เปิด 7 เรื่องเด่นประเด็นดัง “พลังงาน” ปี 65

เปิด 7 เรื่องเด่นประเด็นดัง “พลังงาน” ปี 65

"กรุงเทพธุรกิจ" ขอเปิด 7 เรื่องเด่นประเด็นดังที่สุดในรอบปี 2565 ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งถือว่าเป็นปีที่มีความผันผวนของราคาพลังงานเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ สาเหตุหลักมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 บวกกับสงครามทางการเมืองระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาน้ำมันตลาดโลกที่เคยลดลงอย่างหนัก ค่อย ๆ ขยับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด โดยราคาน้ำมันดีเซล (Gas Oil) เฉลี่ยทั้งเดือนมิ.ย. 2565 ซึ่งเป็นเดือนที่ราคาสูงสุดอยู่ที่ 176.8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยทั้งเดือนมิ.ย.อยู่ที่ 113 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล กองทุนอุดหนุนน้ำมันดีเซลสูงสุดลิตรละ 14 บาท

1. ราคาดีเซลทะลุลิตรละ 35 บาท

ทั้งนี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ใช้กลไกกองทุนน้ำมันของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาพยุงราคาน้ำมันดีเซลในช่วงแรกที่ลิตรละ 30 บาท และค่อย ๆ ขยับราคาเป็นลิตรละ 32 บาท จนถึงปัจจุบันพยุงไว้ที่ลิตรละ 35 บาท พร้อมกับลดเก็บเงินสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 3 บาท และขยับมาเป็นลิตรละ 5 บาทในปัจจุบัน

ส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีน้ำมันดีเซลราวเดือนกว่า 10,000 ล้านบาท หรือรวมรายได้ที่ต้องสูญเสียจนถึงสิ้นปี 2565 รวมกว่า 80,000 ล้านบาท โดยภาษีน้ำมันถือเป็นสัดส่วนรายได้ที่ใหญ่ที่สุดของกรมสรรพสามิต ซึ่งเก็บรายได้เฉลี่ยประมาณ 200,000 ล้านบาทต่อปี

2. กองทุนน้ำมันติดลบกว่า 1.2 แสนล้าน

สำหรับสถานกองทุนน้ำมัน จากปี 2564 ที่ยังเป็นบวกกว่า 20,000 ล้านบาท เริ่มติดลบเดือนม.ค. 2565 ระดับ 5,000 ล้านบาท ซึ่ง นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการทำแผนกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมัน แต่ก็ยังไม่มีสถาบันทางการเงินไหนปล่อยกู้และกินเวลายาวมาถึงช่วงเดือนส.ค. 2565 ที่สถานกองทุนน้ำมันติดลบทะลุ 1.1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงเห็นชอบให้ขยายกรอบวงเงินกู้ที่ 1.5 แสนล้านบาท พร้อมกับให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ให้กับ สกนช. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสถาบันทางการเงินในการปล่อยสินเชื่อให้กับกองทุนน้ำมัน ส่งผลให้มีสถาบันทางการเงินที่เป็นของรัฐบาลปล่อยสินเชื่อให้แล้ว ณ วันที่ 25 ธ.ค. 2565 รวม 30,000 ล้านบาท ส่วนสถานการเงินยังคงติดลบที่ 123,155 ล้านบาท โดยกว่าจะได้เงินเข้ามากองทุนน้ำมันใช้เวลากว่า 1 ปีในการดำเนินงานเรื่องเงินกู้ 

3. รีดกำไรโรงกลั่นอุ้มน้ำมัน

จากการที่กองทุนน้ำมันติดลบทะลุ 1 แสนล้านบาท กระทรวงพลังงานจึงมีแนวคิดขอลดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย TOP, IRPC, PTTGC, BCP, ESSO, SPRC รวมเป็นเงินประมาณ 7,500 – 8,000 ล้านบาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค. – ก.ย.2565

ทั้งนี้ การเก็บเงินจากธุรกิจโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซจากกำไรการกลั่นน้ำมัน และการแยกก๊าซ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.กำไรจากการกลั่นน้ำมันดีเซลเดือนละประมาณ 5 – 6 พันล้านบาท โดยเงินส่วนนี้จะส่งเข้าสู่กองทุนน้ำมันฯ 2.กำไรจากการกลั่นน้ำมันเบนซินจะเก็บจากโรงกลั่นเดือนละ 1 พันล้านบาท โดยในส่วนนี้จะมีการเก็บเงินเพื่อไปชดเชยให้กับผู้ใช้ราคาเบนซิน โดยลดราคาน้ำมันเบนซินให้กับผู้ใช้เบนซิน 1 บาทต่อลิตร และ 3.เก็บจากกำไรของโรงแยกก๊าซ เดือนละประมาณ 1,500 ล้านบาท โดยกำไรส่วนนี้จะเก็บเข้าสู่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนเช่นกัน  

อย่างไรก็ตาม โรงกลั่นได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่งผลให้การจะนำกำไรจากโรงกลั่นออกมาจะผิดกฎระเบียนการดำเนินธุรกิจภายใต้ธรรมาภิบาล แต่มีพียง บอร์ด ปตท. ที่อนุมัติเงินช่วยเหลือ 3,000 ล้านบาท เข้ากองทุนน้ำมัน

4. ส่วนลดซื้ออีวีคันละ 7 หมื่น - 1.5 แสนบาท

ด้วยนโยบายมุ่งสู่ความเป็กลางทางคาร์บอน ปี ค.ศ. 2550 และเป้าหมาย Net Zero ปี ค.ศ. 2565 ภาครัฐจึงได้ขับเคลื่อนนโยบาย 30@30 โดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เพื่อผลักดันไทยก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ด้วยการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกหรือศูนย์กลางของภูมิภาค (EV Hub) โดยได้ ตั้งเป้าหมายการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) จึงเป็นที่มาของตัวเลข 30@30

ทั้งนี้ บอร์ดอีวีได้ออกมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 3 ประเภท ได้แก่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์และรถกระบะ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปออกกฎหมายและทำสัญญากับค่ายรถที่เข้าร่วมโดยให้เงินสนับสนุนตั้งแต่ 7 หมื่นบาท จนถึงสูงสุด 1.5 แสนบาทต่อคัน

5. ค่าไฟทยอยปรับขึ้นทะลุ 5.33 บาท

จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองต่างประเทศ ส่งผลให้ราคานำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มีราคาสูงขึ้นจากระดับ 10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ค่อย ๆ ขยับพุ่งสูงขึ้นเป็นระดับ 20-40 ดอลลารต่อล้านบีทียู ส่งผลให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีมติให้ปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือน ม.ค.–เม.ย. 2565 โดยให้เรียกเก็บที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย

และได้ปรับขึ้นค่า Ft รอบเดือน พ.ค. - ส.ค. 2565 เรียกเก็บที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 4.00 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ เดือนก.ย. - ธ.ค. 2565 มีมติปรับค่า Ft ที่หน่วย 68.66 สตางค์ มาอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บขึ้นมาอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย 

ทั้งนี้ กกพ. ได้มีมติ พิจารณาราคาค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) รอบเดือนม.ค. - เม.ย. 2566 ประเภทบ้านอยู่อาศัยที่หน่วยละ 93.43 สตางค์ ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าต้องจ่ายเฉลี่ยหน่วยละ 4.72 บาท เท่าเดิม ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น ได้แก่ กิจการขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ โรงแรม กิจการไม่แสวงหากำไร สูบน้ำเพื่อการเกษตร ไฟฟ้าชั่วคราว(ระหว่าง ก่อสร้าง) คือ อุตสาหกรรม การค้า การเกษตร การบริการ กำหนดหน่วยละ 190.44 สตางค์ ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 5.69 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 20.5% จากงวดก.ย.-ธ.ค. 2565

อย่างไรก็ตาม ปัญหาค่าไฟที่สูงขึ้นของกลุ่มธุรกิจในรอบดังกล่าวนั้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการรวมตัวยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาราคาค่าไฟในระยะยาว 5 ข้อ เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว โดยล่าสุดบอร์ดกกพ.ได้ทบทวนตัวเลขค่า Ft ใหม่ ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมจ่ายค่า Ft ที่ 154.92 สตางค์ต่อหน่วยจากเดิมที่ต้องจ่ายค่าเอฟที 190.44 สตางค์ต่อหน่วย จึงต้องจ่ายค่าไฟฟ้า 5.33 บาทต่อหน่วยในรอบบิลค่าไฟฟ้า ม.ค. - เม.ย. 2566

6. กฟผ. แบกค่าเอฟที 1.5 แสนล้าน

ทั้งนี้ จากต้นทุนผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานใช้กลไกการรับภาระค่า Ft เพื่อพยุงราคาค่าไฟไม่ให้สูงจากต้นทุนจริงราวหน่วยละ 7-8 บาท มาอยู่ในระดับหน่วยละ 4 บาท โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระถึงสิ้นปี 2565 ที่ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งกกพ. ได้จัดทำตัวเลขเพื่อคืนหนี้ให้กับกฟผ.ที่หน่วยละ 22.22 สตางค์ เป็นเวลา 3 ปี 

ซึ่งกฟผ. พร้อมแบกภาระหนี้ต่อไปอีกได้ แต่รัฐบาลจะต้องสนับสนุนงบประมาณการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ให้กฟผ. เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ หรือ ยอมให้กฟผ. งดส่งรายได้จากกำไรบางส่วนให้กับรัฐบาล ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมา กฟผ. ได้ขอชะลอการนำส่งรายได้เข้ารัฐ โดยค้างจ่ายปี 2564 อยู่ที่ 6,000 ล้านบาท และในปี2565 อีกประมาณ 17,000 ล้านบาท

7. ทุ่ม 2.3 แสนล้าน ตรึงราคาพลังงาน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในปี 2565 กระทรวงพลังงานได้ดำเนินมาตรการหลายด้าน ประกอบด้วย ด้านลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน โดยช่วยลดภาระค่า Ft ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วย รักษาระดับราคาขายปลีกดีเซล และยังคงตรึงราคาขายก๊าซ LPG ไว้ภายหลังจากทยอยปรับขึ้นให้ใกล้เคียงราคาตลาดที่แท้จริง โดยมีการช่วยเหลือผ่านกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร และผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมูลค่าการช่วยเหลือทางด้านพลังงานในปี 2565 รวมทั้งสิ้นกว่า 232,800 ล้านบาท  

พร้อมกับส่งเสริมการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมัน
ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า โครงการพลังงานทดแทนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และโครงการอื่นๆ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 260,000 ล้านบาท