“จุรินทร์”พร้อมจับมือเอกชนรับมือ 4 วิกฤตโลก

“จุรินทร์”พร้อมจับมือเอกชนรับมือ  4 วิกฤตโลก

“จุรินทร์” ชี้ไทยเผชิญความท้าทาย 4 ด้าน ทั้งโควิด ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ การกีดกันทางการค้าและการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก เผย พร้อมร่วมมือเอกชนพาไทยเดินหน้าผ่านวิกฤต

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ Enhancing Trade Facilitation for Thailand Competitiveness : เปิดการค้าไทย มิติใหม่สู่สากล ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยว่า โลกและประเทศไทยยังเผชิญปัญหาและสิ่งท้าทาย อย่างน้อย 4 เรื่อง 1. ปัญหาโควิด ซึ่งยังไม่รู้ว่า จะจบลงเมื่อไร

 2.ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ที่เป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ เกิดการแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายข้าง ทำให้เกิดมวยยักษ์สองคู่ คือ 1. รัสเซีย-ยุโรป เป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เกิดวิกฤติอาหาร-พลังงาน 2.สหรัฐฯ-จีน ในทางเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลให้เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทาน วัตถุดิบในการผลิตสินค้าหลายตัวทั้งโลกทั้งห่วงโซ่อาหาร  เซมิคอนดักเตอร์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซึ่งขณะนี้มีการรวมตัวของประเทศในด้านเศรษฐกิจ ทั้ง RCEP  CPTPP  อินโด-แปซิฟิก ซึ่งประเทศไทยคงต้องแสดงจุดยืนให้มีความชัดเจนว่าจะใช้ภูมิรัฐศาสตร์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเราอย่างไร อย่างน้อยเราอยู่ในวงอาเซียนต้องจับมือกับอาเซียนให้แน่นหนาเข้มแข็ง และเรามีโอกาสอยู่ทั้ง 2 วง เพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดกับประเทศของเราในทางเศรษฐกิจ

 

3.ปัญหาการกีดกันทางการค้า ซึ่งจะมีรูปแบบใหม่เข้ามามากขึ้นในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษี การให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจแบบยั่งยืนที่นำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นผูกกับการค้าและการลงทุน เช่น มาตรการซีแบมของสหภาพยุโรป  ซึ่งเป็นเหรียญ 2 ด้านคือด้านบวกให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของโลกในอนาคต แต่อีกด้านอาจเป็นการนำเรื่องนี้เป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้า ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเตรียมรับมือ

4. การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งปี 64 เศรษฐกิจโลกขยายตัว 6% แต่ปีนี้แนวโน้มจะเหลือแค่ 3.2% และปีหน้าจะเหลือแค่ 2.7%  สะท้อนให้เห็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกลดลง อาจกระทบตัวเลขทั้งการลงทุน การค้า การส่งออกและการท่องเที่ยว ต้องเร่งจากมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนแก้ไขปัญหานี้ต่อไปในอนาคต

“แต่หลักการของผมนั้น หากปัญหาที่ไม่สามารถแก้ได้ ก็ต้องยอมรับและรอให้สถานการณ์คลี่คลาย เช่น สงครามระหว่างประเทศ แต่สำหรับปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ จะต้องเร่งผลักดันให้เต็มที่ เช่น การส่งออก เราต้องเร่งหารือกับภาคเอกชนเพื่อรับมือกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เพื่อให้ตัวเลขการส่งออกของไทยเติบโตต่อไปได้ “นายจุรินทร์ กล่าว