รัฐบาลเดินหน้า EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ กรอบลงทุน 1.35 ล้านล้าน

รัฐบาลเดินหน้า EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ กรอบลงทุน 1.35 ล้านล้าน

รัฐบาลเดินหน้าโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ กรอบวงเงินลงทุน 1.35 ล้านล้านบาท ใช้แหล่งเงิน ภาครัฐ 3.3 หมื่นล้าน  รัฐวิสาหกิจ 1.3 แสนล้าน ที่เหลือเป็นการลงทุนภาคเอกชน 1.18 ล้านล้าน    รับประชากร 3.5 แสนคน  สร้างงาน 2 แสนตำแหน่ง มูลค่าจ้างงาน 1.2 ล้านล้าน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (20 ธ.ค.) ว่า ครม.รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 3/2565 เรื่อง ร่างแผนปฏิบัติการด้านโครงการศูนย์ธุรกิจเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก  (EEC )และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ กรอบวงเงินลงทุน 1.35 ล้านล้านบาท

โดยร่างแผนปฏิบัติการนี้ มีวิสัยทัศน์ "เพื่อเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการเงินระดับภูมิภาค มาตรฐานเทียบเท่าสากลภายในปี 2570 และเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 1 ใน 10 ของโลกในปี 2580" โดยมีเป้าหมายเป็นศูนย์ธุรกิจและเมืองน่าอยู่อัจฉริยะต้นแบบ สำหรับการพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะทั่วประเทศไทยในอนาคต ซึ่งดำเนินการด้วยพันธกิจ คือ

1.พัฒนาพื้นที่ศูนย์ธุรกิจศูนย์การเงิน

2.พัฒนาพื้นที่สำหรับศูนย์ราชการสำคัญ ศูนย์วิจัยและพัฒนา สถาบันการศึกษา

3.พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย น่าอยู่สำหรับคนทุกกลุ่ม

4.เป็นศูนย์ธุรกิจและเมืองน่าอยู่อัจฉริยะนำร่องที่รัฐเป็นเจ้าของที่ดิน เอกชนเป็นผู้ร่วมลงทุน และประชาชนเจ้าของพื้นที่มีส่วนร่วมในการลงทุน

ส่วนการขับเคลื่อนร่างแผนปฏิบัติการ ดำเนินการภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ออกแบบวางแผนเชิงพื้นที่เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าประสงค์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างแพลตฟอร์มข้อมูลและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างระบบเทคโนโลยีความน่าอยู่อัจฉริยะ ครบทั้ง 7 ด้าน คือ การสัญจรอัจฉริยะ (Smart Mobility) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)  ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างสภาพแวดล้อมรองรับธุรกิจ เศรษฐกิจนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา ยุทธศาสตร์ที่ 5 สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน  และยุทธศาสตร์ที่ 6 สร้างธรรมาภิบาลมาตรฐานสากล ความร่วมมือระดับนานาชาติ

 

นางสาวรัชดา กล่าวว่า ระยะเวลาในการพัฒนาโครงการ รวม 10 ปี โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2566 – 2570) พัฒนาพื้นที่ 5,795 ไร่ (ร้อยละ 40 ของพื้นที่โครงการ) เช่น พัฒนาย่านศูนย์กลางธุรกิจและศูนย์กลางการเงิน ย่านสำนักงานภูมิภาค สถานที่ราชการ และที่อยู่อาศัย ระยะที่ 2 (พ.ศ.2571 – 2572) พัฒนาพื้นที่ 4,254  ไร่ (ร้อยละ 29 ของพื้นที่โครงการ) เช่น พัฒนาส่วนต่อขยายย่านศูนย์ธุรกิจเฉพาะด้านศูนย์การแพทย์แม่นยำและการแพทย์เพื่ออนาคต ศูนย์การศึกษา ระยะที่ 3 (พ.ศ.2573 - 2575) พัฒนาพื้นที่ 4,570 ไร่ (ร้อยละ 31 ของพื้นที่โครงการ) เช่น พัฒนาพื้นที่ผสมผสานเชิงพาณิชย์และที่อยู่อาศัยและกิจการเป้าหมายต่อเนื่องจนเต็มพื้นที่โครงการ

สำหรับกรอบวงเงินลงทุนประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท ตลอดระยะเวลาโครงการ 10 ปี มีสัดส่วนการลงทุนมาจาก 3 แหล่ง คือ  1.เงินลงทุนโดยภาครัฐ ประมาณ 37,674 ล้านบาท (2.8%) เช่น ค่าชดเชยที่ดิน ค่าดำเนินการปรับพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคส่วนกลาง 2.รัฐวิสาหกิจหรือเอกชนหรือร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ประมาณ 131,119 ล้านบาท (9.7%) เช่น ระบบดิจิทัล ระบบบริหารจัดการอัจฉริยะ และระบบขนส่งสาธารณะในเมือง ระบบจัดการขยะ และ 3.ภาคเอกชน ประมาณ 1.18 ล้านล้านบาท (87.5%)

ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับจากการสร้างเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะของ EEC ได้แก่ การสร้างเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ สามารถรองรับประชากรประมาณ 350,000 คน ภายในปี 2575 รวมทั้งคนในพื้นที่เดิม

นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างงานทางตรงไม่น้อยกว่า 200,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2575 มีแรงงานทักษะสูง มีรายได้ที่สูงขึ้น และมีมูลค่าการจ้างงานกว่า 1.2 ล้านล้านบาท มีธุรกิจและบริการตามมาตรฐานสากล มีวิสาหกิจเริ่มต้น (Start-up) ประมาณ 150 -300 กิจการ  

จากมูลค่าการลงทุนโดยรวมประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท จะสามารถช่วยกระตุ้นการขยายตัวของ GDP  เพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปี และสร้างพลังทางเศรษฐกิจให้ประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 และ สินทรัพย์ที่โอนกรรมสิทธิ์กลับมาเป็นของรัฐ เมื่อสิ้นสุดสัญญา 50 ปี จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า