บทเรียน ‘วิกฤติพลังงาน’

บทเรียน ‘วิกฤติพลังงาน’

เศรษฐกิจฟื้นตัวหลังโควิด-19 คลี่คลาย ต้นทุนการผลิตพลังงานทั้ง ค่าก๊าซ และค่าไฟฟ้าก็สูงขึ้น ก่อมูลหนี้จำนวนมหาศาลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนสุดท้ายภาระที่เกิดขึ้นก็ตกอยู่กับประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ

ปี 2565 ต้องบอกว่า เป็นปีแห่งวิกฤติ แม้สถานการณ์โรคระบาดจะอ่อนกำลังลง แต่ความเปลี่ยนแปลงหลังยุคโรคระบาด กลับกลายเป็นช่องโหว่ ก่อให้เกิดวิกฤติซ้อนวิกฤติเพิ่มขึ้น วิกฤติพลังงาน เป็นเรื่องใหญ่ที่ประเทศไทยยังต้องรับมือจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นมาก กระทบเป็นทอดๆ จากภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ ไปจนถึงค่าครองชีพ โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังโควิด-19 คลี่คลาย ต้นทุนการผลิตพลังงานทั้ง ค่าก๊าซ และค่าไฟฟ้าก็สูงขึ้น ก่อมูลหนี้จำนวนมหาศาลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนสุดท้ายภาระที่เกิดขึ้นก็ตกอยู่กับประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ

แน่นอนว่า ปี 2566 ที่กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่วันข้างหน้า คาดว่า สถานการณ์ความผันผวนด้านพลังงานจะยังคงอยู่ และยังต้องติดตามสถานการณ์พลังงานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการบริหารจัดการพลังงานให้มีปริมาณเพียงพอกับแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานที่จะเพิ่มขึ้น จากการที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3-4% จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การบริโภค การลงทุน และการผลิตภาคเกษตร ซึ่งการใช้พลังงานเป็นสิ่งสำคัญ แม้จะดูเหมือนว่า สถานการณ์กำลังปรับตัวไปในทิศทางที่เป็นบวก แต่ประเทศไทยยังไม่น่าจะหลุดจากวิกฤติ ความไม่แน่นอนด้านพลังงาน

 

ล่าสุด กระทรวงพลังงาน ได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชน ในส่วนก๊าซหุงต้ม (LPG) เพื่อลดต้นทุนค่าครองชีพต่อเนื่องจากปีนี้โดยตรึงราคาขายปลีกแอลพีจีอยู่ที่ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (กก.) จนถึงวันที่ 31 ม.ค.2566 และช่วยส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม (LPG) แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึงวันที่ 31 มี.ค.2566 ขณะที่ ปตท.จะให้ส่วนลดกับร้านค้าหาบเร่ แผงลอยอาหาร ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 100 บาทต่อคนต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. 2566 ขณะที่ ยังมีความจำเป็นที่ต้องอุ้มราคาพลังงานทุกกลุ่มเอาไว้ก่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แต่การอุ้ม หรืออุดหนุนราคาพลังงานเช่นนี้ต่อไป ก็นำมาซึ่งความเสี่ยงในอนาคต รัฐบาลจะจัดการกับวิกฤติพลังงานนี้อย่างไร

ภาวะวิกฤติซ้อนวิกฤติเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้น จากความคาดหวังว่า การส่งออกที่ขยายตัวอย่างร้อนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ขณะที่การท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ สถานการณ์ของวิกฤติพลังงาน จึงกำลังกลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ของรัฐบาล และเมื่อวิกฤติพลังงานยังไม่คลี่คลายในเวลาอันใกล้ ขณะที่ ทั่วโลกต่างเดินหน้าเปิดโหมดประหยัดพลังงานอย่างเต็มที่ รัฐบาลไทยต้องมีมาตรการที่แหลมคม ชัดเจน นอกเหนือจากคาดหวังพลังประชาชนในการลดใช้พลังงานในภาพรวม ถึงเวลาที่ประเทศไทยในทุกภาคส่วนต้องช่วยกันบริหารจัดการการใช้พลังงาน ถอดบทเรียนวิกฤติพลังงานปีนี้ นำไปสู่การแก้ปัญหาวิกฤติพลังงานอย่างยั่งยืนในปีหน้า