เปิดเทรนด์ "สตาร์ทอัพ" มาแรงปี 2023 - 2026 ธุรกิจแนวไหนตอบโจทย์คนยุคนี้ ?

เปิดเทรนด์ "สตาร์ทอัพ" มาแรงปี 2023 - 2026 ธุรกิจแนวไหนตอบโจทย์คนยุคนี้ ?

เปิดเทรนด์ "สตาร์ทอัพ" ที่มาแรงในปี 2023 และจะแรงต่อเนื่องไปถึงปี 2026 ผู้ประกอบการ หรือนักลงทุนที่กำลังมองหาธุรกิจที่เจาะทางเลือกใหม่ๆ ควรลงทุนกับสินค้า และบริการด้านไหนดี? เช็กเทรนด์ก่อนใครที่นี่

หลังยุคโควิดโลกธุรกิจก็กลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรายย่อย รายใหญ่ หรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยหากคุณเป็นมือใหม่ที่อยากจะทำธุรกิจหรือลงทุนใน “สตาร์ทอัพ” และกำลังมองหาเทรนด์ธุรกิจมาแรงในช่วงนี้ แต่ก็ยังไม่เจอไอเดียที่โดนใจสักที

ลองมาเช็กลิสต์การจัดอันดับ “เทรนด์สตาร์ทอัพ” ในต่างประเทศว่ามีสินค้า และบริการแบบไหนที่มาแรง เผื่อจะสามารถนำไปต่อยอดไอเดียได้หลากหลายมากขึ้น ดังนี้

1. ธุรกิจสตาร์ทอัพสินค้าไบโอเทค

สินค้า และบริการด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดประมาณ 414 พันล้านดอลลาร์ เช่น บริการทดสอบ DNA, อุปกรณ์ DNA Band (ตัวตรวจวัด DNA ที่สวมใส่กับข้อมือ) โดยเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันผ่านสมาร์ตโฟน ว่ากันว่ากลุ่มธุรกิจสินค้า และบริการประเภทนี้มีความต้องการพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2020

เนื่องจากผู้คนสมัยนี้ให้ความสนใจกับเรื่องการดูแลสุขภาพมากขึ้น และลึกขึ้นในระดับดีเอ็นเอ เพื่อหาคำตอบทางสุขภาพและที่มาของตนเอง เช่น การทดสอบเพื่อค้นหาบรรพบุรุษทางสายเลือด, ตรวจระบบการทำงานต่างๆ ในร่างกาย, ทดสอบเพื่อหาว่าอาหารแบบไหนเหมาะกับคุณ, ค้นหากิจวัตรการออกกำลังกายที่ดีที่สุดสำหรับคุณ, ค้นหาผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่เหมาะกับคุณโดยเฉพาะ ฯลฯ

 

2. นวัตกรรมดิจิทัลเจาะตลาดแอฟริกา

บางคนอาจไม่เคยรู้ว่าตลาดผู้บริโภคในทวีป “แอฟริกา” เป็นตลาดที่กำลังเติบโตต่อเนื่อง จึงมีนักลงทุนจากทั่วโลกหลายคนแห่ไปลงทุนในสตาร์ทอัพหรือธุรกิจรูปแบบอื่นๆ ในแอฟริกาจำนวนมาก และสร้างรายได้อย่างคุ้มค่า โดยธุรกิจสตาร์ทอัพที่น่าสนใจและเติบโตสูง ได้แก่ บริการเทคโนโลยีกระจายอาหาร และโครงสร้างพื้นฐาน, ฟินเทคที่ขับเคลื่อนด้วย AI, อีคอมเมิร์ซต่างๆ

ยกตัวอย่างเช่น Twiga Foods ธุรกิจด้านการกระจายอาหารในเคนยา ที่พบว่าตั้งแต่ปี 2018-2023 มีผู้บริโภคค้นหามากขึ้นถึง 228% นอกจากนี้ยังมีธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอื่นๆ ที่เติบโตในแอฟริกาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Jumo สตาร์ทอัพด้านฟินเทคที่ขับเคลื่อนด้วย AI กำลังสร้างกระแสในแอฟริกาใต้ และบริษัทอีคอมเมิร์ซทั่วแอฟริกาอย่าง Jumia ก็ได้รับความนิยมอย่างมากเช่นกัน

เปิดเทรนด์ \"สตาร์ทอัพ\" มาแรงปี 2023 - 2026 ธุรกิจแนวไหนตอบโจทย์คนยุคนี้ ?

3. สตาร์ทอัพเกี่ยวกับสินค้าที่รักษ์โลกและยั่งยืน

อีกหนึ่งธุรกิจสตาร์ทอัพที่ยังคงฮอตฮิตติดลมบนมาจนถึงปี 2023 และจะยังเติบโตต่อเนื่องก็คือ สินค้ารักษ์โลกและยั่งยืน เช่น เนื้อเทียมหรือเนื้อที่ผลิตจากพืชอย่างแบรนด์ Beyond Meat และแบรนด์อื่นๆ อีกหลากหลายแบรนด์ โดยพบว่าผู้บริโภคยุคนี้ค้นหาเกี่ยวกับสินค้า และบริการเกี่ยวกับเนื้อเทียม หรือสินค้ารักษ์โลกอื่นๆ เพิ่มขึ้นถึง 733% ภายใน 10 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งสื่อนอกอย่าง “บลูมเบิร์ก” ก็รายงานด้วยว่าปัจจุบันสตาร์ทอัพกลุ่มนี้มีมูลค่ามากถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์

4. โมเดลธุรกิจที่เคยสำเร็จแล้ว แต่นำไปเจาะฐานภูมิภาคอื่นๆ

พูดถึงธุรกิจสตาร์ทอัพที่เติบโตพุ่งแรงมาตั้งแต่ช่วงโควิด คงหนีไม่พ้น “ธุรกิจดิลิเวอรี” ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่า Grab, Uber, Grubhub และ DoorDash จะเป็นผู้ครองตลาดส่วนใหญ่ในหลายประเทศ แต่ก็ไม่ได้แปลว่านักลงทุนหน้าใหม่จะไม่มีโอกาสลงเล่นในสนามนี้ เพียงแค่ต้องหาพื้นที่ที่ยังต้องการบริการนี้ในแหล่งใหม่ๆ

ยกตัวอย่างเช่น Glovo สตาร์ทอัพดิลิเวอรีสัญชาติสเปน ก็สามารถเติบโตได้ไม่แพ้เจ้าใหญ่ๆ ข้างต้น โดยในยุคก่อตั้งเมื่อปี 2018 พวกเขาสามารถระดมทุนได้ถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์ และเป็นบริการได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จากปี 2018-2023 แอปฯ นี้ถูกค้นหาเพิ่มขึ้นถึง 252%

เริ่มแรกธุรกิจนี้ให้บริการในยุโรป แต่ปัจจุบันพวกเขากำลังขยายการดำเนินงานไปทั่วทั้งอเมริกาใต้และแอฟริกาเหนือด้วย อีกทั้ง Glovo มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวตรงที่พวกเขาไม่เพียงแค่ส่งอาหารเท่านั้น แต่พร้อมส่งทุกอย่าง ทั้งอุปกรณ์เสริมสำหรับสมาร์ทโฟน, อาหารสัตว์เลี้ยง, ดอกไม้, ขนมมาการอง ฯลฯ

5. แพลตฟอร์ม No Code / Low Code

สำหรับแพลตฟอร์ม No Code/Low Code หมายถึง บริการแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้าน Coding ก็สามารถสร้างเว็บไซต์หรือแอปฯ ด้วยตัวเองได้ โดยใช้อินเทอร์เฟซแบบลากและวาง แทนที่จะใช้ภาษาโปรแกรมและการเขียนโค้ดภาษายากๆ และซับซ้อน

โดยบริการเหล่านี้ที่กำลังมีอัตราเติบโตสูงและมีผู้ใช้งานค้นหาเป็นประจำ ได้แก่ Zapier, Webflow, Makerpad โดยมีการสำรวจพบว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2018-2023) บริการเหล่านี้ถูกค้นหามากถึง 428% และยังคงพุ่งสูงต่อเนื่อง

