เปิดไทม์ไลน์ ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ 3 ปีที่เสียไป จากปมล้มประมูล

เปิดไทม์ไลน์ ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ 3 ปีที่เสียไป จากปมล้มประมูล

เปิดไทม์ไลน์ 3 ปี กับโครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ดีลพีพีพีสุดอลเวง ปรับหลักเกณฑ์คัดเลือกเป็นเหตุ “คมนาคม” กำชับต้องรอกระบวนการยุติธรรมเคาะ ก่อนลงนามสัญญา รับกระทบเปิดเดินรถล่าช้า

ก้าวสู่ปี 2566 เป็นปีที่ 3 สำหรับมหากาพย์โครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนระหว่างรับและเอกชน (พีพีพี) เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2563 ก่อนปรับหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนกลางคัน พร้อมประกาศล้มประมูล เป็นเหตุให้เอกชนยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อตรวจสอบ และทำให้ขณะนี้แม้จะจบขั้นตอนประมูลได้ตัวเอกชนรับสิทธิบริหารโครงการแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถลงนามสัญญาได้

อย่างไรก็ดี หากย้อนเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายนี้ นับตั้งแต่ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน มีดังนี้

3 ก.ค. 2563 รฟม.ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนระหว่างรับและเอกชน (พีพีพี)

10 – 24 ก.ค. 2563 ได้ขายซองเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) โดยมีผู้สนใจซื้อซองเอกสาร RFP รวม 10 ราย

27 ส.ค. 2563 นำส่งเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม (RFP Addendum) ให้เอกชนผู้ซื้อซองเอกสาร RFP ทุกราย แจ้งปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอ จากเกณฑ์พิจารณาด้านราคา 100 คะแนน เป็นประเมินให้คะแนนด้านเทคนิค 30 คะแนน และราคา 70 คะแนน

17 ก.ย. 2563 เอกชนผู้ซื้อซองเอกสาร RFP รายหนึ่ง ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอทุเลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะฉบับใหม่

19 ต.ค. 2563 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามเกณฑ์การประเมินใหม่ไว้เป็นการชั่วคราว

2 พ.ย. 2563 รฟม. และคณะกรรมการมาตรา 36 ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลมีคำพิพากษากลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ขอให้ศาลมีคำสั่งระงับคำสั่งทุเลาการบังคับของศาลปกครองชั้นต้น

9 พ.ย. 2563 รฟม.เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ มีเอกชนยื่นซอง 2 ราย

3 ก.พ. 2564 คณะกรรมการ ม.36 ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

11 ก.พ.2564 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งถอนอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

22 ก.พ. 2564 เอกชนยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการ ม.36 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในฐานกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (16) กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 165

5 พ.ค. 2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางรับคำฟ้อง

18 ส.ค.2564 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ให้จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุน

 

1 ก.ย.2564 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง กรณีห้ามมิให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม. กระทำการหรือดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนในโครงการพิพาทครั้งใหม่

24 พ.ค. 2565 รฟม.ประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 2

27 พ.ค. – 10 มิ.ย.2565 รฟม.ขายซองเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

1 ก.ค.2565 ศาลปกครองกลาง นัดพิจารณาคดีเพิกถอนมติของคณะกรรมการ ม.36 และประกาศของ รฟม.เกี่ยวกับการยกเลิกประกวดราคาในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

7 ก.ค.2565 ศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 850/2564 หมายเลขแดงที่ 1455/2565 โดยพิพากษาเพิกถอนมติของคณะกรรมการ ม.36 และประกาศของ รฟม.เกี่ยวกับการยกเลิกประกวดราคาในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยชี้ว่าเป็นมติและประกาศที่ออกโดยใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

27 ก.ค.2565 รฟม.เปิดรับข้อเสนอเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

2 ส.ค. 2565 รฟม.เริ่มเปิดซองข้อเสนอเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

8 ส.ค. 2565 ศาลปกครองกลางยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่เอกชนร้องขอ ซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองกลางได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 24 พ.ค. 2565 เป็นการดำเนินการที่เป็นไปตามขั้นตอนตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน

15 ก.ย.2565 ศาลปกครองสูงสุดนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก เกี่ยวกับมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารคัดเลือกเอกชน

16 ก.ย.2565 รฟม.ประกาศผลพิจารณาข้อเสนอเอกชน โดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุด

27 ก.ย.2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยศาลชั้นต้นได้พิจารณายกฟ้องคดีดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังมีคดีที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการรถไฟฟ้ารวม 3 คดี ประกอบด้วย

1.คดีเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะในการประมูลครั้งที่ 1 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอนัดตัดสินคดี

2.คดียกเลิกการประกวดราคา และคำสั่งของผู้ว่าการ รฟม.ที่มีคำสั่งและออกประกาศยกเลิกการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 ปัจจุบันศาลปกครองกลางได้พิพากษาเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2565 ชี้ว่าการยกเลิกประมูลผลจากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์คัดเลือกในครั้งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และปัจจุบัน รฟม.อยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด

3.คดีการกำหนดหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 2 ชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นคดีล่าสุดที่ศาลปกครองกลางรับไว้พิจารณา ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนพิจารณา ยังไม่มีกำหนดนัดไต่สวนเพิ่มเติม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกมาระบุถึงโครงการนี้ว่า เนื่องจากปัจจุบันโครงการยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม อยู่ระหว่างรอศาลปกครองพิจารณาจากกรณีที่ รฟม.ยกเลิกการประกวดราคาเมื่อปี 2564 และมีเอกชนรายหนึ่งยื่นฟ้องร้อง กระทรวงฯ ในฐานะผู้กำกับดูแล รฟม.จึงให้นโยบายไปว่า โครงการนี้ให้ดำเนินโครงการนี้เป็นไปอย่างโปร่งใส และต้องรอกระบวนการยุติธรรมที่ยังอยู่ระหว่างพิจารณาในคดี

ส่วนกรณีการรอคำตัดสินตามกระบวนการยุติธรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มล่าช้า โดยเฉพาะส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ปัจจุบันงานโยธาดำเนินการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ เนื่องจากสัญญาร่วมลงทุนรวมงานเดินรถและติดตั้งระบบตลอดเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งรวมถึงช่วงตะวันออกด้วย กระทรวงฯ มองว่ากรณีนี้เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องรอ แม้การเปิดให้บริการจะล่าช้าออกไปบ้าง เพื่อให้เกิดความรอบคอบ โปร่งใสและไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง