ส.อ.ท.เกาะติดสถานการณ์สหรัฐปิด 3 แบงก์

ส.อ.ท.เกาะติดสถานการณ์สหรัฐปิด 3 แบงก์

ส.อ.ท.จับตาสหรัฐปิดธนาคารแล้ว 3 แห่ง มั่นระบบสถาบันการเงินของไทยมีความเข้มแข็ง ห่วงทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

เศรษฐกิจสหรัฐ ถูกจับตามองอีกครั้งหลังจากที่ธนาคารซิลเวอร์เกท และธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley Bank: SVB) ต้องปิดตัวลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา และล่าสุดมีการประกาศปิดธนาคารซิกเนเจอร์ รวมเป็น 3 แห่งในขณะนี้

สำหรับธนาคารซิลเวอร์เกท เน้นให้บริการด้านคริปโทเคอร์เรนซี และ SVB เน้นการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยหลายฝ่ายจับตามองการปิดตัวดังกล่าว รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐและการแห่ถอนเงิน

 

เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2566 กระทรวงปกป้องการเงินและนวัตกรรมแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ประกาศปิดกิจการSVB พร้อมกับมอบหมายให้บรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) เป็นผู้ดูแลเงินฝากของ SVB

ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ธ.ค.2565 ระบุว่า SVB มีสินทรัพย์ทั้งหมดราว 2.09 แสนล้านดอลลาร์ และมีเงินฝาก 1.754 แสนล้านดอลลาร์
 

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลกระทบจากการล้มละลายของ SVB ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด สำหรับสถานการณ์ของสถาบันการเงินไทยมีความเชื่อมั่นว่ายังคงแข็งแกร่งสะท้อนจากผลกำไรที่ดีในปีที่ผ่านมารวมทั้งบทเรียนจากวิกฤติต้มยำกุ้งทำให้มีการวางแผนอย่างรัดกุมและระมัดระวังในการบริหารงาน 

ขณะที่ สิ่งที่น่ากังวลวำหรับภาคอุตสาหกรรม คือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งส่งสัญญาณว่าจะขยับดอกเบี้ยขั้นสุดท้ายที่อาจไปแตะระดับ 5.25-5.50% ซึ่งจะมีผลทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเกิดใหม่ที่คิดเป็น 1 ใน 3 ของโลก 

รวมไปถึงภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงิน ตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 จนถึง ม.ค.2566 ที่มีมูลค่าการส่งออกติดลบต่อเนื่อง ทำให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน3สถาบัน (กกร.) มีการปรับลดคาดการณ์การส่งออกปี 2566 จากเดิมขยายตัวที่กรอบ 1-2% เป็น 0 ถึง -1% จากปีก่อน โดยคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยครึ่งปีแรกจึงมีแนวโน้มผันผวนในลักษณะขาลงไปตามสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก