สศช.แถลงจีดีพีไตรมาส 3/65 ขยายตัว 4.5% คาดปีนี้จีดีพีโต 3.2% ปีหน้าโตได้ 3 -4%

สศช.แถลงจีดีพีไตรมาส 3/65 ขยายตัว 4.5% คาดปีนี้จีดีพีโต 3.2% ปีหน้าโตได้ 3 -4%

สศช.แถลงตัวเลขาจีดีพีไตรมาส 3 ปีนี้ ขยายตัว ได้ 4.5% จากการฟื้นตัวของสถานการณ์โควิด การส่งผลิตและการส่งออกขยายตัวได้ดี คาดจีดีพีปีนี้ขยายตัว 3.2% และปีหน้าขยายตัวได้ 3 - 4% นายกรัฐมนตรี พอใจมุมมอง IMF คาดการณ์เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3.7%

วันนี้ (21 พ.ย.) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์รวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3/2565 ขยายตัวได้ 4.5%

ปรับฤดูกาลขยายตัวได้ 1.2% ถือว่าเป็นการขยายตัวได้ต่อเนื่อง 4 ไตรมาสตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา รวม 9 เดือนแรก เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3.1%

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ได้อานิสงค์จาการฟื้นตัวในหลายส่วนของเศรษฐกิจต่อเนื่องจากมาตรการผ่อนคลายโควิด โดยภาคการท่องเที่ยวรวมกับภาคการส่งออกในรูปดอลลาร์ขยายตัว 6.7% ได้อานิสงค์จากภาคการท่องเที่ยวที่มีการเปิดประเทศ โดยในส่วนของภาคการผลิตมีการขยายตัวได้ 6.3% การเข้าพักแรมและด้านบริการอาหารขยายตัว 53.6% 

สศช.แถลงจีดีพีไตรมาส 3/65 ขยายตัว 4.5% คาดปีนี้จีดีพีโต 3.2% ปีหน้าโตได้ 3 -4% เสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี การว่างงานลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 1.23% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 1.37% เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 2 แสนล้านดอลลาร์ หนี้สาธารณะ 60% ของจีดีพี

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆพบว่าประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น มาเลเซีย และเวียดนามขยายตัวได้มาก ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ต่ำ ทำให้เศรษฐกิจปีก่อนหดตัวมาก ในส่วนของประเทศไทยยังคงขยายตัวได้ดีเช่นกันในระดับ 4.5%

เรื่องของอัตราเงินเฟ้อ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับสูงแม้ว่าจะมีการปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนในส่วนของสหรัฐฯ ขณะที่ยูโรโซนยังเงินเฟ้อสูง เงินเฟ้อไทยลดลงจากระดับ 6.6% เหลือ 6.4% ในเดือนที่ผ่านมา ในเรื่องของดอกเบี้ยนโยบาย ที่มีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าสหรัฐฯจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง

ส่วนความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในเรื่องของเงินเฟ้อที่สูง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่ในเรื่องของเศรษฐกิจจีนยังได้รับผลกระทบจากเรื่องของการคุมโควิด และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์

ทั้งนี้ สศช.ได้มีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกลงจาก 3.1% เหลือ 2.6% เพื่อรับการหดตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า

ส่วนภาคการท่องเที่ยวคาดว่าในปี 2565 มีรายได้จากการท่องเที่ยว 5.7 แสนล้านบาท และนักท่องเที่ยวเข้ามา 10.2 ล้านคน ปีหน้าจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 23.5 ล้านคนมีรานได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ สศช.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 อยู่ที่ 3.2% ส่วนในปี 2566 อยู่ที่ 3 – 4% โดยมีปัจจัยสนับสนุนในปี 2565 และ 2566 ได้แก่ การฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว การอนุมัติการส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งการเร่งรัดการลงทุน โดยภาครัฐต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ตามเป้าหมาย โดยในส่วนของการฟื้นตัวอีกส่วนยังมาจากการใช้จ่ายภายในประเทศ

ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้รับทราบถึงรายงานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประมาณการเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.7% ในปี 2566 จาก 2.8% ในปีนี้ พร้อมกับคาดว่าการว่างงานของไทยจะอยู่ในอัตราต่ำที่สุดในเอเชียแปซิฟิกที่ 1.0% โดยไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในเอเชียที่ IMF มองว่าเศรษฐกิจจะยังขยายตัวได้ท่ามกลางการชะลอตัวของทั่วโลกที่เผชิญกับความท้าทายจากภาวะเงินเฟ้อ และต้นทุนการครองชีพที่สูงขึ้น

 

นายกรัฐมนตรี ยินดีกับผลการประเมินของ IMF และเห็นว่าความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลมีผลสำคัญอย่างยิ่งต่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยขององค์กรทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งนับแต่สามารถจัดการกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ให้อยู่ภายใต้การควบคุมได้ รัฐบาลได้เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเฉพาะการเตรียมภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ แรงงานจำนวนมากให้พร้อมรับนักท่องเที่ยว การมีมาตรการดึงดูดนักลงทุน เปิดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ๆ มาตรการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย

 

“ในภาคการท่องเที่ยวรัฐบาล ได้เตรียมตัวมาตั้งแต่กลางปี 2564 ด้วยการนำร่องภูเก็ตแซนด์บ็อก แล้วทยอยเปิดประเทศอย่างระมัดระวัง จนถึงขณะนี้สามารถเปิดประเทศได้เต็มที่ นักท่องเที่ยวทั่วโลกก็เดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากจีนที่เป็นตลาดท่องเที่ยวสำคัญของไทยผ่อนคลายนโยบายจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งความชัดเจนของนโยบายนี้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของทั้งนักลงทุน นักท่องเที่ยว และผู้ที่ทำการประเมินประเทศไทย”น.ส.ไตรศุลี กล่าว

 

สำหรับข้อมูลประมาณการเศรษฐกิจโดย IMF ดังกล่าว ได้มีการเปิดเผยระหว่างที่นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการ IMF เยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมเวทีการประชุมผู้นำเอเปค เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่ง IMF เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกเอเปคส่วนใหญ่กำลังชะลอตัวลง และอย่างน้อย 1 ใน 3 ของโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้จีดีพีทั่วโลกในปี 2566 จะขยายตัวได้ 2.7% ชะลอลงจาก 3.2% ในปี 2565

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในบางพื้นที่ยังคงมีความสดใส โดยอาเซียนเป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งรายงานของ IMF แสดงให้เห็นว่าไทยและจีนเป็นเพียง 2 ประเทศในเอเชียที่เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2566 เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ปีก่อนหน้า ไม่นับรวมฮ่องกงและมาเก๊า