แผลเป็น "เศรษฐกิจไทย" ยังชัด เมื่อ "ค่าครองชีพ" โตแซงรายได้

แผลเป็น "เศรษฐกิจไทย" ยังชัด เมื่อ "ค่าครองชีพ" โตแซงรายได้

เศรษฐกิจไทยแม้จะเริ่มฟื้นตัวแต่พร้อมจะเกิดปัญหาขึ้นมาได้ทุกเมื่อ เนื่องจากยังมี "ลูกหนี้" ที่ผิดนัดชำระหนี้จำนวนมาก และกลายเป็นหนี้เสีย อีกทั้ง "ค่าครองชีพ" ในไทยสูงแซงหน้า "รายได้" และในปีหน้าภาวะเงินเฟ้อก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น

เราใช้เวลากว่า 3 ปี ในการกอบกู้ "เศรษฐกิจ" จากพิษโควิด ซึ่งเป็นเวลาที่ยาวนานเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศทั่วโลก และแม้ในช่วงนี้เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤติโควิด กล่าวคือ เริ่มมีขนาด ‘จีดีพี’ ที่เท่ากับช่วงปลายปี 2562 แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘แผลเป็น’ ที่เกิดจากวิกฤติในครั้งนี้ ยังนูนเด่นชัดเจน โดยเฉพาะปัญหาหนี้ที่พอกพูนขึ้นจนหลายคนต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ที่สำคัญหนี้เหล่านี้ยังพัฒนากลายมาเป็น NPL อย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลของ ‘เครดิตบูโร’ ตอกย้ำว่า ‘แผลเป็น’ ของเศรษฐกิจไทยยังไม่สมานดีและพร้อมที่จะแตกปริจนสร้างปัญหาขึ้นมาได้ทุกเมื่อ โดย เครดิตบูโร ระบุไว้ชัดเจนว่า ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565 ประเทศไทยยังคงมีลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือรวมทั้งสิ้น 3.88 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดสินเชื่อที่ได้รับการช่วยเหลือรวม 2.98 ล้านล้านบาท

ที่สำคัญยังมีกลุ่มที่ขอความช่วยเหลือจาก ‘สินเชื่อใหม่’ ผ่านมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีก 1.35 แสนราย หรือคิดเป็นยอดสินเชื่อรวม 3.39 แสนล้านบาท 

ส่วน ภาพรวมหนี้เสียทั้งระบบที่อยู่ภายใต้ข้อมูลของเครดิตบูโรตั้งแต่ต้นปี 2565 พบว่า เริ่มทะลุระดับ 1 ล้านล้านบาทไปแล้ว โดยล่าสุดอยู่ที่ 1.09 ล้านล้านบาท ในขณะที่หนี้ซึ่งยังต้องจับตาดูเป็นพิเศษ (SM) กล่าวคือเริ่มผิดนัดชำระเกิน 30 วัน แต่ยังไม่ถึง 90 วัน หนี้กลุ่มนี้มีสัดส่วนราว 3.1%

ส่วนหนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างในปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 5.9% ซึ่งถ้าแคะดูไส้ในของหนี้เสียเหล่านี้ เกือบทั้งหมดมาจากหนี้ครัวเรือนผ่านสินเชื่อ 4 ประเภทหลัก คือ สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 

ประเด็นที่น่าห่วงยิ่งกว่า คือ ในบรรดาหนี้ครัวเรือนเหล่านี้ ‘กลุ่มเจนวาย’ หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 25-42 ปี กลายเป็นกลุ่มที่มีปัญหาการชำระหนี้มากที่สุด โดยหนี้เสียของคนกลุ่มนี้เริ่มพุ่งสูงขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งเจนวายถือเป็นกลุ่มวัยทำงาน เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หากคนกลุ่มนี้มีภาระหนี้มากย่อมส่งผลกระทบต่อภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นกัน  

มองไปปีหน้า 2566 เดิมหลายคนตั้งความหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีสวนทางกับเศรษฐกิจโลก เพราะได้ภาคการท่องเที่ยวเข้ามาช่วย แต่คำถามที่ต้องช่วยกันตอบดังๆ คือ แล้ว ‘รายได้’ ของคนกลุ่มนี้จะสูงทัน ‘ค่าครองชีพ’ ที่โตแรงขึ้นหรือไม่

ตัวอย่างที่เห็นกันชัดๆ ในปีนี้ คือ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตระดับ 3% แต่ค่าครองชีพที่สะท้อนผ่านเงินเฟ้อโตไปไกลกว่า 6% หรือสูงขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ปีหน้า ธปท. ประเมินว่า จีดีพี จะขยายตัวในระดับ 3.7% แต่สำนักวิจัยหลายๆ แห่งคาดว่าจะโตได้เพียง 2.8-3.5% ส่วนเงินเฟ้อมองตรงกันว่าจะโตไม่ต่ำกว่า 3%

ภาพเหล่านี้อาจสะท้อนได้ว่า ‘คนไทย’ โดยรวมๆ จะยังมีรายได้เติบโตกว่าค่าครองชีพเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นปัญหาการชำระหนี้จึงยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิด!