เปิดเหตุผล เศรษฐกิจ “สหรัฐ-จีน” ขัดแย้ง แต่ทำไมตัดกันไม่ขาด

เปิดเหตุผล เศรษฐกิจ “สหรัฐ-จีน” ขัดแย้ง แต่ทำไมตัดกันไม่ขาด

อย่างที่ทราบกันดีว่า “สหรัฐ-จีน” ถือเป็นประเทศมหาอำนาจทางการค้า เศรษฐกิจ ที่อยู่ในอันดับต้น ๆ ทั้ง 2 ประเทศ ต่างมุ่งนโยบายกีดกันทางการค้า เน้้นพึ่งพาตนเอง แต่ทำไม? ทั้ง 2 ประเทศถึงยังตัดกันไม่ขาด

จากเวที สัมมนาหัวข้อ “Geopolitics : The Big Challenge for Business โลกแบ่งขั้ว ธุรกิจพลิกเกม” เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2566 จัดโดยหนังสือพิมพ์ “กรุงเทพธุรกิจ” โดย นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวเสวนาหัว "เอกชนพลิกเกมรับมือโลกขัดแย้ง บริบทโลกเปลี่ยน สมการการเงิน ลงทุนโลกปรับ”

นายรักษ์ กล่าวว่า สัมพันธภาพระหว่างสหรัฐกับจีนเปรียบสมการครอบครัวที่มีการแต่งงานกันมาเป็น 10 ปี แล้วมีลูกด้วยกัน 3 คน แล้วเกิดการหย่าร้างแต่ไม่ถึงกับแตกหัก ดังนั้น สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ ความย้อนแย้งหลายอย่างคือเกลียดกันแต่ขาดกันไม่ได้

ทั้งนี้ จะเห็นได้ชัดเจน คือ สหรัฐยังสั่งซื้อสินค้าจากจีน และจีนก็ได้ซื้อเทคโนโลยีจากสหรัฐสูงถึง 30-40% อีกทั้ง ธุรกิจของทั้ง 2 ประเทศยังเปิดให้บริการได้ในแต่ละแระเทศ ทั้งแบรนด์รถยนต์ หรือร้านกาแฟแบรนด์ดัง เป็นต้น

นอกจากนี้ ทั้ง 2 ประเทศ ยังมีแนวบริหารการดำเนินธุรกิจแบบบริหารความเสี่ยงเหมือนกัน จะเห็นได้ว่าจีนก็มีสกุลเงินดอลลาร์อันดับต้น ๆ เช่นกัน โดยใช้แนวคิดว่าไม่ควรถือค่าเงินหรือสกุลเงินไว้เพียงสกุลเดียว ดังจะเห็นได้ชัดเจนช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา เงินบาทไทยอยู่ในระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์ ต่อมาขณะนี้มาอยู่ในระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์

ดังนั้น สิ่งที่ตนจะแนะนำลูกค้าอยู่เสมอคือ การซื้อของตุนไว้ให้เยอะและซื้อสต็อกไว้ เพราะบางประเทศซื้อของได้ถูก บางประเทศซื้อของได้แพง โดวความผันผวนมีอยู่ตลอดเวลา เราจึงต้องบริหารความเสี่ยงเพื่อความสมดุลทางการค้า

ดังนั้น หากเปรียบสมการความเสี่ยงจะเปรียบได้กับสมการ 3 กิ๊ก คือ 1.กิ๊กด้านการเงิน เพราะเราไม่สามารถยึดโยงบ้านใหญ่ได้บ้านเดียว เหมือนกับที่จีนและสหรัฐเป็นอยู่ แม้จะไม่รักกันแต่ก็ต้องดูแลบ้านเล็กบ้านน้อยที่ทำธุรกิจอยู่ในพื้นที่ของแต่ละประเทศ เราจึงต้องมีเงินหลายสกุลทั้งหยวน หรือ ยูโร

2. กิ๊กในมุมของฐานการผลิต การทำธุรกิจจะต้องมีฐานกาผลิตมากกว่า 2 ประเทศ โดยประเทศไทยมีความสวยงามทางภูมิรัฐศาสตร์ สามารถขยายฐานไปได้ และ 3. กิ๊กด้านการตลาด เพราะตลาดหลักไม่ใช่คำตอบอีกต่อไปแล้ว จะเห็นได้จากการเติบโตของ GDP โลกไม่เกิน 2% แล้ว

“เราต้องมีกิ๊ก 3 กิ๊ก เพื่อบริหารความเสี่ยง โดยตลาดที่จะเป็นกิ๊กได้ดีตอนนี้ คือ เอเชียใต้ และตลาดอาเซียน โดยเฉพาะ CLMV เพราะโลกเปลี่ยนไปตั้งแต่จบสงครามการแพร่ระบาดชองโควิด-19 เราไม่จำเป็นต้องถือเงินไว้ที่ตัวเอง การมีบริษัทลูกนอกประเทศสำคัญ”

ทั้งนี้ การใช้สูตรดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) อย่างเดียวไม่ได้ โดยต้องผลักทุนไทยไปต่างประเทศ ซึ่งเอ็กซิมแบงก์ได้ร่วมมือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สนับสนุนธุรกิจไทยไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่งบริษัทใหญ่ไม่มีฐานการผลิตแค่ในไทย แต่ไปขยายสาขานอกประเทศ โดยต่างจาก 20-30 ปีที่ผ่านมา ที่เน้นดึงเงินลงทุนเข้าไทย ซึ่งการลงทุนทุก 1 บาท จะสร้างมัลติพลายเออร์ได้ 2 บาท ดังนั้น การทำธุรกิจจากนี้ต้องสร้างสมดุลทั้งการดึงทุนต่างชาติและการสร้างอีโคซิสเต็มในประเทศ

นอกจากนี้ มีข้อเสนอให้ให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาฝีมือเป็นมือที่ 3 อย่างมืออาชีพ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพราะนักธุรกิจไทยคงไม่ถึงการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ แต่ควรทำสิ่งที่ไทยเชี่ยวชาญในการผลิต เช่น โทรทัศน์ เตารีด ไมโครเวฟ ตู้เย็น เพราะสหรัฐไม่สั่งสินค้าจากจีน ดังนั้น ไทยต้องแย่งตลาดส่วนนี้ หรือไทยจึงต้องไปเป็นมือที่ 3 อย่างมีชั้นเชิง

“เราติดอันดับ 1 ใน 5 ของการผลิตไก่ชิ้นของโลก ต้องนำไก่ชิ้นเข้าสหภาพยุโรป (อียู) ให้ได้ แย่งขั้วโลกใต้มาให้ได้ เราต้องมีชั้นเชิงในการอ่อยจะสามารถบุกตลาดได้ทั้งโลก ในขณะที่บ้านใหญ่ บ้าเล็กทะเลาะกันอยู่ ผู้ประกอยการไทยต้องปรับโมเดลธุรกิจ”