บทบาทเศรษฐี เมื่อโลกมี 8 พันล้านคน | ไสว บุญมา

บทบาทเศรษฐี เมื่อโลกมี 8 พันล้านคน | ไสว บุญมา

บางคนยินดีในขณะที่บางคนกังวลกับข่าวเรื่องครอบครัวมนุษย์เรามีสมาชิกเพิ่มเป็น 8 พันล้านคน ในช่วงที่มีการประชุมเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนอันเกิดจากการใช้ทรัพยากรของเรา

ความยินดีเกิดจากการมองว่ามนุษย์เราก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบไม่มีที่สิ้นสุด เทคโนโลยีใหม่เอื้อให้เด็กแรกเกิดรอดมากขึ้น มีสุขภาพดีขึ้นและมีอายุยืนยาวขึ้น ส่งผลให้โลกใช้เวลาเพียง 11 ปี เพื่อเพิ่มประชากรจาก 7 พันล้านคนเป็น 8 พันล้านคน 

บางประเทศยินดีเพราะจะมีโอกาสได้แรงงานตามความต้องการของตน เช่น แคนาดาเพิ่งประกาศว่ายินดีจะรับแรงงานจากต่างประเทศ 1.5 ล้านคนภายในอนาคตอันใกล้ และบางครอบครัวยินดีที่จะมีแรงงานมาช่วยทำมาหากิน โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำและยึดเกษตรกรรมเป็นอาชีพสำคัญ

ท่ามกลางความดีใจดังกล่าว มีความกังวลเกิดขึ้นเนื่องจากแต่ละชีวิตที่เพิ่มขึ้นมาต้องใช้ทรัพยากรโลก ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นดินเพื่อใช้ในการผลิตอาหาร น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อใช้ในเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม หรือพลังงานเพื่อใช้ในการผลิตและการดำเนินชีวิตประจำวัน 

บทบาทเศรษฐี เมื่อโลกมี 8 พันล้านคน | ไสว บุญมา

การใช้สิ่งเหล่านั้นเพิ่มขึ้นนำไปสู่การทำลายป่าเพื่อนำที่ดินมาผลิตอาหาร ทั้งที่ป่าเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ การใช้สารเคมีเพื่อทำให้ที่ดินให้ผลผลิตมากขึ้น ในขณะที่สารเคมีทำลายทั้งสุขภาพของคนและสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานจากปัจจัยที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อนที่อาจมีผลกระทบสูงถึงทำลายความอยู่ได้ของมนุษย์เอง

มองจากมุมของกรอบเวลาน่าจะเห็นว่าผู้ยินดีดูจะมีกรอบเวลาระยะสั้น ส่วนผู้กังวลมองไกลออกไปในอนาคต หรือระยะยาว ซึ่งองค์การสหประชาชาติคาดว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นต่อไปจนเกิน 1 หมื่นล้านคนก่อนจะหยุดในราวอีก 60 ปีข้างหน้า

พร้อมๆ กับข่าวการเพิ่มของประชากรและการประชุมเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับสหรัฐส่งยานอวกาศขนาดใหญ่ออกไปยังดวงจันทร์ และกลุ่มประเทศยุโรปลงทุนหาทางผลิตไฟฟ้าแสงแดดในอวกาศ เรื่องเหล่านั้นมีความเกี่ยวพันกันในด้านการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาของมนุษย์ รวมทั้งการไปนำทรัพยากรมาจากนอกโลก

และการส่งพวกเราไปตั้งอาณานิคมในดาวดวงอื่นตามแนวภาพยนตร์สายลับหัวเห็ด 007 เรื่อง Moonraker สิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยมีใครพูดถึงนอกจากมหาเศรษฐีลำดับ 1 ของโลก อีลอน มัสก์

บทบาทเศรษฐี เมื่อโลกมี 8 พันล้านคน | ไสว บุญมา

มนุษย์เรามีความสามารถในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งมีประโยชน์มาก อย่างไรก็ดี มันมักมีคำสาปแฝงมาด้วยเสมอ รวมทั้งการใช้สร้างอาวุธเพื่อฆ่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ในกรณีที่กำลังพูดถึงนี้ มันอาจทำให้มนุษย์เรานิ่งนอนใจเพราะเชื่อว่าเมื่อเวลามาถึง เราจะสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ การนิ่งนอนใจเป็นความประมาทซึ่งอาจทำให้มนุษยชาติสูญพันธุ์แบบไดโนเสาร์

ท่ามกลางความพยายามที่จะหาทางแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งยังไม่มีความแน่นอนว่าจะใช้เวลานานเท่าใดและจะมีคำสาปอย่างไรนี้ ยังมีทางที่น่าจะพิจารณาอย่างจริงจัง แต่ดูจะไม่เต็มใจทำกันนอกจากในหมู่คนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น

นั่นคือ ลดการบริโภคและการใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็นโดยเฉพาะในกลุ่มเศรษฐีซึ่งใช้ทรัพยากรแบบล้างผลาญกันแบบแทบทั่วถึง 

ข้อมูลของสถาบันสิ่งแวดล้อมแห่งกรุงสตอกโฮล์มและองค์กรเอกชนออกซ์แฟม บ่งว่าเศรษฐีหรือผู้มีรายได้สูงสุดจำนวน 1% ของประชากรโลกใช้ทรัพยากรสูงมากส่งผลให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากกว่า 2 เท่าของผู้ที่มีรายได้ต่ำจำนวน 50% ของประชากรโลก

ในสภาพเช่นนี้ มีคำถามตามมาว่าปัญหาของโลกหนักหนาสาหัสขึ้นและแก้ไขไม่ได้เพราะพฤติกรรมจำพวกทำลายล้างของเศรษฐีใช่หรือไม่ การแสวงหาเทคโนโลยีใหม่และการล้างสมองให้คนทั่วไปเชื่อว่าเศรษฐกิจยิ่งขยายตัวยิ่งดี เพราะมันจะทำให้ทุกคนมีทั้งรายได้และความสุขเพิ่มขึ้นนั้นล้วนเอื้อให้เศรษฐีมีโอกาสสร้างความร่ำรวยเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 

จึงถึงเวลาที่เศรษฐีควรจะมีบทบาทใหม่ ตนเป็นเศรษฐีเพราะมีความสามารถสูง นอกจากจะลดใช้ทรัพยากรในระดับล้างผลาญแล้ว ควรใช้ความสามารถนั้นไปในทางพิทักษ์โลกด้วย