ค่าไฟฟ้าวุ่น รัฐทุบภาคธุรกิจ “สุพัฒนพงษ์” เปิดโต๊ะเจรจาเอกชน

ค่าไฟฟ้าวุ่น รัฐทุบภาคธุรกิจ “สุพัฒนพงษ์” เปิดโต๊ะเจรจาเอกชน

“สุพัฒนพงษ์” เปิดโต๊ะเจรจา กกร.หาข้อสรุปขึ้นค่าไฟฟ้า วันนี้ กกพ.ยืนยันลดค่าไฟภาคธุรกิจลงจากเดิม ส.อ.ท. รับสภาพต้นทุนธุรกิจสูงขึ้น พร้อมเดินหน้าหารือทุกฝ่ายแก้ปัญหาระยะยาว ห่วงค่าไฟรอบใหม่หลังจากนี้ สศอ.เผยอุตสาหกรรมเหล็กต้นทุนพุ่งสุด

การปรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ได้แยกค่าไฟฟ้าครัวเรือนและภาคธุรกิจออกจากกัน คือ 1.ค่า Ft ประเภทบ้านที่อยู่อาศัย (ใช้ไฟไม่เกิน 500 หน่วย) อยู่ที่หน่วยละ 93.43 สตางค์ ทำให้ค่าไฟอยู่ที่หน่วยละ 4.72 บาท 2.ค่า Ft ประเภทผู้ใช้ไฟภาคธุรกิจหน่วยละ 190.44 สตางค์ ทำให้ค่าไฟอยู่ที่ 5.69 บาท

สำหรับการปรับค่าไฟฟ้าดังกล่าวทำให้ภาคเอกชนยื่นข้อเสนอให้ภาครัฐพิจารณาหาแนวทางแก้ไขมาตั้งแต่เดือน ส.ค.2565 ถึงปัจจุบันรวม 8 ครั้ง ในนามสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐ โดยข้อเสนอมีทั้งการขอให้ทยอยปรับค่า Ft การแก้ปัญหาต้นทุนพลังงานสูงขึ้น การบรรเทาผลกระทบจากการปรับค่า Ft และการแก้ปัญหาการติดตั้งโซลาร์รูฟของภาคธุรกิจเพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน หาทางดูแลค่าไฟฟ้าให้กับภาคธุรกิจ ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมามีทั้ง กกร. , ส.อ.ท. , สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และสมาคมโรงแรมไทย ได้ออกมาแสดงจุดยืนถึงผลกระทบจากการขึ้นค่าไฟดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2565 โดยคัดค้านการปรับขึ้น Ft ในอัตราดังกล่าว

ล่าสุดวานนี้ (28 ธ.ค.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประชุมหาข้อสรุปของการปรับลดค่า Ft ของภาคธุรกิจลง โดยพิจารณาข้อเสนอที่จะลดลงหน่วยละ 40 สตางค์ แบ่งเป็น 20 สตางค์แรก มาจากการปรับลดราคาก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รวมทั้งค่าน้ำมันดีเซล ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่วนที่เหลืออีก 20 สตางค์ พิจารณาจากปรับลดการชำระเงินคืน กฟผ.จากเดิมต้องจ่ายให้ กฟผ.หน่วยละ 33 สตางค์

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การหารือดังกล่าวได้นำเสนอ นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อนำไปหารือกับ กกร.ในวันนี้ (29 ธ.ค.) เวลา 11.00 น.เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะถึงแนวทางการแก้ปัญหาระยะยาว โดยตัวเลขที่จะลดให้ภาคธุรกิจใกล้เคียงกับข้อเสนอที่จะลดให้ 40 สตางค์

ส.อ.ท.ไม่คาดหวังหารือ“พลังงาน”

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ในการหารือกับนายสุพัฒนพงษ์ วันนี้ (29 ธ.ค.) ไม่สามารถเข้าร่วมหารือได้ เนื่องจากติดภารกิจของครอบครัวที่มีกำหนดการไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งต้องหาตัวแทนจาก ส.อ.ท.เข้าร่วมหารือ และตอนแรกก็เข้าใจว่าจะมีการหารือในวันที่ 28 ธ.ค.2565 ซึ่งเป็นวันที่ กกพ.จะทบทวนตัวเลขค่า Ft รอบ ม.ค.-เม.ย.2566

ทั้งนี้ สิ่งที่ กกร.ยังคงยืนยันหากมีการหารือ คือมติที่นำเสนอ 5 ข้อ ที่ค่อนข้างมีความชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงและแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ซึ่ง กกร. ก็ไม่ได้ต้องการมาต่อรองราคาทีละครั้ง ดังนั้น ค่าไฟฟ้าในงวด 4 เดือนที่จะเจอส่วนตัวยังคงยืนยันคำพูดเดิมคือ ขอให้อย่าให้ขึ้นค่าไฟฟ้า และให้อยู่ในระดับหน่วยละ 4.72 บาทไปก่อน ส่วนข้อเสนอ 5 ข้อ ก็อยากให้พิจารณาเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา

“อยู่ ๆ ก็เรียกหารือว่าจะคุยทั้ง กกพ.และ กกร.ซึ่งหากไปแล้วก็ไม่รู้ว่าจะได้อะไรหรือไม่ ทุกคนเตรียมวันหยุดไว้แล้ว กระทรวงพลังงานอยากออกตัวเลขมาก็ออกมาเลยถ้าคิดว่าทำตัวเลขได้แค่นี้ แล้วหลังปีใหม่ค่อยมาว่ากันอีกครั้ง เพราะวันที่ 29 ธ.ค. 2565 ก็ต้องออกตัวเลขค่า Ft มาแล้วจะมีความหมายอะไร เพราะเราไม่มีสิทธิ์แก้แล้ว และไม่ใช่หน้าที่เราจะสั่ง ซึ่งเรามีความชัดเจนแล้ว ยังคิดว่าวันที่ 28 ธ.ค. 2565 ควรจะหารือพร้อมกันด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ กกร. ยังไม่ได้รับการยืนยันการปรับลดค่า Ft เลยว่าจะลดเท่าไหร่ อีกทั้ง กกร.ได้สรุปข้อเสนอแนะทั้ง 5 ข้อแล้ว ก็หวังว่าจะเห็นด้วยกับข้อเสนอ หากข้อไหนไม่เห็นด้วยก็มาคุยกันว่าเพราะอะไร ก็ให้ชี้แจงกัน ทุกวันนี้ถ้าดูจากเนื้อข่าวตอบโต้กันไปกันมาต่างคนก็ตอบโต้กัน ข้อไหนทำได้ไม่ได้ และทำได้ระยะเวลาเป็นอย่างไร เป็นต้น ถือเป็นหารทำงานที่เป็นระบบถูกต้องและชัดเจน

เอกชนแนะหาทางแก้ระยะยาว

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า แม้ว่าสำนักงาน กกพ.จะยังไม่สรุปค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ประเภทอื่น ได้แก่ ธุรกิจ อุตสาหกรรม บริการ ตามนโยบายรัฐบาล เบื้องต้นที่มีกระแสข่าวออกมาว่า จะลดลงได้อีกประมาณ 40 สตางค์ จากเดิมต้องปรับขึ้นไปอยู่ที่อัตรา 190.44 สตางค์ต่อหน่วย หรือค่าไฟเฉลี่ยรวมเป็น 5.69 บาทต่อหน่วย นั้น

ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าขณะนี้ต้องแยกเป็น 2 เรื่อง โดยค่า Ft รอบเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ที่ กกพ.ดำเนินการมาแล้วก็คงทำเต็มที่ตามนโยบายของกระทรวงพลังงานแล้ว ซึ่งอย่างไรก็ไม่มีการแก้ไขตามกรอบที่เอกชนเสนอไป 5 ข้อ อาทิ การหาวงเงินมาพยุง หรือ การปลดล็อคการขอใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ต่อจากนี้ผู้ประกอบการเอกชนก็จะต้องตั้งหลักอีกครั้ง จากล่าสุดนายสุพัฒนพงษ์ ได้มีท่าทีต้องการหารือร่วมกับภาคเอกชนแล้วภายหลังจากที่ กกร.นำเสนอแนวทางแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงใน 5 ข้อ ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2565

ปัญหาดังกล่าว ถือเป็นภาวะที่บีบคั้นสะสมกันมานาน ตอนนี้เราได้แต่รอผลจาก กกพ.ว่าจะสรุปราคาอย่างไร ถึงแม้ว่าค่า Ft ที่ กกพ. ปรับใหม่รอบเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 จะไม่สามารถนำข้อเสนอของเอกชนมาพิจารณาก็ตาม เพราะคงจะไม่ทัน แต่หลังจากนี้กระทรวงพลังงานควรที่จะพิจารณาร่วมกันกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาคธุรกิจ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง เป็นต้น

เอกชนสุดอั้น“รัฐ”ไม่ฟังข้อเสนอ

นายอิศเรศ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเอกชนทำหนังสือขอหารือกับนายสุพัฒนพงษ์มาตั้งแต่เดือน ส.ค.2565 แต่ยังไม่ได้มีโอกาสได้คุยกัน ซึ่งตอนนี้อาจจะด้วยแรงกดดันในหลายฝ่ายทำให้ทางกระทรวงพลังงานมีสัญญาณที่ดีขึ้น แม้ว่าการหารือในข้อเสนอของเอกชนในสิ้นปีนี้จะไม่ทันก็ไม่เป็นไร แต่ต่อจากนี้ไปก็ควรตั้งหลักใหม่ เพราะค่า Ft งวดเดือน ม.ค. 2566 ก็งวดหนึ่ง แต่งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 ก็เป็นอีกงวดที่เอกชนยังคงกังวล เพราะหากกระทรวงพลังงานยังแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิม โดยใช้กรอบเดิมก็ไม่ลงตัวเท่าที่ควร ปัญหาก็จะตามมาอีกรอบ

“จากการที่เอกชนหรือประชาชนส่งเสียงไปยังรัฐบาล เรามองว่าอย่างน้อยก็เป็นการปลดล็อคว่าค่า Ft ที่จะขึ้นเต็มที่ก็เบาลง และฟังเรามากขึ้น รวมถึงมีท่าทีเชิงบวกมากขึ้น ดังนั้น การทำงานระดับผู้ใหญ่จะต้องมีกระทรวงอื่นเข้ามาช่วยด้วย ความหวังเราอยู่ตรงนี้”

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลปลดล็อคให้เอกชนมีโอกาสนำเสนอแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันเชื่อว่าจะมีทางออกที่ดีกว่าเดิมมากขึ้น เพราะทุกวันนี้ต่างคนต่างแถลงข่าวโต้กันไปโต้กันมาแล้วให้สื่อเป็นคนกลางคอยนำเสนอข่าวส่วนตัวมองว่าไม่ถูกต้อง จะเห็นได้จากการที่นายกรัฐมนตรีรับลูกและสั่งการ ส่งผลชัดเจนว่านายสุพัฒนพงษ์ มีท่าทีที่รับฟังมากขึ้น และหวังว่าจะได้หารือร่วมกันในเร็ว ๆ นี้ เพื่อให้การแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นไปถึงระยะยาวได้ตรงจุด

แนะปลดล็อค รง.4

ทั้งนี้ ส่วนตัวยังหวังว่า นโยบายประเทศไทยมุ่งสู่พลังงานทดแทน เช่น ในเรื่องของโซลาร์เซลล์ก็ควรจะปลดล็อคในเรื่องของใบอนุญาต (รง.4) ให้เร็วและง่ายขึ้น รวมถึงมาตรการด้านภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น เพื่อลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ LNG รวมถึงพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ดังนั้น หากทุกฝ่ายทำอย่างเต็มที่และหันหน้าเข้าหากัน

“กกร.รวมถึงผู้บริหารบริษัทใหญ่ๆ ได้ออกตัวเรื่องนี้ หวังว่ากระทรวงพลังงานจะไม่ยื้อเวลาแล้วไม่ทำอะไรเพราะคิดว่าจะจบ เราไม่ยอมแน่นอน ตอนนี้เราจะลงรายละเอียดของปัญหาและทางออกอย่างจริงจังเลยว่าถ้าข้อเสนอไหน เช่น อันไหนเราทำเอง อันไหนรัฐบาลซัพพอร์ทก็เดินหน้าไปพร้อมกัน เพราะรออย่างเดียวก็ไม่รอด หลังจากนี้ภาคต้องผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนฃตามบทบาทหน้าที่ของกระทรวงแต่ละกระทรวง ซึ่งเศรษฐกิจประเทศไทยเกี่ยวโยงทั้งหมด เอกชนไม่อยู่นิ่งแน่นอน เพราะกระทบหนักมานานแล้วภายหลังโควิด-19 ฟื้นตัวมา”

อุตฯ เหล็กต้นทุนพุ่งสูงสุด

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ผลการศึกษาผลกระทบต่อการขึ้นค่าไฟฟ้าต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมโดยรวม พบว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ เหล็กและเหล็กกล้าต้นทุนสูงขึ้น 14.49% รองลงมา ได้แก่ ซีเมนต์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เครื่องแต่งกาย และเซรามิค

รวมทั้งเมื่อนำอุตสาหกรรมดังกล่าวมาวิเคราะห์ต่อในมุมของการจำหน่าย โดยใช้ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) ของ สศอ.ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-ต.ค.) พบว่า ดัชนีการส่งสินค้าของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า และสิ่งทอ มีค่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นแสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรม 2 กลุ่มนี้ นอกจากได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าแล้ว ยังขายสินค้าได้น้อยลงอีกด้วย

ทั้งนี้ ในมุมของการขึ้นค่าไฟฟ้าต่อต้นทุนการผลิตจะส่งผลกระทบต่อ MSME มากกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ เนื่องจากต้นทุนการผลิตต่อหน่วยของ MSME สูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ผลิตแบบ Mass Production

สศอ.แนะลงทุนโซลาร์เซลล์

สำหรับข้อเสนอแนะสำหรับผู้ประกอบการมี 3 แนวทาง ประกอบด้วย

1.ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลงทุนใช้พลังงานหมุนเวียนภายในโรงงาน พลังงานสะอาด และพลังงานทางเลือก เพิ่มขึ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar cell)

2.การใช้พลังงานในสถานประกอบการอย่างประหยัด เช่น การใช้ไฟ LED และเปิด/ปิดไฟด้วยระบบเซนเซอร์ การใช้แสงจากธรรมชาติ และการติดพัดลมระบายอากาศ เป็นต้น

3.การบริหารการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในสถานประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยวางแผนการใช้งานพื้นที่ให้เหมาะสมกับการจัดเก็บ เช่น สร้างพื้นที่จัดเก็บไว้เหนือสำนักงานเพื่อใช้พื้นที่ทุกจุดอย่างคุ้มค่า