัจจุบันมีเกษตรกรมีปัญหานี้อยู่ประมาณ 1 ล้านครัวเรือน พรรคจึงเสนอตั้งกองทุนพิสูจน์สิทธิและรับรองที่ดิน 1 หมื่นล้านบาท และตั้งเป้าว่าจะแก้ปัญหาให้กับ 1 ล้านครอบครัวที่มีปัญหานี้ให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี

ส่วนหนี้สินของเกษตรกรซึ่งพบว่ามีเกษตรกรสูงอายุจำนวนมากที่เป็นหนี้ ความสามารถในการใช้หนี้ก็ลดลง โดยเกษตรกรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป หากมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ครึ่งหนึ่งรัฐจะช่วยสมทบจ่ายหนี้ให้อีกครึ่งหนึ่งแต่จะต้องมีการเจรจากับสถาบันการเงินให้ปรับโครงสร้างและลดหนี้ก่อน หากไม่มีความสามารถที่จะหาเงินมาชำแต่มีที่ดินรัฐก็จะเช่าที่ดินเกษตรกรเพื่อปลูกไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าสูง อย่างน้อย 20 ปี ซึ่งเกษตรกรจะได้รับการปลดหนี้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้าร่วมโครงการ

ส่วนกรณีที่ไม่มีเงิน และไม่มีที่ดิน รัฐจะเข้าไปลงทุนเรื่องพลังงานทดแทนโดยติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านชาวบ้าน เพื่อผลิตไฟฟ้าขายแล้วแบ่งรายได้ให้กับเกษตรกร ตั้งเป้าภายใน 5 ปี จะสามารถชำระหนี้ได้หมด ขณะที่รัฐบาลจะฝากโซลลาร์เซลล์ไว้ต่ออีกประมาณ 5-10 ปี ก็จะสามารถคืนทุนได้ โดยโครงการปลดหนี้ภาคเกษตรจะเริ่มในปีแรกโดยมีเป้าหมายคือเกษตรกรผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปเป็นกลุ่มแรก

สำหรับนโยบายเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับการดึงการลงทุน และสร้างรายได้ให้กับประเทศแนวนโยบายของพรรคก้าวไกลอยู่บน 3 ส่วนใหญ่ๆคือการสร้างซัพพายเชนในอุตสาหกรรมสำคัญ การใช้ดาต้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ให้เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย

‘ก้าวไกล’ เปิดตัว 7 ทีมเศรษฐกิจ แจงแผนเพิ่มรายได้ประเทศ ชูสวัสดิการถ้วนหน้า

"วีระยุทธ" กล่าวว่าโดยศักยภาพของประเทศไทย ยังมีความสามารถที่จะเติบโตในอุตสาหกรรมสำคัญของโลกอย่างอุตสากรรมไฮเทคได้ แต่ต้องผนวกอุตสาหกรรมของไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของซัพพายเชนโลก  ไม่เช่นนั้นเราจะตกขบวนการพัฒนาของอุตสาหกรรมเหมือนที่เคยตกขบวนสมาร์ทโฟนมูลค่ากว่า 5 แสนล้านดอลลาร์มาแล้ว

โดยอุตสาหกรรมที่รัฐบาลใหม่จะต้องส่งเสริมและดึงการลงทุนเข้ามาให้ได้คือเทคโนโลยีชิปต้นน้ำที่มีขนาดเล็กมากในระดับนาโนเมตรแต่ประสิทธิภาพสูง ซึ่งหากจะดึงการลงทุนในส่วนนี้ต้องพยายามทำนโยบายส่งเสริมการลงทุนให้เป็นเทเลอร์เมดตรงกับความต้องการของบริษัทที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีมากขึ้น

สำหรับเรื่องการแปลงข้อมูล (ดาต้า)ให้เป็นรายได้หรือขุมทรัพย์ใหม่ของประเทศ “ชัยวัฒน์” ระบุว่าต้องทำนโยบายในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงดาต้าจากที่ต่างๆมารวมกัน เช่น ข้อมูลธุรกรรมการเงิน เอกสารสิทธิ์การถือครองที่ดิน ประวัติการรักษาทางการแพทย์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

‘ก้าวไกล’ เปิดตัว 7 ทีมเศรษฐกิจ แจงแผนเพิ่มรายได้ประเทศ ชูสวัสดิการถ้วนหน้า

ซึ่งจะต้องมีการจัดตั้งองค์กรเฉพาะเพื่อดูแลข้อมูลดังกล่าวให้มีความปลอดภัย และแก้กฎหมายให้เอื้อต่อการเชื่อมโยงข้อมูลและนำข้อมูลมาสร้างเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆให้กับประชาชน

