‘ม.บูรพา’ปั้นนักภูมิสารสนเทศ จัดการสิ่งแวดล้อม-ต่อยอดสตาร์ทอัพ

‘ม.บูรพา’ปั้นนักภูมิสารสนเทศ จัดการสิ่งแวดล้อม-ต่อยอดสตาร์ทอัพ

ม.บูรพา เดินหน้าสร้างนักภูมิสารสนเทศ หนุนการจัดการสิ่งแวดล้อม ต่อยอดสตาร์ทอัพ หนุนการวางแผนในอนาคต พร้อมเปิดหลักสูตรระยะสั้นพัฒนาบุคลากร

Key Points

  • EEC กำลังเป็นต้นแบบการพัฒนาเชิงพื้นที่แห่งแรกของประเทศไทย
  • ม.บูรพา เตรียมพัฒนานักภูมิสารสนเทศเพื่อช่วยขับเคลื่อนแผนพัฒนา EEC
  • จะนำเทคโนโลยีโลกเสมือนและ Digital Twin มาใช้จัดการสิ่งแวดล้อม
  • ต่อยอดเทคโนโลยี GIS พัฒนาเป็นซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์สำหรับสตาร์ทอัพ

การพัฒนาเมืองน่าอยู่นั้นหัวใจสำคัญคือการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งการจัดการดิน น้ำ และอากาศ โดยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (GIS) ถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่เข้ามาสนับสนุนการวางแผนเชิงพื้นที่ท่ามกลางการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การท่องเที่ยวและที่อยู่อาศัยให้เกิดการบูรณาการร่วมกันอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

กฤษนัยน์ เจริญจิตร คณบดีคณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ศาสตร์ของภูมิสารสนเทศเป็นการผสมระหว่างวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีการจัดการข้อมูล เพื่อใช้ในการวางแผนจัดการทรัพยากร น้ำ ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการประเมินผลกระทบจากภัยพิบัติ เพื่อการแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า และลดผลกระทบหรืออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งต่อบุคคลและทรัพย์สิน

สำหรับการใช้ประโยชน์ของ GIS แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ประกอบด้วย 

1.การจัดวางแผนการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม การใช้ประโยชน์พื้นที่ เช่น การทำเกษตรแม่นยำ และคาดการณ์ภัยพิบัติ อาทิ น้ำท่วม ดินถล่ม รวมทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อสร้างโลกเสมือนและ Digital Twin 

2.การวางผังเมืองแห่งอนาคต ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อสร้างแผนที่จำลองและ Digital Twin จากข้อมูลของเมือง ให้มีการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน สร้างเส้นทางโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพและการแก้ปัญหาความเป็นเมือง รวมถึงปัญหาPM2.5 

“กรณีตัวอย่างที่มีการนำเทคโนโลยี GIS มาใช้เพื่อลดการสร้างมลพิษ เครือข่ายร้านค้าขนาดใหญ่ในยุโรปที่ใช้ GIS เพื่อช่วยบริการจัดการบรรดารถบรรทุกกระจายสินค้า โดย GIS เข้ามามีส่วนในการวิเคราะห์เพื่อการวางแผนและการตัดสินใจอย่างชาญฉลาด ระบบสามารถช่วยคำนวณไอเสียที่ปล่อยออกมาสำหรับเครื่องยนต์ทุกประเภทบนการเดินทางในทุกสภาพถนน และอีกหนึ่งเคสในการใช้กำหนดทะเบียนรถยนต์ที่สามารถวิ่งบนท้องถนนตามวันคู่-วันคี่”

3.ปั้นสตาร์ตอัพ ต่อยอดจากเทคโนโลยี GIS พัฒนาเป็นซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ในการจัดการข้อมูลบิ๊กดาต้า อาทิ แอปพลิเคชั่นในการเข้าถึงข้อมูล การใช้เครื่องบินโดรน ต่อยอดไปสู่การสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพื่อลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างชาติ

“มหาวิทยาลัยมีการทำงานร่วมกับบริษัทสตาร์ตอัพในพื้นที่ รวมทั้งสนับสนุนให้งานวิจัยสามารถต่อยอดการพัฒนาไปสู่โมเดลธุรกิจจากการใช้เทคโนโลยี GIS  อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่อีอีซียังขาดกลไกที่สนับสนุนธุรกิจกลุ่มเอสเอ็มอีและอีโคซิสเต็มที่ให้โอกาสสตาร์ตอัพในการเข้าถึงลูกค้าและเกิดการจับคู่ทางธุรกิจ”

นอกจากนี้ คณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ ม.บูรพา ได้เปิดหลักสูตรอบรมระยะสั้น (Short Course Training) ซึ่งทำงานร่วมกับคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC HDC ในการพัฒนาหลักสูตรEEC Model Type B เพื่อยกระดับทักษะเทคโนโลยี GIS ให้กับบุคคลากรในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่อีอีซีทั้งหมด เพื่อการวางรากฐานของสมาร์ทซิตี้ นำร่อง 9 แห่ง อาทิ ทับมา เนินพระ มาบตาพุด บ้านฉาง โดยอีอีซีจะออกค่าใช้จ่ายให้ 50%

สำหรับประชาชนและคนในพื้นที่ยังสามารถใช้ประโยชน์จากการที่ อปท.ยกระดับการทำงานด้วยการใช้ GIS เช่น การติดตามภัยและเตรียมความพร้อมจากไฟป่าและหมอกควันหรือน้ำท่วม หรือแม้แต่การสนับสนุนข้อมูลภัยแล้งหรือสภาพอากาศสำหรับการเตรียมการ การติดตามการเพาะปลูกและดูแลพืชอย่างเหมาะสม

“การพัฒนาเมืองสมาร์ทซิตี้จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี GIS ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งในการติดตามและสำรวจปัญหา ซึ่งในอนาคตอีอีซีต้องการแรงงานทักษะดิจิทัลกว่า 2 แสนคน โดยมีความต้องการนักภูมิสารสนเทศศาสตร์คิดเป็นกว่า 60% ในนั้น ซึ่งเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศก็จะยังคงเป็นเทคโนโลยีหลักที่สนับสนุนในทุกมิติ ตั้งแต่สร้างความเข้าใจปัญหาจนนำไปสู่การตัดสินใจแก้ปัญหาที่ถูกจุด” ภูมิสารสนเทศ

ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ดำเนินการพัฒนาบุคลากรแบ่งเป็น 2 แนวทาง คือ 

1.EEC Model Type A เป็นหลักสูตรที่ได้รับปริญญา (Degree) หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช./ปวส.) โดยร่วมมือกับผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาหลักสูตรและทักษะบุคคลากร โดยให้เรียนฟรี มีงานทำและมีรายได้สูง

ทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม โดยเป็นการพัฒนาบุคลากรให้กับอุตสาหกรรมในระยะยาว รวมทั้งสถาบันการศึกษาจะจับคู่ภาคเอกชน ซึ่งจะร่วมออกแบบหลักสูตรให้ตอบโจทย์การทำงาน และการเรียนรู้ เรียนทั้งในห้องเรียนและในสถานประกอบการ

นอกจากนี้ สถาบันการศึกษาร่วมกับสถานประกอบการคัดเลือกผู้เรียน รวมทั้งสถานประกอบการรับนักศึกษาเข้าฝึกงาน และรับประกันการจ้างงานเมื่อจบ ด้วยอัตราเงินเดือนที่สูงกว่าอัตราเงินเดือนมาตรฐานของผู้จบการศึกษาใหม่ และผู้ประกอบการสนับสนุนค่าใช้จ่าย และนำไปลดหย่อนภาษีจากรัฐตามเกณฑ์

2.EC Model Type B เป็นหลักสูตรระยะสั้น ไม่มีปริญญา (Non-Degree) โดยจะฝึกอบรมระยะสั้น Re-skill และ Up-skill เพื่อให้บุคลากรก้าวทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่ โดยมีเป้าหมายพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรมรองรับเทคโนโลยีใหม่

ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาจะจับคู่ภาคเอกชนออกแบบหลักสูตร โดยสถานประกอบการรับรอง และเสนอหลักสูตรเพื่อขอการรับรองจากคณะทำงานพิจารณารับรองหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง

รวมทั้งสถานประกอบการการันตีจ้างงานอย่างน้อย 1 ปี สำหรับผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม โดยรัฐและเอกชนร่วมจ่ายสัดส่วน50:50 ซึ่งเอกชนสามารถหักค่าใช้จ่าย 250%สถาบันการศึกษา ลดงบประมาณ 50%