BOI บุกโรดโชว์ญี่ปุ่น โชว์ศักยภาพ EEC - นิคมอุตสาหกรรม

BOI บุกโรดโชว์ญี่ปุ่น โชว์ศักยภาพ EEC - นิคมอุตสาหกรรม

บีโอไอ ผนึกกำลังสำนักงานอีอีซี และกนอ. เตรียมเดินสายพบปะพันธมิตรและสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น นำเสนอยุทธศาสตร์ใหม่การส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ หวังดึงให้ญี่ปุ่นขยายการลงทุนในไทยมากขึ้น

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 28 – 30 พ.ย. 2565 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดกิจกรรมชักจูงการลงทุน ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยจะเข้าร่วมหารือกับองค์กรสำคัญของรัฐและเอกชนหลายแห่ง เช่น กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศและการลงทุนของญี่ปุ่น (JETRO) หน่วยงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและนวัตกรรม (SMRJ)

สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (KEIDANREN) สมาพันธ์ธุรกิจคันไซ (KANKEIREN) หอการค้าและอุตสาหกรรมโอซาก้า (OCCI) และธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของญี่ปุ่น เพื่อหารือความร่วมมือในการผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

พร้อมกันนี้เตรียมจัดสัมมนาใหญ่ 2 ครั้ง ณ กรุงโตเกียว และกรุงโอซาก้า ในหัวข้อ “Thailand Investment Promotion Policy: NEW Economy, NEW Opportunities” โดยจะนำเสนอมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ ความคืบหน้าล่าสุดของโครงการอีอีซี และความพร้อมของนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในการรองรับการลงทุนจากญี่ปุ่น  

“การเดินทางครั้งนี้จะเป็นการผนึกกำลังหน่วยงานสำคัญที่มีบทบาทในการสนับสนุนการลงทุนของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบีโอไอ อีอีซี และ กนอ. โดยเลือกญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก เนื่องจากเป็นผู้ลงทุนรายสำคัญที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยสูงเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ และการลงทุนด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ซึ่งญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญ" นายนฤตม์กล่าว

 

รวมทั้งการส่งเสริมให้บริษัทญี่ปุ่นมาตั้งฐานด้านการวิจัยและพัฒนา และสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย และจะถือโอกาสแนะนำมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ของบีโอไอ ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) รวมถึงการแสดงศักยภาพของพื้นที่อีอีซีและนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่พร้อมรองรับการลงทุนจากญี่ปุ่นด้วย

ทั้งนี้ จากสถิติของบีโอไอในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2560 – ก.ย. 2565) ญี่ปุ่นมีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด จำนวน 1,371 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 474,790 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์เคมี โดยประเทศไทยถือเป็นแกนหลักในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทญี่ปุ่นในภูมิภาคตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา