“ตำแหน่งงานชื่อแปลก” ใครว่าดี? เสียโอกาสทำงาน-หางานใหม่ยาก

“ตำแหน่งงานชื่อแปลก” ใครว่าดี? เสียโอกาสทำงาน-หางานใหม่ยาก

ลูกจ้างจำนวนไม่น้อยในยุคนี้ มักได้ชื่อตำแหน่งงานแปลก ๆ ไม่ซ้ำใครหรือฟังดูดีมีระดับ ซึ่งเกิดจากภาวะ “ตำแหน่งงานเฟ้อ” หรือ “Job Title Inflation” กลยุทธ์ของบริษัทที่พยายามรั้งพนักงานที่มีศักยภาพไว้กับบริษัท แต่ขณะเดียวกันก็อาจส่งผลเสียต่อตัวพนักงานและองค์กรเช่นกัน

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดงานทั่วโลก เกิดสงครามแย่งชิงบุคลากรที่มีความสามารถ รวมถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทำให้หลายบริษัทหาทางดึงดูดและพนักงานที่มีศักยภาพ ด้วยการหาตำแหน่งใหม่ให้พนักงานเหล่านี้ที่มีชื่อฟังดูดีมีระดับ เช่น หัวหน้าฝ่ายนวัตกรรม หรือ รองประธานอาวุโส ทั้งที่เป็นตำแหน่งที่ไม่ได้มีความรับผิดชอบอะไรเพิ่มขึ้น แถมไม่มีการเลื่อนตำแหน่ง หรือขึ้นเงินเดือนแต่อย่างใด

ชอว์น โคล ประธานและผู้ร่วมก่อตั้ง Cowen Partners บริษัทค้นหาผู้บริหารและที่ปรึกษาให้ความเห็นว่า “ถึงแม้ว่าชื่อตำแหน่งงานที่ฟังดูอลังการนี้จะช่วยรักษาเหล่าพนักงานที่มีตำแหน่งสูงไว้ได้ แต่ก็สร้างปัญหาให้แก่พนักงานทั่วไปและกับตัวบริษัทเอง”

โคลอธิบายเพิ่มเติมว่า ในหลายกรณี การมีตำแหน่งใหม่งอกออกมานั้น บั่นทอนกำลังใจของพนักงานทั่วไปในหลายด้าน เช่น ความไม่เท่าเทียมกันของค่าจ้าง และความรู้สึกถูกประเมินค่าต่ำเกินไป อีกทั้งยังทำให้โครงสร้างขององค์กรขาดสมดุลจนเป็นปัญหาได้

  • รักษาคนเก่งไว้ด้วยตำแหน่งดี ๆ 

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดแรงงานมีความผันผวนสูง เพราะถึงแม้ว่าจะมีการรับสมัครงานสูงเป็นประวัติการณ์ แต่ขณะเดียวกันก็มีการปลดพนักงานที่มีศักยภาพสูงออก ทำให้แรงงานเริ่มมองหาตำแหน่งงานที่พวกเขาต้องการจริง ๆ และนายจ้างก็พร้อมจะมอบขอเสนอเหล่านั้นให้ ด้วยการตั้งชื่อตำแหน่งแปลก ๆ โดยไม่ได้บ่งบอกว่าหน้าที่การทำงานของพวกเขาคืออะไร เช่น หัวหน้าฝ่ายต่าง ๆ (Head of หรือ Cheif) ที่งอกขึ้นมาเรื่อย ๆ หรือ ผู้สร้างความสุขให้แก่ลูกค้า (customer happiness hero)

โดยปรกติแล้ว พนักงานส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ตัวว่าตนเองได้รับตำแหน่งที่ถูกจัดตั้งขึ้นจากกลยุทธ์ของบริษัท และเชื่อว่าตำแหน่งที่ได้มานี้มาจากความสามารถของพวกเขาเอง

“บริษัทต่าง ๆ กำลังเพิ่มพยายามแสดงให้บุคลากรที่มีความสามารถเห็นว่า บริษัทพยายามช่วยให้พวกเขาก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างรวดเร็วเป็น 2 เท่า เพื่อรักษาพนักงานเหล่านี้ไว้ ด้วยการเปลี่ยนตำแหน่งให้ใหม่เพื่อบ่งบอกถึงการเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แต่ตำแหน่งที่ได้มากลับไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ได้เงินเท่าเดิม ได้งานเท่าเดิมหรืออาจมากกว่าเดิม มีแต่สร้างความเจ็บปวดให้แก่พนักงาน” จอห์น วินเนอร์ ผู้ก่อตั้ง Kizen สตาร์ทอัพให้คำปรึกษาด้านการขาย

โคลกล่าวเสริมว่า การให้ตำแหน่งงานแบบนี้เป็นการขัดขวางไม่ให้พนักงานได้รับขอเสนอที่ดีกว่าจากบริษัทอื่น และทำให้พนักงานต้องติดอยู่กับบริษัทเดิมนานกว่าที่คิด เพราะไม่สามารถหางานใหม่ที่มีตำแหน่งเดียวกัน หรือใกล้เคียงได้เลย

  • สร้างความสับสนให้กับบริษัท

แนวโน้มนี้ไม่ได้ทำร้ายแค่พนักงานแต่รวมถึงบริษัทด้วย เพราะตำแหน่งที่สร้างขึ้นมาใหม่นี้อาจไม่สอดคล้องกับโครงสร้างองค์กรที่มีอยู่

“บริษัทอาจจะสร้างชื่อตำแหน่งที่ไม่เข้ากับแผนผังขององค์กรที่มีอยู่เดิม และแน่นอนว่ามันจะเป็นปัญหาเมื่อต้องเปลี่ยนชื่อตำแหน่งใหม่ให้สอดคล้องหรือจัดแผนผังใหม่” โคลกล่าว

นอกจากนี้ การเพิ่มตำแหน่งใหม่ขึ้นมาโดยเฉพาะชนิดที่ไม่มีมาก่อน ยังทำให้การทำงานยุ่งยาก ไม่สามารถย้ายแผนกหรือบริษัทได้ เนื่องจากไม่รู้ว่าตำแหน่งนี้มีไว้เพื่ออะไร

วินเนอร์ให้ความเห็นว่า “บางครั้งการพยายามรักษาคน ๆ เดียวไว้กับบริษัท อาจจะเป็นการบ่อนทำลายขวัญกำลังใจของคนทั้งบริษัทก็ได้ เพราะเมื่อมีตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งไม่สอดคล้องกับแผนกใดเลย พนักงานคนอื่นก็จะเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กรโดยรวม"

 

  • ปัญหาของชื่อตำแหน่ง

ชื่อตำแหน่งงานในประกาศรับสมัครงานที่ดูเป็นตำแหน่งใหญ่โตนั้น อาจจะดึงดูดให้คนจำนวนไม่น้อยให้สนใจมาสมัครงาน แต่ขณะเดียวกันชื่อตำแหน่งเหล่านี้อาจจะเป็นงานที่เกิดจาก “Job Title Inflation” หรือ ภาวะตำแหน่งงานเฟ้อ ที่ผู้สมัครงานไม่มีทางรู้ได้เลยว่า บริษัทต้องการหาคนเข้าไปทำงานในตำแหน่งนั้นจริง ๆ หรือ เป็นแค่ตำแหน่งที่ตั้งขึ้นมาเฉย ๆ โดยไม่ได้แตกต่างจากตำแหน่งอื่น ๆ ทำให้หลายคนไม่กล้าสมัครเพราะกลัวคุณสมบัติไม่เพียงพอ

ขณะเดียวกัน ผู้สมัครงานที่เคยทำงานอยู่ในตำแหน่งที่ถูกจัดตั้งขึ้น ก็อาจไม่ได้รับโอกาสจากที่ทำงานอื่นแม้ว่าพวกเขาจะเป็นพนักงานที่มีศักยภาพสูงก็ตาม เพียงเพราะบริษัทใหม่ไม่เข้าใจว่าตำแหน่งงานของพวกเขาคืออะไร

“ผู้สมัครบางคนอาจไม่ได้ถูกเรียกสัมภาษณ์ เพราะผู้จัดการฝ่ายหางาน (Hiring Manager) ของแต่ละบริษัท จะมองแค่ชื่อตำแหน่งที่เคยทำมาในประวัติส่วนตัว โดยไม่ได้สนใจในรายละเอียดของตำแหน่งงาน หรือไม่ได้คิดจะทำความเข้าใจว่าตำแหน่งนี้มันคืออะไร มีความสำคัญอะไรกับบริษัทของพวกเขา” โคลอธิบาย

บ่อยครั้งที่ผู้สมัครที่มีตำแหน่งชื่อแปลก ๆ จากภาวะตำแหน่งงานเฟ้อ พบว่า ตนเองมีคุณสมบัติมากกว่าที่ตำแหน่งที่สมัคร ทำให้พวกเขาเสียเวลาโดยใช้เหตุ ส่วนฝั่งบริษัทใหม่เองก็คาดหวังกับความสามารถของผู้สมัคร แต่หลายครั้งก็ไม่ได้เป็นไปตามที่ต้องการ เพราะตำแหน่งเดิมที่ผู้สมัครได้รับมานั้นไม่ได้รับรองความสามารถของพวกเขา

โคลได้ให้คำแนะนำผู้หางานควรเน้นไปที่การสร้างเรซูเม่ที่แสดงให้เห็นถึงทักษะที่มีอย่างเข้าใจได้ง่าย โดยไม่ต้องอาศัยกับชื่อตำแหน่งงานที่เข้าใจยาก แม้ว่าประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่จะทำให้รู้ว่าบริษัทที่ไปสัมภาษณ์ประทับใจในตัวคุณหรือไม่ แต่คุณสามารถสังเกตจากสิ่งอื่นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน สวัสดิการ และความยืดหยุ่นในการทำงาน 

“ทั้งสองฝ่าย ต่างหลอกตัวเองว่าวิธีเดียวที่จะทำให้พนักงานพึงพอใจกับงานที่ทำ คือ การสร้างตำแหน่งใหม่ขึ้นมา” โคลกล่าว

อย่างไรก็ตาม โคลกล่าวว่า ปัญหาภาวะตำแหน่งงานเฟ้อ กำลังลดลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากจากบริษัทต่าง ๆ ไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้องพึ่งพาตำแหน่งเหล่านี้เพื่อรักษาบุคลากรให้อยู่กับองค์กรอีกต่อไป

“นี่เป็นเรื่องที่ดีต่อทั้งบริษัทและพนักงาน เพราะมันทำให้เรากลับสู่โลกแห่งความเป็นจริง” โคลกล่าวสรุป


ที่มา: Biz Journals, Business Insider, Economist, Forbes