แบรนด์นายจ้างสีเขียว แรงดึงดูดคนรุ่นใหม่ | จตุรงค์ นภาธร

แบรนด์นายจ้างสีเขียว แรงดึงดูดคนรุ่นใหม่ | จตุรงค์ นภาธร

 งานวิจัยชิ้นหนึ่งของผู้เขียน ในเรื่องการบริหารทรัพยากรมนุษย์สีเขียว ชี้ให้เห็นว่ามากกว่าร้อยละ 70 ของคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงในยุคปัจจุบันให้ความสำคัญกับเรื่อง แบรนด์นายจ้างสีเขียว

แบรนด์นายจ้างสีเขียว (Green Employer Branding) หมายถึง ภาพลักษณ์และชื่อเสียงขององค์กรในด้านการบริหารจัดการและการดูแลเอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

ซึ่งแบรนด์นายจ้างสีเขียวถือเป็นสิ่งที่สามารถสร้างขึ้นได้จากการนำกลยุทธ์และแนวปฏิบัติด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์สีเขียว (Green Human Resource Management) มาปรับใช้ในองค์กร 

จากงานวิจัย คนรุ่นใหม่ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างจะมีความรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก หากได้รับการตอบรับเข้าทำงานในองค์กรหรือบริษัท ที่มีภาพลักษณ์และชื่อเสียงที่ดีในด้านของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการจัดการสีเขียว

นอกจากนั้น ผู้สมัครงานรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงมีแนวโน้มจะนำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่บ่งบอกถึงการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนขององค์กรมาใช้เป็นหนึ่งในเกณฑ์การตัดสินว่า องค์กรหรือบริษัทแห่งนั้นจะดูแลและปฏิบัติต่อพนักงานอย่างไรด้วย

นั่นคือผู้สมัครงานมักจะมีมุมมองว่า การที่องค์กรใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเป็นอย่างดีก็น่าจะดูแลความเป็นอยู่ของพนักงานเป็นอย่างดีด้วย

ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่มักให้ความสนใจจะร่วมงานกับองค์กรที่มีภาพลักษณ์และชื่อเสียงที่ดีในด้านการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบข้าง

ดังนั้น การสร้างแบรนด์นายจ้างสีเขียว จึงเป็นวิธีการที่มีประสิทธิผลในการสรรหาและคัดเลือกผู้ที่กำลังหางานทำหรือผู้สมัครงาน ที่มีแนวคิดในเชิงบวกเกี่ยวกับประเด็นด้านการจัดการสีเขียวและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างขององค์กรในประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์นายจ้างสีเขียวมีหลายองค์กรด้วยกัน เช่น

แบรนด์นายจ้างสีเขียว แรงดึงดูดคนรุ่นใหม่ | จตุรงค์ นภาธร

โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ซึ่งได้รับรางวัลทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติด้านการจัดการสีเขียว เช่น รางวัล ASEAN Green Hotel Standard เป็นต้น

อีกทั้งผู้บริหารของโรงแรมพยายามเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรสีเขียว โดยการจัดให้มีการประชุมระหว่างผู้บริหารและพนักงานของโรงแรมอย่างสม่ำเสมอทุกวันอังคารที่ 2 ของเดือน เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมต่าง ๆ ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมขึ้นในโรงแรมและติดตามความก้าวหน้าของกิจกรรมเหล่านั้น

อันเป็นการเสริมสร้างแบรนด์นายจ้างสีเขียวในสายตาของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ (โดยเฉพาะกลุ่มผู้สมัครงาน) ให้ดียิ่งขึ้น และแน่นอนว่าแบรนด์นายจ้างสีเขียวดังกล่าว ย่อมมีบทบาทที่สำคัญในการดึงดูดผู้สมัครงานที่มีศักยภาพและมีความสนใจที่จะปฏิบัติงานกับองค์กรหรือบริษัท ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนให้เข้ามาร่วมงานกับโรงแรมในที่สุด 

แบรนด์นายจ้างสีเขียว แรงดึงดูดคนรุ่นใหม่ | จตุรงค์ นภาธร

ศูนย์การค้าธัญญาพาร์ค เป็นอีกศูนย์การค้าหนึ่งที่ได้รับรางวัลทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติมากมาย เช่น รางวัล ASEAN Energy Award 2016 ในด้านที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

ศูนย์การค้าแห่งนี้ให้ความใส่ใจเป็นพิเศษกับการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) และการประชุมสีเขียว (Green Meeting) อีกทั้งผู้บริหารระดับสูงของศูนย์การค้ายังได้สร้างสรรค์กิจกรรมสีเขียวในรูปแบบต่าง ๆ ขึ้นมาในองค์กร และได้พยายามกระตุ้นให้พนักงานของศูนย์การค้าเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวด้วย

การดำเนินการต่าง ๆ เหล่านี้นับเป็นการเสริมสร้างให้แบรนด์นายจ้างของธัญญาพาร์คในสายตาของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ (โดยเฉพาะกลุ่มผู้สมัครงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูง) มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น 

วิสาหกิจเพื่อสังคมแดรี่โฮม เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการสร้างและพัฒนาแบรนด์นายจ้างสีเขียวโดยดำเนินการให้กระบวนการผลิตสินค้าเป็นกระบวนการสีเขียวตลอดห่วงโซ่อุปทาน

แบรนด์นายจ้างสีเขียว แรงดึงดูดคนรุ่นใหม่ | จตุรงค์ นภาธร

นอกจากนั้น แดรี่โฮมยังดำเนินการออกแบบงานให้เป็นงานที่มีคุณค่า (Decent Work) และมีการจ่ายเงินเดือน/ค่าจ้างรวมถึงผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับพนักงานอย่างยุติธรรม ทำให้แดรี่โฮมได้รับรางวัลและประกาศนียบัตรต่าง ๆ มากมายจากหน่วยงานหลายแห่ง

เช่น รางวัลเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประกาศนียบัตรอุตสาหกรรมสีเขียว (ระดับ 4) เป็นต้น รางวัลและประกาศนียบัตรเหล่านี้ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างแบรนด์นายจ้างสีเขียวให้กับแดรี่โฮมตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา 

กล่าวโดยสรุปคือ องค์กรหรือบริษัทในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ควรหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์นายจ้างสีเขียว ในฐานะที่เป็นหนึ่งในเกณฑ์ที่ผู้สมัครงานรุ่นใหม่และมีศักยภาพสูง ใช้ในการพิจารณาและวิเคราะห์ว่า องค์กรหรือบริษัทเหล่านั้นจะปฏิบัติต่อพนักงานอย่างไร

และตนเองควรจะสมัครงานและตอบรับเข้าร่วมงานกับองค์กรนั้นหรือไม่ จึงนับเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการดึงดูดและรักษาคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ อันเป็นโจทย์สำคัญของการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของทุกองค์กรนั่นเอง.