Altasia (อัลเทเชีย) ทางออกของภาคการผลิตและโอกาสเศรษฐกิจไทย

Altasia (อัลเทเชีย) ทางออกของภาคการผลิตและโอกาสเศรษฐกิจไทย

หากพิจารณาปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการผลิตโลกในทศวรรษที่ผ่านมา หนึ่งในปัจจัยหลักเห็นจะเป็นจีน ที่เผชิญปัจจัยเสี่ยงนานัปการ ทั้งสงครามเย็น วิกฤต Covid-19 และทั้งนโยบายรัฐบาล

สงครามเย็นที่ทำให้สินค้าที่ส่งออกจากจีนถูกตั้งกำแพงภาษี วิกฤต Covid-19 ที่ทำให้ภาคการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) มีปัญหา และนโยบายรัฐบาลที่เข้มงวดขึ้นผ่านแนวคิด Common prosperity

(ที่เน้นการเจริญเติบโตอย่างเท่าเทียม และจำกัดธุรกิจที่เติบโตเร็วเกินไปอย่างภาคอสังหาฯ และภาคเทคโนโลยี) และ Dual Circulation (เน้นผลิตในประเทศและลดการนำเข้า)

นอกจากนั้น ในส่วนของปัจจัยพื้นฐานของจีนเอง ก็เริ่มลดความน่าสนใจในการลงทุนลง โดยเฉพาะจากต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะค่าแรงที่พุ่งสูงขึ้น ระหว่างปี 2005 ถึง 2022 ค่าจ้างขั้นต่ำในภาคการผลิตเพิ่มขึ้นรุนแรง จากประมาณ 0.5 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง เป็น 8.3 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง

สูงกว่าประเทศในเอเชียตะวันออก เช่น มาเลเซีย อินเดีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์และไทยที่ประมาณ 2-3 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง (ไทยต่ำสุด)

Altasia (อัลเทเชีย) ทางออกของภาคการผลิตและโอกาสเศรษฐกิจไทย

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ทั้งผู้ประกอบการต่างชาติ และผู้ประกอบการชาวจีนเอง เริ่มพิจารณาย้ายฐานการผลิตออกจากจีน แต่ก็ยากเพราะระบบห่วงโซ่การผลิตในจีนค่อนข้างจะสมบูรณ์ในระดับหนึ่ง

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จีนเป็นแกนหลัก โดยการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบจากจีนมีมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2021 จากยอดรวมทั่วโลกที่ 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้แรงกดดันทางการค้าและการเมือง บริษัทต่างชาติหรือแม้แต่บริษัทจีนเองเริ่มตัดสินใจถอนการลงทุนออกจากจีนมากยิ่งขึ้น ระหว่างปี 2020 ถึง 2022 จำนวนบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินกิจการในจีนลดลงจากประมาณ 13,600 เป็น 12,700 ตามข้อมูลของสำนักวิจัย Teikoku Databank  

Altasia (อัลเทเชีย) ทางออกของภาคการผลิตและโอกาสเศรษฐกิจไทย

ขณะที่เมื่อปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา มีรายงานว่า Sony มีแผนที่จะย้ายการผลิตกล้องที่จำหน่ายในญี่ปุ่นและตะวันตกจากจีนมาที่ประเทศไทย

ขณะที่ Samsung ได้ลดจำนวนพนักงานชาวจีนลงกว่า 2 ใน 3 นับตั้งแต่จุดสูงสุดในปี 2013 ส่วน Dell ตั้งเป้าที่จะเลิกใช้ชิปที่ผลิตในจีนภายในปี 2024

เมื่อย้ายออกจากจีน ผู้ผลิตเหล่านี้จะย้ายฐานการผลิตไปที่ใด คำตอบคือ ไม่มีประเทศหนึ่งเดียวประเทศใดที่จะทดแทนจีนโดยสิ้นเชิง แต่เป็นการรวมตัวกันของหลายประเทศที่นิตยสาร The Economist เรียกว่า "ห่วงโซ่อุปทานทางเลือกของเอเชีย" หรือ Alternate Asia หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Altasia (อัลเทเชีย)

ซึ่งสามารถไล่เลียงไปได้ตั้งแต่จากฮอกไกโดทางตอนเหนือของญี่ปุ่น ผ่านเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย เวียดนาม กัมพูชา และบังกลาเทศ ไปจนถึงรัฐคุชราตทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย

แต่ละประเทศมีจุดแข็งที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ทักษะระดับสูงของญี่ปุ่นและรายได้มหาศาลไปจนถึงค่าแรงต่ำของอินเดียและไทย 

หากเปรียบเทียบกับจีน บางมุมมองของ Altasia ดูดีกว่า เช่น มีประชากรวัยทำงานรวมกัน 1.4 พันล้านคน สูงกว่าจีนที่ 950 ล้านคน และ ใน 1.4 พันล้านคนนั้น 155 ล้านคนมีการศึกษาระดับอุดมศึกษา สูงกว่าจีนที่ 145 ล้านคน

ขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำในอินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ต่ำกว่า 3 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1 ใน 3 ของค่าจ้างแรงงานจีนในปัจจุบัน

นอกจากนั้น ภูมิภาคนี้เป็นประเทศที่เน้นการส่งออกอยู่แล้ว โดยการส่งออกจาก Altasia ไปสหรัฐในปีที่แล้ว (ก.ย. 2021-ก.ย. 2022) มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 6.34 แสนล้านดอลลาร์ สูงกว่าจีน 6.14 แสนล้านดอลลาร์

สมาชิก Altasia บางส่วนยังเป็นสมาชิกของความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ ด้วย เช่น

(1) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RECP ยกเว้นอินเดีย บังกลาเทศ และไต้หวัน)  

(2) กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับสหรัฐ และ

(3) บรูไน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม อยู่ภายใต้ข้อตกลงใหม่ของหุ้นมหาสมุทรแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งรวมถึงแคนาดา ชิลี เม็กซิโก และเปรูด้วย

Altasia (อัลเทเชีย) ทางออกของภาคการผลิตและโอกาสเศรษฐกิจไทย

ที่ผ่านมา ผู้ผลิตจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้เข้ามาลงทุนโดยตรงใน Altasia มาสักพักหนึ่งแล้ว โดยในช่วงปี 2020 บริษัทเกาหลีใต้มีการลงทุนโดยตรงในอาเซียนและบังกลาเทศรวมมูลค่าถึง 9.6 หมื่นล้านดอลลาร์ แซงหน้าการลงทุนของเกาหลีในจีน

ซัมซุงเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ขณะที่ฮุนได เปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซีย

ด้านบริษัทต่างชาติกำลังจับตามองภูมิภาคนี้มากขึ้น โดยมักจะผ่านผู้ผลิตตามสัญญาของ Foxconn, Pegatron และ Wistron ของไต้หวัน ซึ่งประกอบอุปกรณ์สำหรับ Apple และอื่นๆ ที่กำลังลงทุนมหาศาลในอินเดีย ส่วนแบ่งของ iPhone ที่ผลิตในอินเดียคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 1 ใน 20 ของปีที่แล้วเป็น 1 ใน 4 ภายในปี 2025

ด้านมหาวิทยาลัยในไต้หวัน 2 แห่งได้ร่วมมือกับ Tata ของอินเดียโดยเสนอหลักสูตรการผลิตด้านอิเล็กทรอนิกส์แก่คนงานชาวอินเดีย ขณะที่ Google กำลังย้ายการผลิตสมาร์ทโฟน Pixel รุ่นใหม่ล่าสุดจากจีนไปยังเวียดนาม

การผลิตที่ซับซ้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเซมิคอนดักเตอร์ กำลังย้ายไปที่ Altasia เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น มาเลเซียส่งออกชิปประมาณ 10% ของมูลค่าโลก ขณะที่โดยรวมแล้วประเทศในอาเซียนมีสัดส่วนมากกว่าหนึ่งในสี่ของการส่งออกชิปทั่วโลก แซงจีนที่ 18%

ขณะที่ Qualcomm ผู้ผลิตชิป “fabless” สัญชาติอเมริกัน เปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งแรกในเวียดนาม ขณะที่รายได้ของ Qualcomm จากโรงงานชิปในเวียดนามเพิ่มขึ้นสามเท่า ระหว่างปี 2020 ถึง 2022

หรือแม้แต่ของไทยเองที่มีต่างชาติมาขอรับการส่งเสริมด้านการลงทุนจาก BOI เพิ่มขึ้นกว่า 41% ต่อปี ในปี 2022 ในอุตสาหกรรมสำคัญอย่างอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ไฟฟ้า จากผู้ผลิตใหญ่เช่น BYD, GWM และ Foxconn

อย่างไรก็ตาม Altasia ยังมีข้อเสียเปรียบในประเด็นด้านความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน เมื่อเทียบกับจีนเป็นตลาดเดียวที่กว้างใหญ่ เชื่อมโยงกันด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าได้โดยไม่ต้องมีซัพพลายเออร์ คนงาน และทุนข้ามพรมแดน

ดังนั้น Altasia จึงต้องมีการปรับห่วงโซ่อุปทานให้มีการบูรณาการและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ว่า RCEP จะช่วยสนับสนุนการค้าภายใน Altasia อยู่บ้าง

แต่การไหลเวียนของสินค้าต้องเผชิญกับอุปสรรคมากกว่าที่เกิดขึ้นในจีน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ และประเด็นเชิงการเมืองในแต่ละประเทศ ทำให้ความเชื่อมโยงของสมาชิก Altasia ผ่านเขตการค้าเสรีต่าง ๆ ยังไม่เต็ม 100% 

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวแล้ว Altasia มีโอกาสขึ้นมาแทนจีนในแง่ของการเป็นผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ทั้งจากแรงงานที่มีการศึกษาที่ขยายตัวขึ้น ตลาดที่ยังขยายตัว และกฎระเบียบที่เอื้อต่อการลงทุน 

นักธุรกิจ นักลงทุน และผู้กำหนดนโยบาย เตรียมพร้อมกับการเปิดโอกาสเศรษฐกิจใหม่ของ Altasia แล้วหรือยัง


คอลัมน์ : Global Vision  
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์
ฝ่ายวิจัยการลงทุน 
บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด
[email protected]