6. บริการ AgTech เกษตรไฮเทค

บริการเทคโนโลยีด้านการเกษตรยั่งยืนแบบองค์รวม (Regenerative Agriculture) เป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยรักษาสภาพที่เป็นอยู่ของดินชั้นบนและระบบนิเวศวิทยาของฟาร์มให้ยังคงสภาพดี ลดการเสื่อมโทรมของหน้าดินที่มักจะเกิดขึ้นกับฟาร์มเกษตร

ถือเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้เกษตรกรยุคใหม่ให้ทำการเกษตรแบบยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นตรวจสภาพดินด้วยอุปกรณ์ IoT, ซอฟต์แวร์จัดการข้อมูลในฟาร์ม, Smart Tag ในฟาร์มวัว (เช่น บริษัท Antelliq) ฯลฯ ซึ่งเข้ามาตอบโจทย์เกษตรกรให้พัฒนาฟาร์มได้มาตรฐานมากขึ้นและยั่งยืนมากขึ้น

7. สินค้า/บริการที่ให้ลูกค้าออกแบบได้เองเฉพาะบุคคล

อีกหนึ่งเทรนด์ธุรกิจสตาร์ทอัพที่กำลังมาแรง คือ การนำเสนอสินค้าและบริการที่ดึงลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือก ออกแบบ และตัดสินใจจากความชอบเฉพาะบุคคล ที่เรียกว่า "โมเดลธุรกิจ DTC (Direct to Consumer)"

มีรายงานจาก Deloitte Consumer review  ระบุว่า การนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการเฉพาะบุคคลสามารถเพิ่มยอดขายสินค้าได้ 10% หรือมากกว่านั้น แม้ว่าราคาของผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคลจะสูงกว่าตัวเลือกมาตรฐานทั่วไปก็ตาม

ยกตัวอย่างเช่น บริการปรับแต่งผลิตภัณฑ์ของ Nike “Nike By You” (เดิมชื่อ Nike ID) มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการเลือกปกติ 30-50% แต่ก็นำไปสู่การซื้อซ้ำสำหรับช่างทำรองเท้าเพิ่มขึ้น

เช่นเดียวกับธุรกิจ "FitMyFoot" ซึ่งเป็นแบรนด์ขายพื้นรองเท้าและรองเท้าแตะที่ให้ลูกค้าออกแบบเอง และสั่งทำแผ่นพื้นรองเท้าตามขนาดเท้าได้ทุกขนาด โดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติเข้ามาช่วยในการออกแบบ

ขั้นตอนคือ ลูกค้าของ FitMyFoot จะใช้แอปฯ ร่วมกับปากกาและกระดาษเพื่อวาดและวัดขนาดเท้าของพวกเขา แล้วส่งข้อมูลเหล่านั้นเข้าไปในช่องสั่งซื้อสินค้าของทางแบรนด์ จากนั้นภายใน 2-3 สัปดาห์ พวกเขาจะได้รับพื้นรองเท้าด้านในหรือรองเท้าแตะที่ไม่เหมือนใครในโลก และด้วยการทำโมเดลธุรกิจนี้ทำให้แบรนด์ดังกล่าวมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าในแต่ละปี เป็นต้น

อ่านมาถึงตรงนี้ เหล่านักลงทุนและผู้ประกอบการมือใหม่คงได้เห็นภาพคร่าวๆ กันแล้วว่า "เทรนด์ธุรกิจสตาร์ทอัพ" ที่กำลังมาแรงในปีนี้ และภายในอีก 3 ปีข้างหน้าจะเป็นไปในทิศทางใดบ้าง โดยสามารถนำข้อมูลนี้ไปประกอบการคิดและตัดสินใจในการลงทุนกับธุรกิจสตาร์ทอัพที่ตนเองสนใจได้ในอนาคต

-----------------------------------------------------

อ้างอิง : explodingtopicsPartechpartnersDeloitte

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์