ในส่วนของการผลักดันเศรษฐกิจผ่านนโยบายซอฟต์พาวเวอร์และเศรษฐกิจสร้างสรรค์  “อภิสิทธ์”อธิบายว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของไทยมีมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท และมีแรงงาน 9 แสนคน แต่รัฐไม่สามารถสร้างเม็ดจากอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างเต็มที่

‘ก้าวไกล’ เปิดตัว 7 ทีมเศรษฐกิจ แจงแผนเพิ่มรายได้ประเทศ ชูสวัสดิการถ้วนหน้า

ดังนั้นพรรคก้าวไกลจึงเสนอให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเป็นแหล่งสร้างรายได้ของของรัฐ โดยเชื่อมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยเข้ากับอุตสาหกรรมโลก  โดยเพิ่มมาตรการสนับสนุนด้านภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุนของผู้ผลิตภาพยนตร์ ให้เงินสนับสนุนสำหรับกองถ่ายทำภาพยนตร์ที่มีเงินลงทุนตั้ง 300 ล้านบาทขึ้นไป เข้ามาใช้โลเกชั่นในประเทศไทยเพื่อถ่ายทำและโปรโมทประเทศ การสร้างสถานที่ท่องเที่ยวทางศิลปะ วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ทุกจังหวัด เป็นต้น

สุดท้ายคือในส่วนของนโยบายสำหรับเอสเอ็มอี “สิทธิพล” กล่าวว่าเอสเอ็มอีเป็นภาคส่วนที่มีการจ้างงานมากที่สุดในประเทศ แต่นโยบายรัฐบาลหลายยุคที่ผ่านมาไม่ได้แก้ปัญหาเอสเอ็มอีอย่างตรงจุด ซึ่งนโยบายที่พรรคก้าวไกลจะเสนอคือนโยบายระยะสั้น ทำได้ทันที ต่อชีวิตเอสเอ็มอีเร็วที่สุด ส่วนอีกระดับหนึ่งเราจะเสนอนโยบายแก้ไขเชิงโครงสร้าง

‘ก้าวไกล’ เปิดตัว 7 ทีมเศรษฐกิจ แจงแผนเพิ่มรายได้ประเทศ ชูสวัสดิการถ้วนหน้า

พรรคได้เสนอนโยบาย “6 ต” คือ

1.เติมแต้มต่อ คือสนับสนุนประชาชนซื้อสินค้าเอสเอ็มอี เช่น เมื่อประชาชนซื้อสินค้าจากเอสเอ็มอี ครบ 500 บาท ผ่านแอปพลิเคชันของรัฐสามารถแลกสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ 1 ใบ (จำกัดไม่เกิน 2 ใบต่อคน) ส่วนนิติบุคคลทั่วไปสามารถขอลดย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า

 2.เติมทุน ให้เอสเอ็มอี เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอีโดยรายใหม่ให้กู้ยืมเงินจากกอทุนทุนตั้งตัวสำหรับเอสเอ็มอีรายละ 1 แสนบาทโดยไม่ต้องใช้หลักประกัน ส่วนเอสเอ็มอี ที่ทำธุรกิจมาก่อนแล้วจะให้เข้าถึงสินเชื่อกู้ยืมเงินเรียกว่าทุนสร้างตัว รายละ 1 ล้านบาท จำนวน 2.5 หมื่นรายต่อปี  ซึ่งเป็นรัฐบาล 4 ปี สร้างผู้ประกอบการรายย่อยได้ประมาณ 1 ล้านราย 

3.เติมตลาด ออกกฎกำหนดให้ต้องมีสัดส่วนสินค้าเอสเอ็มอี ในชั้นวางของห้างค้าปลีก เพื่อให้สินค้าเอสเอ็มอี เข้าถึงตลาดได้มากขึ้น  ขณะเดียวกันผู้ที่ซื้อสินค้าเอสเอ็มอี สามารถยื่นขอลดย่อนภาษีได้

 4.ตั้งสภาเอสเอ็มอี ให้การรวมตัวของเอสเอ็มอี มีพลังต่อรองมากขึ้น พร้อม การยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและสร้างความยากลำบากในการทำธุรกิจของเอสเอ็มอี รวมทั้งการมีหลักประกันให้ใบอนุญาตต้องได้รับการพิจารณาภายใน 15 วัน

5. ตัดรายจ่าย เพื่อให้เอสเอ็มอีประหยัดต้นทุนมากขึ้น  เช่น ปรับภาษีนิติบุคคลที่มีรายได้ ต่ำกว่า 30 ล้านบาท เพื่อให้เอสเอ็มอีเสียภาษีน้อยลง พร้อมกับนโยบายค่าแรง 450 บาท โดยให้เอสเอ็มอี 

6.(แก้)ต้นตอที่เป็นปัญหาของเอสเอ็มอี การแข่งขันกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นธรรม  โดยการการยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและสร้างความยากลำบากในการทำธุรกิจของเอสเอ็มอีเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขัน