เศรษฐกิจไทย ยัง "สุ่มเสี่ยง"

เศรษฐกิจไทย ยัง "สุ่มเสี่ยง"

ปีหน้า เศรษฐกิจประเทศไทย ยังสุ่มเสี่ยงและเปราะบาง หากจะมีปัจจัยสนับสนุนให้ตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้นได้บ้าง คงหนีไม่พ้นเรื่อง การท่องเที่ยว การลงทุนภาคเอกชน รวมไปถึงแนวโน้มที่นักลงทุนต่างประเทศเริ่มสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

ไม่ถึงเดือนกว่า ๆ เราจะก้าวสู่ปีใหม่ 2566 ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจซบเซา เงินเฟ้อลามทั่วโลก เป็นปัจจัยที่สุ่มเสี่ยงต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจอันบอบช้ำจากสถานการณ์โรคระบาด หนำซ้ำยังมีเรื่องของสงครามระหว่างประเทศ แม้ว่าวันนี้ สถานการณ์ตึงเครียดต่างๆ จะเริ่มคลี่คลาย แต่ยังมีบางส่วนที่ไม่ประมาทไม่ได้ ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป

มหาเศรษฐีระดับโลก อย่าง "เจฟฟ์ เบซอส" เจ้าของบริษัทอเมซอน รวมถึง "อีลอน มัสก์ "ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเทสลา และ "เคน กริฟฟิน" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทซิทาเดล แอลแอลซี ต่างออกมาเตือนว่า เศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยในไม่ช้า ยิ่งต้องระวัง ประมาทไม่ได้ ขนาดมหาอำนาจทางเศรษฐกิจยังเอาตัวไม่รอด ส่วนมหาอำนาจอย่าง "จีน" ก็เผชิญกับสถานการณ์โควิดที่ยังไม่หายไปง่าย ๆ จำนวนผู้ติดเชื้อมีเพิ่ม กังวลถึงขั้นว่า ปักกิ่งอาจต้องล็อกดาวน์อีกครั้งหรือไม่

สถานการณ์เศรษฐกิจโดยภาพรวม จึงยังอยู่ในภาวะเปราะบาง การประเมินของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ล่าสุด ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปีนี้ ขยายตัว 4.5% แต่ก็เป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 และไตรมาส 2 ที่ตัวเลขไม่ได้ดี เพราะเผชิญปัญหาซัพพลายเชนของภาคอุตสาหกรรมหดตัว บวกกับราคาน้ำมัน ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียยูเครน แต่ที่เศรษฐกิจไทยโตมาจากหลายปัจจัย เช่น การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน ภาคการผลิต และการท่องเที่ยว 

วานนี้ (21 พ.ย.) “กรุงเทพธุรกิจ” ร่วมกับ “ฐานเศรษฐกิจ” และ “เนชั่นทีวี” WEALTH FORUM ลงทุนอย่างไรให้รวย ในตอนหนึ่ง “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปาฐกถาพิเศษ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย 2023 ระบุว่า ปัญหาเงินเฟ้อ ยังเป็นปัญหาที่ต้องติดตาม เพราะอาจลุกลามบานปลายกลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางเศรษฐกิจของสหรัฐที่แนวโน้มไม่โตอย่างที่คาด

ส่วนประเทศเกิดใหม่และประเทศที่กำลังพัฒนาอย่าง เวียดนาม หรือมาเลเซีย อาจจะเติบโตได้ 2 ดิจิต ส่วนเศรษฐกิจประเทศไทยอยู่ในลำดับจะ Top 20-30 ของโลก ซึ่งการที่จะขยายตัวขนาด 2 ดิจิต หรือ 7-8% ต้องอาศัยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจค่อนข้างมาก

ดังนั้น ปีหน้า เศรษฐกิจประเทศไทย ยังสุ่มเสี่ยงและเปราะบาง หากจะมีปัจจัยสนับสนุนให้ตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้นได้บ้าง คงหนีไม่พ้นเรื่อง การท่องเที่ยว การลงทุนภาคเอกชน รวมไปถึงแนวโน้มที่นักลงทุนต่างประเทศเริ่มสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ภูมิศาสตร์ทำให้ภาคธุรกิจมองหาการบริหารความเสี่ยงในการผลิตของตัวเอง จึงมองประเทศที่เป็นกลาง ๆ อย่างประเทศไทย

นี่จึงเป็นโอกาสที่เราจะได้เตรียมพร้อมปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ สร้างอีโคซิสเต็มส์ให้เอื้อ ทำให้การเมืองของประเทศมีเสถียรภาพ สร้างความมั่นใจให้นักลงทุน