โรคมะเร็งรักษาได้ ถ้าเตรียมพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่สูงลิบ

โรคมะเร็งรักษาได้ ถ้าเตรียมพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่สูงลิบ

วงการแพทย์มีความพยายามที่จะคิดค้นวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สุดด้วยค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ขณะเดียวกันเราเองก็ควรมีการเตรียมความพร้อมด้วยการทำประกันสุขภาพและประกันโรคร้ายแรง เพื่อให้กรณีที่เจ็บป่วยจะได้เข้าถึงการรักษาอย่างทันท่วงที

10 ธันวาคม เป็นวันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ ที่ยังคงเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้น ๆ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แม้วิธีการรักษาโรคมะเร็งมีความก้าวหน้ามากขึ้นจากในอดีต แต่ก็ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงมากเช่นเดียวกัน

ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี 2561 ชี้ว่า คนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งรายใหม่ถึง 139,206 คนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 382 คน และยังมีแนวโน้มที่จำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การรับประทานอาหาร การสูบบุหรี่ การสัมผัสสารเคมีต่าง ๆ ควันจากท่อไอเสีย รวมถึงฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ล้วนกระตุ้นและก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้มากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ โรคมะเร็งปอด

โดยข้อมูลจาก Thaihealth Watch และ สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ พบว่า ในช่วงปี 2553 - 2562 อัตราการตายจากโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยภาคเหนือมีอัตราการตายสูงที่สุดด้วยอัตราการตายที่เพิ่มขึ้นถึง 1.5 เท่า จาก 20.3 คนต่อแสนประชากรในปี 2553 เป็น 30.7 คนต่อแสนประชากรในปี 2562 และรองลงมาคือกรุงเทพมหานคร โดยคาดว่าปัจจัยหลักที่เป็นตัวกระตุ้นคือปัญหามลภาวะทางอากาศที่พบมากทั้งในภาคเหนือ และกรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ตาม ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบัน ทำให้การรักษาโรคมะเร็งมีทางเลือกมากขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการรักษาโรคมะเร็งด้วย “ภูมิคุ้มกันบำบัด” (Immunotherapy) ซึ่งเป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็งด้วยการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและเพิ่มความสามารถให้เม็ดเลือดขาวสามารถดักจับและกำจัดเซลล์มะเร็งได้ แม้เซลล์มะเร็งจะซ่อนตัวหลบหลีกอยู่ การรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดนี้มีผลข้างเคียงน้อย และยังช่วยป้องกันการกลับมาของเซลล์มะเร็งได้ดีกว่าการรักษาด้วยวิธีอื่น โดยปัจจุบันมีการใช้วิธีภูมิคุ้มกันบำบัดรักษาโรคมะเร็งหลากหลายชนิด เช่น มะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอด มะเร็งไต มะเร็งศรีษะและลำคอ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง 

แต่เนื่องจากการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดยังถือว่าเป็นวิธีรักษาที่ค่อนข้างใหม่ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูง โดยหากเป็นการรักษาด้วยแอนติบอดี ไทยยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 220,000 บาทต่อสัปดาห์ คิดเป็นประมาณ 3.5 ล้านบาทต่อปี โดยในการรักษาจะกินเวลาอย่างน้อย 2 ปี นั่นแปลว่าผู้ป่วยที่ต้องการรักษาด้วยวิธีนี้จะมีค่าใช้จ่ายอย่างน้อยสูงถึง 7 ล้านบาท (ข้อมูลจาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ซึ่งยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ระหว่างการรักษาตัวอีก ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงนี้เป็นข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งในไทยยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างเต็มที่

ปัจจุบัน ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการทำการวิจัยการรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดเพื่อให้ผู้ป่วยในไทยสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพนี้ได้ด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกลง โดยทำการวิจัยการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) กลุ่มวิจัยพัฒนาแอนติบอดีเพื่อการรักษา (Anti-PD-1) 2) กลุ่มวิจัยภูมิคุ้มกันด้านเซลล์บำบัดมะเร็ง (CAR T Cell) และ 3) กลุ่มวิจัยนีโอแอนติเจนและวัคซีนต่อมะเร็ง โดยการวิจัย 2 แบบแรกอยู่ในขั้นตอนที่ 3 คือการเพาะเลี้ยงเซลล์ จากทั้งหมด 5 ขั้นตอน และคาดว่าจะนำมาใช้งานได้ในปี 2569 - 2570 ส่วนการวิจัยนีโอแอนติเจนและวัคซีนต่อมะเร็งอยู่ในขึ้นตอนที่ 1 คือวิจัยจากหนูทดลอง โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถใช้งานได้จริงในปี 2566-2573

วงการแพทย์มีความพยายามที่จะคิดค้นวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สุดด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยที่สุด ในขณะเดียวกันเราเองก็ควรมีการเตรียมความพร้อมด้วยการทำประกันสุขภาพและประกันโรคร้ายแรง เพื่อให้กรณีที่เจ็บป่วย เราจะได้เข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้อย่างทันท่วงที เพราะโรคมะเร็งยิ่งได้รับการรักษาเร็วเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ณัฐพร ธรวงศ์ธวัช AFPT Senior Wealth Manager ธนาคารทิสโก้