กกพ. เคาะขึ้นค่าไฟภาคธุรกิจ 0.61 บาท บีบ “กฟผ.-ปตท.” ช่วยรับภาระ

กกพ. เคาะขึ้นค่าไฟภาคธุรกิจ 0.61 บาท บีบ “กฟผ.-ปตท.” ช่วยรับภาระ

กกพ. เคาะขึ้นค่าไฟภาคธุรกิจเดือนม.ค.-เม ย. 2566 หน่วยละ 154.92 สตางค์ จากรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 หน่วยละ 93.43 สตางค์ จ่ายค่าไฟเฉลี่ยหน่วยลั 4.72 บาท เป็น 5.33 บาท ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าภาคธุรกิจปรับขึ้นหน่วยละ 0.61 บาท ส่วนภาคประชาชนจ่ายเท่าเดิมที่ 4.72 บาท

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ภายหลังจากกระทรวงพลังงานให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝง่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทบทวนประมาณการสมมุติฐานราคาก๊าซธรรมชาติ ราคาน้ำมันดีเซล อัตราแลกเปลี่ยน และภาระหนี้คงค้างของ กฟผ. เพื่อบรรเทาผลกระทบผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ใช่บ้านอยู่อาศัย ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องจ่ายค่าเอฟที 154.92 สตางค์ต่อหน่วยจากมติเดิมวันที่ 14 ธ.ค. 2565 ที่ต้องจ่ายค่าเอฟที 190.44 สตางค์ต่อหน่วย ดังนั้น ผู้ใช้ไฟฟ้าในกลุ่มนี้ จึงต้องจ่ายค่าไฟฟ้า 5.33 บาทต่อหน่วยในรอบบิลค่าไฟฟ้า ม.ค. - เม.ย. 2566                               

ทั้งนี้ ที่ประชุม กกพ. เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2566 ได้พิจารณาผลการคำนวณค่าเอฟทีเพิ่มเติมอีกครั้งหลังจาก ได้พิจารณาไปแล้วในการประชุมครั้งเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2565 โดยให้ กฟผ. และ ปตท. ทบทวนประมาณการราคาก๊าซธรรมชาติ ใหม่จากเดิม 493 บาทต่อล้านบีทียู เป็น 466 บาทต่อล้านบีทียู (-27) Pool Gas เดิม 535 บาท เป็น 496 บาท ราคาน้ำมันดีเซล เดิมลิตรละ 31.94 บาท เป็น 28.22 บาท (-3.72) อัตราแลกเปลี่ยน 37 บาท เป็น 35.68 บาท (-1.32) และภาระหนี้คงค้างของ กฟผ. จากเดิมจะต้องจ่ายหนี้สะสมจากการเรียกเก็บ Ft ของ กฟผ. ที่ 122,257 ล้านบาท แบ่งเป็น 33.33 สตางค์ต่อหน่วย ระยะเวลา 2 ปี เป็น 22.22 ต่อหน่วย ทยอยเรียกเก็บคืนภายใน 3 ปี) จึงเป็นผลให้ค่า Ft เดิมอยู่ที่ 176.57 สตางค์ เป็น 145.74 สตางค์ ดังสมมุติฐานที่เปลี่ยนแปลง

กกพ. เคาะขึ้นค่าไฟภาคธุรกิจ 0.61 บาท บีบ “กฟผ.-ปตท.” ช่วยรับภาระ

ทั้งนี้ จากการปรับเปลี่ยนสมมุติฐานดังกล่าวและเพื่อเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้คงราคาค่าไฟผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยเดิมจ่ายค่า Ft ที่ 93.43 สตางค์ คงค่าไฟเฉลี่ยที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น จ่ายค่า Ft เดิม 190.44 สตางค์ ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 5.69 บาทต่อหน่วย เป็น 154.92 สตางค์ หรือจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตรา 5.33 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นจากงวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 2565 ที่จ่ายค่า Ft ที่ 93.43 สตางค์ หรือค่าไฟเฉลี่ยที่ 4.72 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้น 0.61 บาทต่อหน่วย

นายคมกฤช ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ตั้งแต่เดือนม.ค. 2566 เป็นต้นไป ผู้ใช้ไฟฟ้า 3 ประเภท จะได้รับการปรับลดอัตราค่าบริการรายเดือน ดังนี้ ประเภทบ้านอยู่อาศัยหากใช้มากกว่า 150 หน่วย เดิมจ่าย 38.22 บาท/เดือน เป็น 24.62 บาท/เดือน, ประเภทบ้านอยู่อาศัย แรงดันต่ำ อัตรา TOU  38.22 บาท/เดือน เป็น 24.62 บาท/เดือน, กิจการขนาดเล็ก แรงดันต่ำ เดิมจ่าย 46.16 บาท/เดือน เป็น 33.29 บาท/เดือน และกิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร อัตรา TOU เดิมจ่าย 228.17 บาท/เดือน เป็น 204.07 บาท/เดือน

ทั้งนี้ กฟผ. คำนวณกรณีศึกษาเพิ่มเติม โดยจัดสรรก๊าซอ่าวไทยเพื่อการผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย ราคา 237 บาทต่อล้านบีทียู ในปริมาณที่ไม่เพิ่มภาระอัตราค่าไฟฟ้าจากปัจจุบัน (รวมการทยอยคืนค่า AF ให้กับ กฟผ. 22.22 สตางค์ต่อหน่วย) ตามมติ กพช. ในสัดส่วนประมาณร้อยละ 28.16 จากการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด หรือประมาณ 64,980 ล้านบีทียู ในช่วงเดือนม.ค. – เม.ย. 2566 ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับผู้ใช้ก๊าซรายอื่นเพิ่มขึ้นเป็น 496 บาทต่อล้านบีทียู