นโยบายพรรคการเมืองเกี่ยวกับบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์: จำเป็นหรือไม่? (2)

นโยบายพรรคการเมืองเกี่ยวกับบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์: จำเป็นหรือไม่? (2)

ปัญหาการควบคุมบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ว่าควบคุมไม่ได้ และเสนอว่าควรให้ผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ถูกกฎหมาย เพื่อเก็บภาษีเข้ารัฐ แก้ปัญหาส่วย พร้อมหนุนเป็นนโยบายพรรคพลังประชารัฐ นั้น มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (อย.สหรัฐ) ดำเนินการพิจารณาผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ชนิดต่างๆ ก่อนจะอนุมัติให้จำหน่ายได้ เอกสารที่บริษัทบุหรี่ข้ามชาติชั้นนำของโลกส่งให้ อย.สหรัฐพิจารณาเกี่ยวกับบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ประเภทให้ความร้อน

ยอมรับว่า บุหรี่ประเภทให้ความร้อนมีอันตรายต่อสุขภาพ และยังไม่มีหลักฐานว่าการเปลี่ยนมาใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ประเภทให้ความร้อนลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคที่มีสาเหตุจากการสูบบุหรี่มวนได้

เหตุใดบริษัทยาสูบข้ามชาติจึงยอมสารภาพความจริงต่อ อย. สหรัฐ เช่นนั้น? เหตุผลหนึ่งคือ ประเทศสหรัฐอเมริกามีกฎหมายที่เข้มงวดมากสำหรับผู้ที่โกหก หลอกลวง และบิดเบือนข้อเท็จจริง

อุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติ ถูกตัดสินโดยผู้พิพากษาสหรัฐให้แพ้คดีที่ถูกฟ้องร้อง และถูกปรับเป็นเงินจำนวนมหาศาล ที่ให้การอันเป็นเท็จ ดังข้อเท็จจริงต่อไปนี้

นโยบายพรรคการเมืองเกี่ยวกับบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์: จำเป็นหรือไม่? (2)

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) อัยการสูงสุดของสหรัฐอเมริกา Christine Gregiore แถลงว่า อุตสาหกรรมยาสูบทำให้ผู้คนนับล้านติดบุหรี่ โดยเฉพาะเยาวชน

ซึ่งเป็น สาเหตุของโรคมะเร็งและโรคอื่นๆ ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร อุตสาหกรรมยาสูบจึงยอมจำนนที่จะชดเชยค่าเสียหายที่เกิดจากการสูบบุหรี่เป็นจำนวนเงิน 2 แสน 4 หมื่น 6 พันล้านดอลลาร์ ในระยะเวลา 25 ปี 

และถูกศาลสหรัฐสั่งให้เปิดเผยเอกสารภายในของอุตสาหกรรมยาสูบ จำนวน 14 ล้านชิ้น ซึ่งถูกเรียกว่า “เอกสารข้อจริงเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยาสูบ” (Truth Tobacco Industry Documents)

และจากเอกสารภายในของอุตสาหกรรมยาสูบ ความจริงได้ถูกเปิดเผยว่า อุตสาหกรรมยาสูบใช้เวลาตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาในการปกปิดโทษและพิษภัยของบุหรี่ที่มีต่อสุขภาพ

กรณีศึกษาที่เป็นคดีหลักสำคัญคือ ในปี พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา ฟ้องอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติ ในข้อหาฉ้อฉล หลอกลวง และกระทำผิดกฎหมาย (the Racketeer Influenced and Corrupt Organizations Act - RICO)

โดยกล่าวหาว่าอุตสาหกรรมยาสูบสมรู้ร่วมคิดนับทศวรรษ (United States vs. Philip Morris. D.O.J. Lawsuit.  1999.) ดังต่อไปนี้ 

