'มากอส จูเนียร์' จีบ CPF ขยายลงทุน 'สัตว์น้ำ-สุกร' ในฟิลิปปินส์

'มากอส จูเนียร์' จีบ CPF ขยายลงทุน 'สัตว์น้ำ-สุกร' ในฟิลิปปินส์

'มากอส จูเนียร์'ผู้นำฟิลิปปินส์ ใช้โอกาสช่วงประชุมเอเปค ดึง CPF ลงทุนธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการผลิตสุกรในฟิลิปปินส์ ด้านผอ.สคต. เผย ฟิลิปปินส์ เร่งดึงนักลงทุนต่างชาติ ฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิดแนะนักลงทุนไทยศึกษาข้อระเบียบ กฏหมายให้ดี

นางสาวจันทนา โชติมุณี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์  เปิดเผยว่า  หนังสือพิมพ์ Business World  ได้รายงานระบุว่า ทำเนียบประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า ในระหว่างการประชุมระหว่างประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ กับกลุ่มผู้บริหารบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (เครือซีพี) หรือ Charoen Pokphand Foods Public Co. Ltd. (CPF) ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค หรือความ ร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ครั้งที่ 29 ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย กลุ่มเครือซีพี ได้แสดงความสนใจที่จะลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการผลิตสุกรในฟิลิปปินส์ ยังแสดงความสนใจในโครงการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าของฟิลิปปินส์เพื่อเชื่อมโยงการผลิตอาหารกับผู้บริโภคชาว ฟิลิปปินส์ให้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ เครือซีพีถือเป็นนักลงทุนเอกขนรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยและสำคัญที่สุดในภาค การเกษตรของฟิลิปปินส์ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 2 พันล้านดอลลาร์  ภายใต้การลงทุนบริษัทในเครือชื่อ Charoen Pokphand Foods Philippines Corporation (CPFPC) ซึ่งเริ่มดำเนินการในประเทศฟิลิปปินส์ใน ปี 2553 จากการเช่าโรงงานผลิตอาหารสัตว์ในเมือง Guiguinto จังหวัด Bulacan

สำหรับธุรกิจเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำนอกจากโรงเพาะฟักลูกกุ้งและปลาแล้ว บริษัท CPFPC ยังได้สร้างโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำที่ทันสมัย ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศฟิลิปปินส์อีกด้วย โดยมีการผลิตอาหารสำหรับปลานิล ปลาดุก ปลานวลจันทร์ทะเล และกุ้ง ต่อมาบริษัท CPFPC ยังได้ลงทุนเพิ่มเติมในปี 2555

ทำเนียบประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ยังได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ยังได้ให้คำมั่นว่าจะปรับปรุงอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศ เนื่องจากเห็นว่า มีความสำคัญต่อการบรรลุความมั่นคงทางอาหารของฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ ประธานาธิบดียังได้กล่าวถึง การผลักดันให้มีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnerships: PPPs) มากขึ้น ในการพบปะกับกลุ่มผู้บริหารภาคธุรกิจของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญและจำเป็นต้องส่งเสริม ด้วยเหตุผลง่ายๆ เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการเองได้ และเพื่อให้ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ในเศรษฐกิจใหม่ ทั้งนี้ ณ เดือนส.ค. 2565 รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้รวบรวมโครงการ PPPs จำนวน 74 โครงการ ซึ่งมีมูลค่ารวมกันกว่า 2.25 ล้านล้านเปโซ

นางสาวจันทนา กล่าวว่า  บริษัท Charoen Pokphand Foods Philippines Corporation (CPFPC) เป็นบริษัทในเครือของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทนักลงทุนไทยที่เข้ามาลงทุนในฟิลิปปินส์ และประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยปัจจุบัน CPFPC ถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั้งสุกร และไก่เนื้อและสัตว์น้ำ ทั้งกุ้งและปลา  ของฟิลิปปินส์ที่ช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับประเทศ ฟิลิปปินส์ เป็นที่ยอมรับของประชาชนชาวฟิลิปปินส์  รวมทั้งช่วยสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่น โดยปัจจุบัน CPFPC มีการจ้างพนักงานชาวฟิลิปปินส์กว่า 3,000 คน

อีกทั้งได้ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมปศุสัตว์และสัตว์น้ำ ของฟิลิปปินส์โดยการนำเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสมัยใหม่และพ่อแม่พันธุ์ที่มีคุณภาพดีขึ้นเพื่อช่วยขยาย ผลผลิตเพื่อรองรับความต้องการ นอกจากนี้ การเข้ามาลงทุนของ CPFPC ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับ ประเทศไทย ตลอดจนสินค้าไทยอื่นๆ รวมถึงได้เสริมสร้างความสัมพันธ์ทางด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทย และฟิลิปปินส์อีกด้วย

ปัจจุบันบรรยากาศการลงทุนในฟิลิปปินส์ยังไม่สามารถฟื้นตัวดีขึ้น ประกอบกับนโยบายด้านการค้า การลงทุนของรัฐบาลฟิลิปปินส์ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ที่พยายาม ผลักดันและส่งเสริมให้มีบรรยากาศที่ดีต่อการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 และช่วยให้เกิดการจ้างงานแก่ชาวฟิลิปปินส์เพิ่มมากขึ้น

สำหรับนักลงทุนไทยรายอื่นๆ ที่สนใจเข้ามาลงทุน ในฟิลิปปินส์ ควรศึกษาสภาพตลาด กฎหมาย/กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนอย่างละเอียดรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายจัดตั้งธุรกิจ กฎหมายแรงงาน กฎหมายภาษี และอื่นๆ ประกอบการตัดสินเข้ามาลงทุน ทุกครั้ง เนื่องจากการเข้ามาลงทุนในฟิลิปปินส์ยังคงมีขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อนพอสมควร