"รุ่งโรจน์" ถอดบทเรียนจากวิกฤติ ต้องปรับเร็ว ใช้แผนรุก-รับ และพัฒนาคน

"รุ่งโรจน์" ถอดบทเรียนจากวิกฤติ ต้องปรับเร็ว ใช้แผนรุก-รับ และพัฒนาคน

"รุ่งโรจน์" ถอดบทเรียนจากผู้รอดวิกฤติ ชี้ธุรกิจต้องปรับตัวให้เร็ว วางแผนกลยุทธ์ทั้งรุกและรับ ที่สำคัญคือการพัฒนาคนให้พร้อม

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวในงาน “INTANIA DINNER TALK 2022” จัดโดยสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ “ความยั่งยืน 3 มุมมอง survive or sustain” เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2565 ว่า ตอนนี้เรากำลังเผชิญกับโลกสองใบ ฝั่งหนึ่งเป็นโลกที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากวิกฤติ จากภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคักและการบริโภค ในขณะที่อีกฝั่งเป็นโลกที่ส่งสัญญาณเข้าสู่ภาวะถดถอย จากปัญหาเงินเฟ้อสหรัฐที่ทำให้ดอกเบี้ยพุ่งไปที่ 4% สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยนักเศรษฐศาสตร์หลายคนต่างเชื่อว่า เศรษฐกิจโลกจะถดถอย ซึ่งในไทยเองมีความน่ากังวลเรื่องหนี้ครัวเรือนที่คิดเป็นกว่า 90% ของจีดีพี รวมทั้งหนี้จากภาคการเกษตร 

"สิ่งที่ผมคาดการณ์คือสุดท้ายแล้วโลกทั้งสองใบจะมาบรรจบกัน แล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือบางที่จะฟื้นตัว ส่วนบางที่จะทรุดตัวลง ซึ่งท้ายที่สุดกลุ่มที่ฟื้นตัวก็จะได้รับผลกระทบแบบเดียวกัน ความหมายคือปีหน้าเหนื่อยแน่ๆ"  

ทั้งนี้ บทเรียนที่ได้รับจากการเผชิญหน้ากับวิกฤติโควิด 3 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน คือพฤติกรรมผู้บริโภค ที่เผยความต้องการที่แท้จริงออกมา การบริโภคที่จำเป็นเติบโตอย่างก้าวกระโดด อาทิ ฟู้ดเดลิเวอรี่ อะไรที่เกี่ยวกับสุขภาพ รวมไปถึงการเติบโตและการล่มสลายของสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งพฤติกรรมบางอย่างจะเป็นเทรนด์ซึ่งยังคงอยู่ ขณะที่บางอย่างจะเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวเท่านั้น

"สิ่งที่โควิดสอนผม คือธุรกิจที่อยู่รอดได้ในช่วงวิกฤติคือธุรกิจที่ปรับตัวเร็ว ซึ่งขณะนี้ผมยอมรับตามตรงว่าเอสซีจีกำลังเผชิญกับความท้าทายและได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากต้นทุนครึ่งหนึ่งของเอสซีจีคือพลังงานและวัตถุดิบ รวมทั้งยังเป็นช่วงวัฏจักรขาลงของธุรกิจปิโตรเคมีที่หนักที่สุดจากทั้งหมด 4 ครั้งที่ผมเคยเจอมา และยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นปัญหาที่ลากยาวแค่ไหน"

ซึ่งเอสซีจีต้องเอาตัวให้รอดก่อน โดยพยายามลดต้นทุนทุกอย่าง รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพและวางแผนการใช้จ่ายอย่างรัดกุมและคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ แต่ยังต้องมองไปในอนาคตหลังวิกฤติ คือวางแผนกลยุทธ์ทั้งรุกและรับไปพร้อมกัน ซึ่งในช่วงนี้จะเป็นการรับมากหน่อย เมื่อมีกำลังพร้อมก็เปลี่ยนมารุกมากขึ้น ทั้งเรื่องการพัฒนาสินค้ากรีน พลังงานสะอาด นวัตกรรม และออโตเมชั่น 

"ในท้ายที่สุดต่อให้วางกลยุทธ์ดีแค่ไหน สำคัญที่สุดสำหรับเอสซีจีคือผู้เล่น ซึ่งทีมที่รับกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีถึงจะฝ่าวิกฤตินี้ไปได้ ต้องมีการบริหารจัดการคน ความรู้ และวัฒนธรรมองค์กรที่จะดึงคนเก่งมาทำงานด้วย โดยใส่ใจเรื่องความหลากหลายและความยั่งยืน" 

"รุ่งโรจน์" ถอดบทเรียนจากวิกฤติ ต้องปรับเร็ว ใช้แผนรุก-รับ และพัฒนาคน