  1. หลอกลวงสังคมให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับอัตรายของการสูบบุหรี่
  2. หลอกลวงสังคมเกี่ยวกับอันตรายของควันบุหรี่ / จากการได้รับควันบุหรี่  
  3. เบี่ยงเบนจากความเป็นจริงของการเสพติดสารนิโคติน
  4. แก้ไข เปลี่ยนแปลงการได้รับสารนิโคตินจากบุหรี่
  5. หลอกลวงในการทำการตลาดบุหรี่ ประเภท “ไลท์” (“light”) และ “น้ำมันดินต่ำ” (“low tar”) ทั้งๆ ที่รู้ว่าอันตรายพอๆ กับยาสูบทั่วๆ ไป
  6. มุ่งเป้าไปยังเด็กและเยาวชน
  7. ไม่ผลิตบุหรี่ที่ปลอดภัยกว่า 

นโยบายพรรคการเมืองเกี่ยวกับบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์: จำเป็นหรือไม่? (2)

ต่อมา ผู้พิพากษา Kessler ตัดสินว่า อุตสาหกรรมยาสูบหลอกลวงสังคมตลอด 5๐ ปีที่ผ่านมา และยังคงดำเนินการหลอกลวงในปัจจุบัน เป็นการกระทำผิดกฎหมาย RICO โดยการเจตนา จงใจ จึงสั่งให้อุตสาหกรรมยาสูบดำเนินการดังต่อไปนี้ (U.S. Racketeering verdict against big tobacco. 2018.) 

  • ห้ามหลอกลวง หรือทำให้เข้าใจผิด ถึงอันตรายต่อสุขภาพจากบุหรี่
  • ห้ามใช้คำที่หลอกลวง หรือทำให้เข้าใจผิด เช่น “ไลท์” “ไมลด์” “น้ำมันดินต่ำ” 
  • บังคับให้อุตสาหกรรมยาสูบเปิดเผยต่อสาธารณะ เอกสารภายใน และเอกสารที่ใช้ในการฟ้องร้องคดีความ
  • บังคับให้อุตสาหกรรมยาสูบรายงานต่อรัฐบาลทุกๆ ปี ข้อมูลด้านการตลาดรายปี

กรณีการพิพากษาดังกล่าว มีความสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติหมดความน่าเชื่อถือใดๆ ในสังคมโลก ทำให้อุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติ ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์และการตลาด

ด้วยการให้องค์กรบังหน้า (front group) หรือบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ หรือได้รับการยอมรับในสังคม ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงแทนบริษัทยาสูบข้ามชาติ 

มากไปกว่านั้น มีรายงานเชิงสอบสวนเกี่ยวกับความพยายามของอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติ (Reuters Investigative Report.  Available at: reuters.com) ที่ได้ทำการวิจัยผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ประเภทให้ความร้อน ระหว่างปี พ.ศ. 2555 - 2557 (ค.ศ. 2012 – 2014) 

ซึ่งผู้ที่อุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติว่าจ้างให้ประสานงานการวิจัยในคน และเป็นหนึ่งในคณะวิจัยผู้เขียนกรอบมาตรฐาน (Protocol) การวิจัยสำหรับศูนย์การวิจัย 8 แห่งทั่วโลกเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ได้ตั้งข้อสังเกตถึง คุณภาพมาตรฐานการวิจัยของศูนย์วิจัยหลายแห่งที่ได้ดำเนินการวิจัย หลังจากนั้นเขา ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมในโครงการวิจัยอีกต่อไป

นักวิจัยหลักอีกคนหนึ่งกล่าวว่า เขาไม่ให้ความน่าเชื่อถือแก่งานวิจัยแบบนี้เท่าใด เพราะเป็นการวิจัยเพื่อผลประโยชน์เชิงพาณิชย์มากกว่าผลประโยชน์ทางวิชาการ

ในขณะที่อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (US-FDA) ระหว่างปี พ.ศ. 2533 - 2540 (ค.ศ. 1990 - 1997) กล่าวว่า ในภาพรวมเห็นได้ชัดเจนว่าบริษัทยาสูบไม่มีประสบการณ์และศักยภาพที่เพียงพอในการดำเนินการวิจัยในมนุษย์ เพราะไม่ใช่ความเชี่ยวชาญและความชำนาญขององค์กรในด้านการวิจัย

บริษัทยาสูบข้ามชาติต้องการได้รับการรับรองจาก อย. ของสหรัฐอเมริกา เพื่อนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดภายใต้มาตรฐาน 2 อย่างที่แตกต่างกัน คือ 

  1. ขอการรับรองว่าผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ประเภทให้ความร้อน ลดการได้รับสารอันตราย และ 
  2. ขอการรับรองว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่มีสาเหตุจากยาสูบ แต่ผู้บริโภคจะต้องไม่ “ถูกหลอกลวงให้หลงเชื่อ” ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีอันตรายน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ กฎ ระเบียบของ อย. สหรัฐอเมริกา บ่งชี้ไว้อย่างชัดเจน 

สถานการณ์ปัจจุบันทำให้บริษัทยาสูบข้ามชาติ จำใจต้องยื่นขอการรับรองจาก อย. สหรัฐ เพราะอัตราการจำหน่ายบุหรี่ในประเทศสหรัฐอเมริกาลดลงมากกว่าร้อยละ 30 ระหว่างปี พ.ศ. 2548 - 2557 (ค.ศ. 2005 – 2016)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

ผู้จัดการข้อมูลทางคลินิกของบริษัทยาสูบข้ามชาติ กล่าวว่า การพิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่ง มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่มีสาเหตุจากยาสูบน้อยกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ จำเป็นจะต้องดำเนินการวิจัยทางคลินิกขนาดใหญ่ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายปี

เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้ผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ประเภทให้ความร้อน มีอายุยืนยาวกว่าผู้สูบบุหรี่มวน นี่คือเหตุผลที่บริษัทยาสูบข้ามชาติยอมรับต่อ อย. สหรัฐ ว่า บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ประเภทให้ความร้อน เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

และยังไม่มีหลักฐานว่าการเปลี่ยนจากการสูบบุหรี่มวนมาใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ประเภทให้ความร้อนจะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ที่มีสาเหตุจากการสูบบุหรี่มวนได้

ขัอมูลเหล่านี้ ควรจะต้องเผยแพร่ให้สังคมได้รับทราบความจริง แทนที่จะถูก หลอกลวง บิดเบือน โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐมนตรีท่านใดก็ตาม เพราะความน่าเชื่อถือของบุคคลนั้นๆ จะเสื่อมลง และทำให้สภาที่ทรงเกียรติเสื่อมความศรัทธาจากสังคมไทย

ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเปลี่ยนกฎหมาย หรือมาตรการใดๆ เกี่ยวกับการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ เพียงแต่บริษัทยาสูบข้ามชาตินำผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มาขอขึ้นทะเบียนกับ อย. และพิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มีความปลอดภัยต่อสุขภาพและสามารถช่วยให้เลิกเสพติดนิโคตินจากบุหรี่มวนได้ 

ผู้ที่สนับสนุนให้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมาย ควรจะเรียกร้องให้ผู้ผลิต นำผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ไปขึ้นทะเบียนกับ อย. แทนที่จะไปร้องเรียนกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

แต่เป็นที่เข้าใจได้ว่า บริษัทยาสูบข้ามชาติและเครือข่ายบริวาร ไม่ชอบทำอะไรให้ถูกกฎหมาย จึงพยายามฝ่าฝืนและละเมิดกฎหมาย ทั้งๆ ที่ อย. ของประเทศไทยเปิดโอกาสให้มาขึ้นทะเบียนบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้อง

ประเทศสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ขายบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ได้สำหรับผู้มีอายุ 21 ปีขึ้นไป แต่อุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติก็ฝ่าฝืนกฎหมายด้วยการทำการตลาดมุ่งเป้าไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชน จนกระทั่งถูกฟ้องเป็นคดีความในมลรัฐต่างๆ และถูกปรับเป็นจำนวนเงินมหาศาล 

ด้วยเหตุนี้ สังคมไทยกำลังมองด้วยความคาดหวังว่าพรรคการเมืองต่างๆ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย รวมทั้งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ดีอีเอส

จะเป็นส่วนสำคัญในการปกป้องสุขภาพของเด็ก เยาวชน และประชาชนไทย ให้ปลอดภัยจากอันตรายของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ มากกว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับจากอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติ และเครือข่ายบริวาร