"บอร์ดอีวี" ถก 23 ม.ค. 2566 เคาะมาตรการผู้ผลิตแบตเตอรี่รับเงินอุดหนุน

ลุ้น "บอร์ดอีวี" ถก 23 ม.ค. 2566 นี้ เคาะมาตรการอุดหนุนผู้ผลิตแบตเตอรี่ในไทย เข้ารับเงินอุดหนุนตามขนาดกิโลวัตต์
ยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า (รถอีวี) กับกรมขนส่งทางบก ณ วันที่ 30 พ.ย. 2565 มีทั้งสิ้น 29,402 คัน ขณะที่สาถานีอัดประจุไฟฟ้า ณ วันที่ 20 ก.ย. 2565 มีจำนวน 869 สถานี รวม 2,572 หัวจ่าย แบ่งเป็นแบบ DC จำนวน 1,188 หัวจ่าย และ AC จำนวน 1,384 หัวจ่าย สถิตินี้เป็นดัชนีชี้วัดถึงอนาคตรถยนต์อีวีของไทย
การประชุมดังกล่าวไม่น่าจะมีการเลื่อนประชุมอีกแล้ว โดยครั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ทำหน้าที่ฝ่ายเลขาธิการบอร์ด อีกทั้ง ขณะนี้ กรมสรรพสามิต ก็ได้เตรียมข้อมูลเพื่อนำเสนอมาตรการส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานเพื่อเติมเต็มที่ เพื่อสนองนโยบายส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านให้ไปถึงเป้าหมายประเทศ อาทิ จำนวนเงินสนับสนุนที่อาจเป็นขั้นบันไดรวมถึงการและพิจารณาในหลายปัจจัย
“นโยบายภาครัฐไทยถือว่าดีมาก ๆ จะเห็นว่าที่ผ่านมาประชาชนสนใจเข้าจองรถเยอะมาก ส่วนหนึ่งมาจาก มาตรการสนับสนุนของภาครัฐที่มีความชัดเจนตั้งแต่ช่วงเดือนมี.ค. 2565 คือ นโยบายทางด้านภาษี อาทิ การลดภาษีนำเข้า การลดภาษีสรรพสามิตและการมอบเงินส่วนลดให้กับประชาชนผู้ซื้อรถอีวี 150,000 บาทต่อคัน เป็นต้น ทำให้ราคารถอีวีมีราคาเทียบเท่ารถสันดาป”
แหล่งข่าว กล่าวว่า หากวันที่ 23 ม.ค. 2566 นี้ บอร์ดอีวีเคาะมาตรการสนับสนุน เชื่อว่านายสุพัฒนพงษ์ ก็จะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามขั้นตอนต่อไปในวันที่ 24 ม.ค. 2566 ทันที เพราะมาตรการด้านแบตเตอรี่ถือเป็นเรื่องที่เอกชนหรือผู้ผลิตให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และรอความชัดเจนมาตั้งแต่ปลายปี 2565 แม้ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมจะเห็นโครงร่างที่จะมาสนับสนุนแล้วและมีการวางแผนลงทุนไปบ้างแล้ว แต่ก็คงอยากให้รัฐบาลอนุมัติแล้วบรรจุเป็นมติของรัฐบาล
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เบื้องต้นได้บรรจุวาระการประชุมช่วงสัปดาห์ที่ 3-4 ของเดือนม.ค. 2566 นี้ โดยขณะนี้คณะทำงานอยู่ระหว่างตรวจสอบรายละเอียดของมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ ที่จะต้องนำเสนอที่ประชุม เชื่อว่ามาตรการต่าง ๆ ที่จะมีการหารือจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อย่างแน่นอน โดยเฉพาะมาตรการสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตแบตเตอรี่ในประเทศ
รายงานข่าวระบุว่า กรมสรรพสามิต เตรียมนำเสนอมาตรการอุดหนุนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ประกอบด้วย
1.การอุดหนุนในระดับเซลล์ หรือการอุดหนุนตั้งแต่กระบวนการผลิตโดยเริ่มจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตจนถึงการผลิตสำเร็จ
2.การอุดหนุนในระดับ Module ซึ่งแบตเตอรี่รถยนต์จะมีหลาย Module สามารถเปลี่ยนเฉพาะ Module ที่เสื่อมสภาพได้ และ
3.การอุดหนุนราคาในระดับ Pack หรือแบตเตอรี่ทั้งลูกที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ การอุดหนุนราคาแบตเตอรี่จะคล้ายกับการอุดหนุนราคาให้กับผู้ซื้อรถอีวี โดยเงินอุดหนุนจะขึ้นอยู่กับจำนวนของกิกะวัตต์
สำหรับมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่สืบเนื่องมาจากเป้าหมายของรัฐบาลที่กำหนดว่าภายในปี2030 จะต้องมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในสัดส่วน 30% ของกำลังการผลิตรถยนต์ภายในประเทศหรือราว 6-7 แสนคัน ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีการใช้แบตเตอรี่ 6-7 แสนลูก หากแบตเตอรี่เหล่านี้เสื่อมสภาพ และกลายเป็นขยะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ ดังนั้น จำเป็นต้องหามาตรการสนับสนุนการรีไซเคิลแบตเตอรี่เก่าให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพราะในอนาคต 8 ปี เมื่อแบตเตอรี่หมดอายุก็จะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ สรรพสามิตยังมีโครงการปรับโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ ซึ่งปัจจุบันเก็บในอัตราคงที่ 8% ขณะนี้กำลังจัดทำโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ใหม่ โดยหากผู้ผลิตแบตเตอรี่มีกระบวนการรีไซเคิลที่ดีก็อาจจะเสียภาษีเพียง 1% เป็นต้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพร้อมลงทุนระบบการรีไซเคิลแบบครบวงจร
อย่างไรก็ตาม มาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ นอกเหนือจากการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ และการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์แล้ว รัฐบาลได้ให้เงินอุดหนุนผู้ซื้อรถยนต์ในวงเงินตั้งแต่คันละ 70,000-150,000 บาท โดยขึ้นอยู่กับความจุของแบตเตอรี่ และค่ายรถยนต์ที่ใช้สิทธิเงินชดเชยดังกล่าวจะต้องผลิตรถอีวีภายในประเทศชดเชยในอัตรา 1 ต่อ 1 ภายในปี 2567
โดยรัฐบาลได้ตั้งงบประมาณก้อนแรกเพื่อสนับสนุนในวงเงิน 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะจ่ายเงินอุดหนุนให้รถยนต์ไฟฟ้าได้ 20,000 คัน และคาดว่าในระยะต่อไปหรือช่วงปี 2566-2567 จะต้องของบอุดหนุนอีก 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะจ่ายเงินอุดหนุนให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าอีก 75,000 คัน โดยรถยนต์ 10,000 คัน จะใช้งบประมาณอุดหนุน 1,500 ล้านบาท คาดว่าปี 2566 จะมียอดจองรถยนต์อีวีไม่ต่ำกว่า 30,000 คันจากปี 2565 ที่คาดว่ามียอดจองเข้าร่วม 25,000 คัน ส่วนปี 2566-2567 จะมีรถยนต์เข้าร่วมมาตรการราว 75,000 คัน