"ตลาดรถยนต์ไทยเดือด" แนวรบยนตรกรรม "ญี่ปุ่น-จีน"

"ตลาดรถยนต์ไทยเดือด" แนวรบยนตรกรรม "ญี่ปุ่น-จีน"

“ตลาดรถยนต์ไทยเดือด”แนวรบยนตรกรรม‘ญี่ปุ่น-จีน’ โดยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในอุตสาหกรรมรถยนต์และเศรษฐกิจโลกท้าทายความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นกับไทยโดยเฉพาะการก้าวขึ้นมามีบทบาทในเวทีเศรษฐกิจโลกของจีน

นิกเคอิ เอเชียนำเสนอสกู๊ปที่ฉายภาพตลาดรถยนต์ในประเทศไทยตอนนี้ว่าเป็นเเหมือนสมรภูมิรบอันดุเดือดของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นและค่ายรถยนต์จีน หลังจากไทย ที่ถือเป็นดีทรอยต์แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พยายามดึงดูดการลงทุนจากค่ายรถทั้งสองสัญชาติ  มาดูกันว่าการสู้รบเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดรถในสมรภูมินี้ดุเดือดแค่ไหน

รายงานชิ้นนี้เปิดประเด็นด้วยงานฉลองครบรอบการดำเนินงานเป็นปีที่ 60 ในประเทศไทยของโตโยต้า มอเตอร์ เมื่อเดือนที่แล้ว ที่ศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งในงานฉลองนี้มีการจัดแสดงรถบรรทุกไฮลักซ์รุ่นแรก  รถยนต์นั่งส่วนบุคคลโคโรลลา ปี 1970 และรถโตโยต้ารุ่นอื่นๆที่ผลิตในไทย โดยมีผู้ร่วมงานประมาณ 1,500 คน 

“อนาคตของโตโยต้าและประเทศไทยสดใสมาก และมีแนวโน้มสดใสยิ่งขึ้นในอนาคต โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าเมืองไทยเป็นเหมือนบ้านอีกหลังของผม ถ้าผมไม่ต้องทำงานที่ญี่ปุ่น ผมคงอยู่ที่นี่”อากิโอะ โตโยดะ ประธานโตโยต้า มอเตอร์ กล่าวในช่วงที่เปิดตัวรถปิคอัพขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าคันแรกของบริษัทในตลาดเกิดใหม่ 

ถ้อยแถลงของประธานโตโยต้า เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างกลุ่มบริษัทญี่ปุ่นกับประเทศไทย ซึ่งเป็นตลาดที่โตโยต้าและบริษัทใหญ่รายอื่น ๆ มองว่าเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญรองจากตลาดบ้านเกิด ปัจจุบัน แม้ประเทศอื่น ๆ ไม่ได้ลงทุนในไทยมากนัก แต่บริษัทญี่ปุ่นอย่างโตโยต้ายังทุ่มเงินลงทุนมหาศาลในไทย ซึ่งบริษัทได้สร้างศูนย์การผลิตรถระดับภูมิภาคชั้นนำเอาไว้

\"ตลาดรถยนต์ไทยเดือด\" แนวรบยนตรกรรม \"ญี่ปุ่น-จีน\"

 องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น(เจโทร)ระบุว่า โตโยต้าและบริษัทในเครือจ้างงานในประเทศไทย 275,000 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 4% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีสัดส่วนการลงทุนโดยตรง(เอฟดีไอ)ที่ 32% ของการลงทุนโดยตรงโดยรวมในไทย นับจนถึงเดือนมี.ค.ปี2565 ซึ่งถือเป็นสัดส่วนเอฟดีไอที่มากที่สุด 

แต่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในอุตสาหกรรมรถยนต์และเศรษฐกิจโลกกำลังสร้างความท้าทายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นกับไทย โดยเฉพาะการก้าวขึ้นมามีบทบาทในเวทีเศรษฐกิจโลกของจีน และความทะเยอะทะยานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของบรรดาค่ายรถไฟฟ้าจีน ที่ต้องการทำตลาดรถอีวีในไทย จนทำให้กลายเป็นคู่แข่งหลักอย่างเป็นทางการของค่ายรถญี่ปุ่นไปโดยปริยาย

ก่อนหน้าที่โตโยดะจะเยือนไทยไม่กี่เดือน บีวายดี ค่ายรถอีวีสัญชาติจีน ลงนามข้อตกลงซื้อที่ดินเกือบ1ตารางกิโลเมตรในจังหวัดระยอง ของไทยโดยจะเริ่มผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าที่นี่ในปี 2567 โดยบริษัท WHA บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม และเป็นผู้จัดจำหน่ายรถอีวีของบีวายดี กล่าวว่า นี่เป็นการทำธุรกรรมครั้งใหญ่สุดในรอบ 25 ปีของบริษัท

\"ตลาดรถยนต์ไทยเดือด\" แนวรบยนตรกรรม \"ญี่ปุ่น-จีน\"

 ข้อมูลของเจโทร ระบุว่า การลงนามข้อตกลงนี้ทำให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นนักลงทุนรายใหญ่สุดในประเทศไทยในปี 2565 ด้วย โดยเขี่ยญี่ปุ่นลงจากตำแหน่งนักลงทุนรายใหญ่สุดในไทยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2537

“สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความทะเยอทะยานของค่ายรถจีน ที่ผ่านมา นักลงทุนจีนเคลื่อนไหวในเชิงรุกมากที่สุดในตลาดรถอีวีและพวกเขามาจากตลาดที่มีการผลิตรถอีวีมากที่สุดในโลก”เดวิด นาร์ดัน ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)แผนกพัฒนาอุตสาหกรรมของ WHA  กล่าว 

รถอีวีมีสัดส่วนไม่ถึง 1% ในยอดขายรถใหม่ในประเทศไทย แต่ในเซ็กเมนท์ขนาดเล็กนี้ แบรนด์รถยนต์จีนกลับเป็นเจ้าตลาด เริ่มจากเกรท วอลล์ มอเตอร์ ซึ่งเข้าเทคโอเวอร์โรงงานผลิตรถของเจนเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) ในจังหวัดระยองในปี 2563 ครองส่วนแบ่งตลาด45% ในช่วง 9เดือนแรกของปีที่แล้ว ด้วยยอดขายรถไฟฟ้าซับคอมแพ็คราคาเอื้อมถึงรุ่นกู็ดแคท  ตามมาด้วยค่ายเอสเอไอซี มอเตอร์ ของจีนที่ครองส่วนแบ่งตลาดในสัดส่วน 24% อานิสงส์จากแบรนด์เอ็มจี ซึ่งเป็นแบรนด์รถยอดนิยมของอังกฤษ

การแข่งขันในตลาดรถยนต์ไทยเริ่มดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ โดยในเดือนก.พ.ปีที่แล้ว ฟ็อกซ์คอนน์ของไต้หวัน ประกาศแผนผลิตรถอีวีในไทยประมาณปี 2567

แต่ในสมรภูมิรบที่ดุเดือดอย่างไทยก็ใช่ว่าจะไร้ซึ่งอุปสรรคเสียทีเดียว แม้ค่ายรถทั้งสองสัญชาติเลือกเข้ามาลงทุนในไทยและไทยมีการลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) ของบริษัทต่างๆมากกว่าอินโดนีเซีย หรือเวียดนามแต่ในส่วนของการลงทุนใหม่ๆแล้วไทยยังทำได้ไม่ดีเท่าสองประเทศที่กล่าวมา นับตั้งแต่ปี 2557

นอกจากนี้ ไทยยังมีข้อเสียเปรียบด้านประชากร โดยมีประชากร 71 ล้านคนเทียบกับเวียดนามที่มีประชากร 97 ล้านคนและอินโดนีเซีย 273 ล้านคน แถมประชากรของไทยยังเป็นผู้สูงวัยมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์และคาดว่าจะเป็นแบบนี้ต่อไป ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบางคนเตือนว่า หากไทยไม่มีแรงงานใหม่ๆหรือไม่สามารถสร้างผลผลิตทางด้านอุตสาหกรรมได้มากกว่าที่เป็นอยู่ สภานะของไทยในภูมิภาคถือว่าอันตรายมาก

แต่ถึงแม้ไทยมีความเสี่ยง แต่ค่ายรถยนต์จีนและญี่ปุ่นยังคงทุ่มเทเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ 

“การแข่งขันระหว่างญี่ปุ่นและจีนส่อเค้าว่าจะรุนแรงยิ่งขึ้น ขณะที่ค่ายรถจีนย้ายฐานการผลิตมาไทยในฐานะจุดหมายปลายทางการลงทุนทางเลือกในช่วงที่ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนไม่ราบรื่นนัก”ฮาจิเมะ ยามาโมโตะ นักวิเคราะห์ด้านรถยนต์จากสถาบันวิจัยโนมูระ สาขากรุงเทพฯ ให้ความเห็น

สำหรับบริษัทต่างๆที่เป็นส่วนหนึ่งในระบบห่วงโซ่อุปทานด้านรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น มองว่าแม้สถานการณ์ที่เป็นอยู่จะมีความเสี่ยงแต่ก็เป็นโอกาสด้วยเหมือนกัน  โดยนาโอโตะ อินุซูกะ จากบริษัทเดนโซ่ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ กำลังจับตามองการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนี้

“ผมกลัวเหลือเกินว่าในระยะยาวบรรดาบริษัทญี่ปุ่นจะเสียฐานธุรกิจที่พวกเขาสร้างในไทย” อินุซูกะ กล่าว

แต่อินุซูกะ ก็มองเห็นโอกาสทางธุรกิจอย่างมากมายมหาศาลในไทยเช่นกัน “เรามองเห็นโอกาสในการทำหน้าที่จัดหาซัพพลายด้านต่างๆแก่ค่ายรถยนต์หน้าใหม่ที่จะเข้ามาในไทย รวมทั้งบีวายดี เกรท วอลล์ เอสเอไอซี และฟ็อกซ์คอนน์ และเดนโซ่ พยายามผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากบรรดาค่ายรถอีวีที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย โดยจะเริ่มกระบวนการผลิตในปี 2567-2568 และเบื้องต้นเป็นการผลิตในปริมาณน้อยๆก่อน”

คำกล่าวของอินุซูกะ มีขึ้นหลังจากเมื่อไม่นานมานี้ เขาได้มีโอกาสพาคณะเจ้าหน้าที่ของฟ็อกซ์คอนน์เยี่ยมชมโรงงานผลิตของเดนโซ่

แต่ชิ้นส่วนรถยนต์ที่เดนโซ่ผลิตในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนรถยนต์ที่ใช้กับรถขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน ขณะที่ผลผลิตของเดนโซ่ในญี่ปุ่น ครอบคลุมถึงชิ้นส่วนรถอีวีและรถไฮบริด เพราะฉะนั้นการที่จะผลิตชิ้นส่วนให้เพียงพอกับความต้องการรถอีวีที่เพิ่มขึ้นในไทย อย่างต่อเนื่อง เดนโซ่จึงต้องวางแผนปรับสายการผลิตที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะค่ายรถญี่ปุ่นรายอื่นที่มีแผนผลิตรถไฟฟ้าในไทยมี ฮอนด้า มอเตอร์ ที่ประกาศเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้วว่าจะเริ่มผลิตรถเอสยูวีขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าทั้งคันจำนวนมากในไทยในปีนี้  โดยปัจจุบัน ฮอนด้าผลิตรถยนต์นั่งโดยสาร และรถจักรยานยนต์ในไทย อินโดนีเซียและอินเดีย แต่บริษัทมีศูนย์วิจัยและพัฒนา(อาร์แอนด์ดี)เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น

เจ้าหน้าที่บริษัทฮอนด้าซึ่งไม่เปิดเผยชื่อรายหนึ่ง กล่าวว่า  ฮอนด้าตัดสินใจเข้ามามีส่วนร่วมกับการผลิตรถอีวีอย่างค่อยเป็นค่อยไป เบื้องต้นยังไม่สามารถทุ่มเม็ดเงินลงทุนในรถอีวีได้เต็มที่นอกเสียจากจะมั่นใจว่าธุรกิจรถอีวีให้ผลตอบแทนเป็นที่่น่าพอใจ และที่ผ่านมา ฮอนด้าได้ให้สัญญาแก่บรรดานักลงทุนว่า จะเพิ่มกำไรจากการดำเนินงานให้ได้ 7% ในปีงบการเงิน 2568 จาก 5% ที่คาดการณ์ไว้สำหรับปีงบการเงิน 2565