ปตท. ชี้ไทยรับมือโควิดได้ดี แนะชาติพัฒนาเทคโนฯการแพทย์เพื่ออนาคต

ปตท. ชี้ไทยรับมือโควิดได้ดี แนะชาติพัฒนาเทคโนฯการแพทย์เพื่ออนาคต

นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ขึ้นอภิปรายในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคเมื่อวันที่ 17 พ.ย. เน้นย้ำว่า "ความมั่นคงของซัพพลายเชนถือเป็นความมั่นคงด้านสุขภาพ"

บุรณิน กล่าวว่า ในมุมหนึ่งของการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เกิดการพัฒนาบริการด้านสุขภาพต่าง ๆ ทั้งยังเกิดการทำงานที่ยืดหยุ่น หรือการเวิร์กฟอร์มโฮมในหลายภาคส่วน ซึ่งการรับมือกับโควิด ประเทศไทยได้พัฒนาทักษะงานและดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ เช่น การล็อกดาวน์ จัดหาวัคซีน ตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก พัฒนายารักษาโรค และต้องขอบคุณคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลกด้วย ขณะนี้ไทยกำลังเตรียมรับมือกับการแพร่ระบาดครั้งต่อ ๆ ไปแล้ว

ปตท. ชี้ไทยรับมือโควิดได้ดี แนะชาติพัฒนาเทคโนฯการแพทย์เพื่ออนาคต

ทั้งนี้ ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในประเทศลำดับต้น ๆ ของโลกที่สามารถรับมือกับโควิด-19 และจัดหาวัคซีนให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งไทยมีแผนเป็นศูนย์การทางการแพทย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในระหว่างการแพร่ระบาดโควิด ทำให้ไทยได้ค้นพบว่า เราควรรักษาความปลอดภัยซัพพลายเชนทั้งในระดับโลกไปจนถึงระดับท้องถิ่น ควรพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ ควรให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการแพทย์ให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่สาธารณชน

นอกจากนี้ บุรณินให้ความเห็นว่า "ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานเป็นส่วนหนึ่งของความปลอดภัยด้านสุขภาพ ซึ่งความยืดหยุ่นไม่ได้หมายถึงแค่การมีบริการที่เพียงพอ แต่รวมถึงการเข้าถึงบริการนั้นด้วย"

ส่วนประเทศกำลังพัฒนา แม้อยู่ในฐานะผู้ตามไม่ใช่ผู้นำ แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชน ไทยที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาควรส่งเสริมธุรกิจวิทยาศาสตร์ และควรทำงานร่วมกับบริษัทหรือองค์กรนานาชาติ เนื่องจากเราไม่สามารถพัฒนาธุรกิจด้านนี้ได้เพียงลำพัง เช่น การสร้างเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยร่วมกับบริษัทพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งบุรณินเห็นว่า การร่วมมือกันของรัฐบาลและภาคเอกชนเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน และคาดว่าในอนาคต ภาคเอกชนจะมีบทบาทมากขึ้น

เมื่อพูดถึงการเผยแพร่ข้อมูลให้ความรู้ทางการแพทย์ บุรณินกล่าวว่า ข้อมูลนั้นเหมือนเหรียญสองด้าน ในแง่หนึ่ง ข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อแพทย์ในการติดตามผล ในทางตรงข้าม ถ้าข้อมูลส่วนตัวทางการแพทย์รั่วไหล อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ป่วย ซึ่งไทยตระหนักเรื่องนี้ดี และแนะนำว่าผู้เก็บข้อมูล ควรเก็บด้วยความใส่ใจ และข้อมูลควรนำไปใช้เพื่อติดตามผล สนับสนุน และควบคุมการแพร่ระบาดโควิด ทั้งนี้เราควรใช้ข้อมูลอดีตเพื่อพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาคต หรือพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ จากประสบการณ์ที่ปตท.เป็นบริษัทด้านพลังงาน ปตท.ได้พยายามปรับตัว บูรณาการซัพพลายเชนและข้อมูลต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ทั้งยังตัดสินใจดำเนินงานต่าง ๆ ด้วยความยุติธรรม เพราะสิ่งเหล่านี้คือหัวใจสำคัญของการรับมือปัญหาซัพพลายเชนของบริษัท นอกจากนี้ บุรณินแนะว่า บรรดาธุรกิจควรสร้าง Idle Capacity หรือกำลังผลิตสำรอง เพราะบางครั้งอาจเกิดเหตุสุดวิสัยได้เสมอ ซึ่งหากเราไม่สามารถปกป้องความปลอดภัยทางสุขภาพได้ เราคงไม่สามารถดำเนินเศรษฐกิจและสังคมต่อไปได้

เมื่อถามถึงความร่วมมือของรัฐบาลและภาคเอกชนในการให้ข้อมูลด้านสุขภาพ บุรณินให้ความเห็นว่า ประเทศไทยเต็มไปด้วยโซเชียลมีเดีย เป็นเทศที่เปิดกว้างและเปิดรับหลายแอพพลิเคชัน ยอมรับว่า ในช่วงแรกที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 มีข้อมูลเท็จเผยแพร่ด้วย และประชาชนหลายคนยังไม่เข้าใจข้อมูลด้านสุขภาพดีนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนโควิดแพร่ระบาดลดลง ประชาชนมีความเข้าใจต่อสารที่ได้รับจากรัฐบาล เอกชน และองค์การอนามัยโลกมากขึ้น

นอกจากนี้ บุรณินแนะนำว่า การเผยแพร่ข้อมูลควรใช้ถ้อยคำที่เป็นทางการ แต่สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย และมีความจริงใจ เพื่อคลายความกังวลของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยยึดมั่นในการเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณชนเสมอมา