"อีเอ" แนะปรับโครงสร้างพลังานลดค่าไฟ เร่งใช้เชื้อเพลิงสะอาดดูดนักลงทุน

"อีเอ" แนะปรับโครงสร้างพลังานลดค่าไฟ เร่งใช้เชื้อเพลิงสะอาดดูดนักลงทุน

"สมโภชน์" ชี้ ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงแห่งความลำบาก บุญเก่ากำลังจะหมด ระบุนโยบายด้านพลังงานพลาดซ้ำซาก แนะรัฐปรับวิธีคิดใหม่เพื่อลดค่าไฟฟ้าได้จริง เร่งเดินหน้าดันการใช้เชื้อเพลิงสะอาด ดูดลงทุนในไทย

“เครือมติชน” จัดเสวนาใหญ่ก้าวสู่ปีที่ 46 "Thailand : New Episode บทใหม่ประเทศ 2023" โดย นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ อีเอ กล่าวเสวนา ในหัวข้อ เดินหน้า New S-curve ว่า ทุกคนน่าจะเห็นภาพแล้วว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความลำบากมาก ๆ เพราะบุญเก่าที่มีกำลังจะหมดไป ทำให้ในอีกไม่กี่ปีนี้ ไทยยังไม่สามารถทำอะไรได้แบบเป็นชิ้นเป็นอัน

“เราอาจเห็นลูกหลานไม่มีโอกาสได้เหมือนกับรุ่นของเราที่เต็มไปด้วยโอกาส ตอนนี้ความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ ไม่ได้มีโอกาสเหมือนที่เราเคยเห็นมาในอดีต แต่สิ่งที่พยายามจะบอกคือ ในวิกฤติมีโอกาสเสมอ หากเราสามารถมองภาพออกเสมอทั้งในอุตสาหกรรมหรือเศรษฐกิจ จะทำให้เห็นภาพว่าโอกาสตรงไหน แต่หากมีวิกฤตที่ต้องมีการปรับปรุง เราจะเข้าไปอยู่ในจุดนั้นได้อย่างไร”

นายสมโภชน์ กล่าวว่า ในวันที่บริษัทฯ เติบโตขึ้นมานั้น ภาพรวมอุตสาหกรรมของไทยช่วงนั้นมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เหลือเฟือมาก มีกำลังการผลิตที่มากกว่าความต้องการ (ดีมานด์) เป็น 10% ซึ่งถือเป็นการดำเนินนโยบายในการวางแผนพลังงานที่ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าในประเทศไทยวันนี้ราคาแพง รวมไปถึงการที่ประเทศไทยพึ่งพาพลังงานจากก๊าซธรรมชาติมากเกินไป ซึ่งถือว่าเราโชคไม่ดีต้องเจอการสงครามรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติจากที่อยู่ในระดับต่ำ ช่วงหลังๆ จึงปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

อีกทั้ง ยังเป็นผลของการนำเข้าเป็นจำนวนมาก แม้ไทยมีก๊าซในอ่าวไทย แต่ก็ลดลงเนื่องจากใช้มานานกว่า 40 ปีแล้ว บวกกับการส่งมอบจากผู้ประกอบการเก่าไปยังคนใหม่ไม่ต่อเนื่อง ทำให้เราต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ หากจะกลับมาพัฒนาในอ่าวไทยก็ต้องใช้เวลา เป็นสิ่งที่กำลังจะบอกว่า ค่าไฟฟ้าของเราจะไม่ลดลงง่าย ๆ หรือก็คือ เราต้องใช้ของแพงไปก่อน จนกว่าจะนำพลังงานที่ผลิตในประเทศมาใช้ได้

ราคาพลังงานในประเทศไทย ยังไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง เพราะโครงสร้างการใช้ไฟฟ้าไม่ได้เปลี่ยนแปลงมานาน ทั้งที่ผ่านมากว่า 20 ปีแล้ว รวมถึงโครงสร้างสายส่งของไทยก็ถือเป็นอุปสรรคในการทำให้อุตสาหกรรมเดินไปข้างหน้า เพราะไทยคงเป็นหนึ่งในประเทศเพียงไม่กี่ประเทศทั่วโลก ที่อุตสาหกรรมการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าแบ่งออกมาเป็น 3 การไฟฟ้า ทำให้เราไม่สามารถบูรณาการในการบริหารและผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงในมุมของภูมิรัฐศาสตร์ ที่เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป จึงต้องประเมินภาพใหม่ เพื่อมองหาการดำเนินนโยบายอย่างไร เพื่อให้ได้โอกาสกลับมา” นายสมโภชน์ กล่าว

นายสมโภชน์ กล่าวว่า สำหรับวิธีคิดในการบริหารที่ยังเริ่มจากถูกไปหาแพง แต่ยังไม่ได้มองในภาพใหญ่ว่า หากเรานำของแพงมารวมกัน อาจถูกกว่าก็ได้ ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับแนวคิดเดิม ๆ ที่มีอยู่ในอุตสาหกรรม โดยราคาค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นไม่ได้มาจากต้นทุนวัตถุดิบหรือเชื้อเพลิงอย่างเดียว แต่มาจากการที่ยังไม่ได้บริหารไปให้ถึงจุดเหมาะสมที่สุด ซึ่งเป็นช่องว่างในสังคมไทยด้วย เพราะข้อมูลที่มีอยู่ไม่ได้มีมากเท่าที่ควร และกว่าจะรู้ก็เป็นข้อมูลที่ผ่านไปแล้ว

นอกจากนี้ ปัญหาหลักของไทยในตอนนี้คือ โลกกำลังเปลี่ยนไป ทำให้จำเป็นต้องใช้พลังงานที่มีความบริสุทธิ์มากขึ้น โดยสาเหตุที่ประเทศไทย มีการเข้ามาลงทุน หรือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) เพียง 1 ใน 3 ส่วนของเวียดนามนั้น สาเหตุจุดหนึ่งคือ ค่าพลังงานของไทยที่สูงกว่า และไม่มีพลังงานสะอาดให้ใช้ เพราะอุตสาหกรรมใหม่ๆ ต้องการใช้พลังงานสะอาดในการทำธุรกิจ

ทั้งนี้ เมื่อไทยไม่มีก็ต้องเลือกไทยเป็นตัวเลือกหลัง ๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทำให้การที่ไทยมีโรงไฟฟ้าจำนวนมาก แต่เป็นพลังงานฟอสซิล มีราคาที่สูง ถือเป็นอุปสรรคที่หากเราไม่มีนโยบายพลังงานที่ชัดเจนว่าเราจะหลุดจากบ่วงกับดักนี้ได้อย่างไร เราจะเดินเหมือนเดิม และจะทำให้การลงทุนไม่เข้ามาประเทศไทย ทั้งนี้ หากประเมินจากสถิติที่ไหลเข้ามาในภูมิภาคอาเซียน กว่า 50% ไหลไปยังสิงคโปร์ ทั้งที่แทบไม่มีอะไรเลย แต่ทำไมทุกคนยังเลือกสิงคโปร์ ในการเข้าไปลงทุนมากสุดในภูมิภาคอาเซียน หมายถึงหากเรามองวิกฤติออก เราก็จะเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสได้