เปิดตำนานแชโบล ธุรกิจครอบครัวสร้างเศรษฐกิจเกาหลีใต้

เปิดตำนานแชโบล ธุรกิจครอบครัวสร้างเศรษฐกิจเกาหลีใต้

เมื่อพูดถึงการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของเกาหลีใต้ ตัวละครหนึ่งที่ต้องพูดถึงคือแชโบล กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่บริหารโดยครอบครัวที่ครอบงำเศรษฐกิจเกาหลีใต้ มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลอย่างใกล้ชิดซึ่งส่งผลต่อประเทศทั้งด้านบวกและด้านลบ

Key Points

  • แชโบลเกาหลีใต้มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลทั้งด้านบวกและด้านลบ
  • ด้านบวก แชโบลปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล มีส่วนสร้างเศรษฐกิจให้เติบโต ด้านลบแชโบลเข้าไปพัวพันกับการทุจริต
  • แชโบลกำลังอยู่ในช่วงผลัดใบ ผู้บริหารอยู่ในวัย 40-50 ปีเศษ

ในปี 2564 รายได้ของ 10 แชโบลใหญ่สุด เช่น ซัมซุง ล็อตเต้ และแอลจี คิดเป็นราว 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แม้แต่ในช่วงโควิด-19 ระบาดที่ธุรกิจเล็กกว่ากำลังดิ้นรนอยู่รอด แชโบลยังคงแข็งแกร่ง

แชโบล-รัฐบาล ทำงานใกล้ชิด

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเกาหลีใต้กับแชโบลมีมานานแล้ว ในทศวรรษ 60 เกาหลีใต้ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในโลก จีดีต่อหัวในพ.ศ.2503 อยู่ที่ราว 160 ดอลลาร์เท่านั้น และเกาหลีใต้ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศ 

ด้วยการผงาดขึ้นของเผด็จการทหาร “ปัก จุงฮี” เกาหลีใต้ตั้งเป้าทำประเทศให้เป็นอุตสาหกรรมและเติบโตเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจสำคัญ นำไปสู่การเติบโตของแชโบลที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย รัฐบาลให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่บริษัทที่เลือกสรรแล้วในอุตสาหกรรมเฉพาะ เช่น รถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยบริษัทต้องทำตามแผนเศรษฐกิจของประเทศ

แม้แต่เมื่อสิ้นยุคเผด็จการใน พ.ศ.2531  แชโบลยังคงทรงพลังทางเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่องและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ตัวอย่างเช่นแม้แชโบลมีแต่เรื่องทุจริตฉาว แต่หลายบริษัทได้รับการอภัยโทษจากรัฐบาล

ในปี 2565 ภายใต้ประธานาธิบดียุน ซอกยอล นายเจ วาย ลี ประธานซัมซุง และนายชิน ดงบิน ประธานล็อตเต้กรุ๊ป ได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนดในช่วงที่เศรษฐกิจประเทศไม่ดี


 

ซัมซุง, เอสเค, ฮุนไดมอเตอร์ส, แอลจี และล็อตเต้ เป็นแชโบลระดับสุดยอดในเกาหลีใต้ และซัมซุงคือที่สุดของที่สุด ประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวาง มีส่วนสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปี 2564 รายได้ของบริษัทลูกจากแชโบล 15 แห่งคิดเป็นราว 20.3% ของจีดีพี

ซัมซุง

เริ่มต้นจากการเป็นร้านค้าของชำ ก่อตั้งขึ้นในพ.ศ.2481 โดยลี บยุง ชุล ปู่ของลี แจยอง ประธานคนปัจจุบัน ส่วนใหญ่ขายบะหมี่และสินค้าอื่นๆ ในเมืองแทกู พื้นที่ใกล้เคียง และจีน

หลายปีผ่านไปจึงแตกกิจการไปสู่อุตสาหกรรมอื่น เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องกลและอุตสาหกรรมหนัก และให้บริการทางการเงินครอบคลุมไปถึงประเทศใหญ่อย่างสหรัฐ จีน และเยอรมนี

ปี 2565 ซัมซุงเป็นแบรนด์มูลค่าสูงสุดอันดับ 8 ของโลกตามการจัดอันดับของฟอร์บส 5.04 หมื่นล้านดอลลาร์ รายได้ 2.09 แสนล้านดอลลาร์

เอสเค

ในปี 2565 เอสเคเป็นแชโบลที่มีสินทรัพย์ในเกาหลีใต้มากเป็นอันดับสองเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งใน พ.ศ.2496 โดยแซงหน้าฮุนไดมอเตอร์กรุ๊ป ทั้งนี้ เอสเคทำธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ พลังงานและเคมี โทรคมนาคม และอื่นๆ เอสเคเทเลคอมเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในสามผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่สุดของประเทศ

ฮุนไดมอเตอร์

ฮุนไดมอเตอร์ก่อตั้งขึ้นในพ.ศ.2510โด่งดังในฐานะผู้ผลิตและค้าส่งส่วนประกอบรถยนต์ เป็นเจ้าของแบรนด์ยอดนิยมอย่างเกีย ฮุนได และเจเนสิสในบรรดาแบรนด์เกาหลีใต้ด้วยกันฮุนไดมียอดขายรถยนต์สูงสุดในเดือน ก.ย.2565

นอกจากอุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว ฮุนได้ยังทำธุรกิจการเงิน ไอที/ซอฟต์แวร์ และโลจิสติกส์ โดยฮุนไดการ์ดในแชโบลฮุนไดออกบัตรเครดิตมากมายในเกาหลีใต้ บริษัทเผยว่าได้ทำงานเพื่อช่วยเปิดตัวแอ๊ปเปิ้ลเพย์ภายในสิ้นปี 2565

ล็อตเต้

ล็อตเต้ทำธุรกิจหลักด้านอาหาร ค้าปลีก ท่องเที่ยว/บริการ/การเงิน เป็นเจ้าของล็อตเต้คอนเฟคชันนารี ล็อตเต้ดิวตี้ฟรี ล็อตเต้เวิลด์ และอื่นๆ

นอกเหนือจากเป็นสินค้าที่พบได้ทั่วไปในตลาดอาหารและเครื่องดื่มเกาหลีใต้แล้ว ล็อตเต้คอนเฟคชันนารียังประสบความสำเร็จในการขยายกิจการไปทั่วโลก ระหว่างไตรมาสสองปี 2564-ไตรมาสสองปี 2565 กำไรสุทธิรายไตรมาสเพิ่มขึ้นสองเท่า ไอศกรีมล็อตเต้เป็นที่ต้องการเป็นพิเศษในอินเดีย รัสเซีย และคาซัคสถาน

ไม่เพียงเท่านั้นล็อตเต้ยังมีห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลอดภาษีและโรงแรม ที่มีส่วนสร้างการเติบโตให้กับตลาดสินค้าแบรนด์เนมของเกาหลีใต้ รวมถึงอุตสาหกรรมสายการบิน และตลาดความงามด้วย

ขณะนี้แชโบลกำลังอยู่ในช่วงผลัดใบ เว็บไซต์โคเรียเฮอรัลด์รายงาน ปัจจุบันแชโบลกำลังเปลี่ยนเร่งเปลี่ยนผู้นำ ทายาทวัย 40-50 ปี รับหน้าที่ดูแลธุรกิจต่อจากบิดา

สถาบันโคเรียซีเอ็กซ์โอ ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวของแชโบล รายงานเมื่อกลางปี 2565 ว่า ผู้บริหารรวม 270 คน จากบริษัทใหญ่สุดของเกาหลีใต้ 200 บริษัท มีผู้บริหารจากครอบครัวเจ้าของเกิดในทศวรรษ 70 หรือหลังจากนั้นในจำนวนนี้ 21 คน ครองตำแหน่งประธาน รวมถึงสองผู้นำจากสี่แชโบลใหญ่ นายชอง อุยซัน วัย 52 ปี ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานฮุนไดมอเตอร์กรุ๊ปเมื่อเดือน ต.ค.2563 ถือเป็นการเปลี่ยนรุ่นครั้งแรกในรอบ 20 ปีของบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับห้าของโลกและนายคู ควังโม วัย 44 ปี รับตำแหน่งประธานแอลจีกรุ๊ปในเดือน มิ.ย.2561 หลังบิดาเสียชีวิต กลายเป็นผู้นำหนุ่มสุดของแชโบลใหญ่สุดสี่แห่ง

ผู้ที่รับตำแหน่งรองประธานมี 29 คน หลายคนถ้าไม่ใช่ลูกชายคนเดียวก็เป็นลูกชายคนโตและมีแนวโน้มดูแลกิจการต่อไปในระยะยาว

ปัจจุบัน ทายาทที่เป็นคนรุ่นใหม่ของแชโบล 54.4% ครองตำแหน่งประธานและซีอีโอ ราว 1 ใน 4 เป็นคนรุ่นมิลเลนเนียลเกิดหลัง พ.ศ. 2523 เช่น คิม ดงควัน วัย 39 ปี ซีอีโอฮันวาโซลูชัน, ชอง คีซัน วัย 40 ปี ซีอีโอฮุนไดเฮฟวีอินดัสตรีส์ และ โช ฮยุนมิน วัย 39 ปี ประธานฮันยินกรุ๊ป

ในบรรดาซีอีโอและประธานรุ่นใหม่ผู้หญิงยังคิดเป็นสัดส่วนน้อยเพียง 15.9% เท่านั้น

“ทายาทหนุ่มสาวหลายคนเป็นคนเก่งระดับโลก จบการศึกษาจากโรงเรียนชั้นนำในต่างประเทศ ได้รับมอบหมายให้ประสานเรื่องราวความสำเร็จระดับโลกเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรเกาหลีที่ไม่เหมือนใคร และยกระดับอาณาจักรธุรกิจของตระกูล เนื่องจากทายาทแชโบลวัย 40-50 ปีเข้ามาดูแลกิจการมากขึ้น คาดว่าการเลื่อนขั้นผู้บริหารอายุน้อยจะมีให้เห็นมากขึ้นเช่นกัน” โอ อิลซัน ผู้อำนวยการสถาบันโคเรียซีเอ็กซ์โอให้ความเห็น