พนักงานทวิตเตอร์แห่ลาออก หลัง "อีลอน มัสก์" ยื่นคำขาดอยู่ต่อต้องทำงานหนัก

พนักงานทวิตเตอร์แห่ลาออก หลัง "อีลอน มัสก์" ยื่นคำขาดอยู่ต่อต้องทำงานหนัก

พนักงานทวิตเตอร์จำนวนมากพร้อมใจกันลาออกเมื่อวานนี้ (17 พ.ย.) หลัง นายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของคนใหม่ของทวิตเตอร์ได้ยื่นคำขาดว่า หลังจากนี้พวกเขาจะต้องเต็มใจยอมรับสภาพแวดล้อมในการทำงานที่หนักหน่วง

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานโดยอ้างอิงข้อความจากแอปพลิเคชันสแล็ค ภายในองค์กรทวิตเตอร์ว่า วิศวกร และพนักงานคนอื่นๆ จำนวนมากได้ทยอยโพสต์ข้อความบอกลาในกลุ่มแชท "วอเตอร์คูลเลอร์ (watercooler)" จนถึงช่วงเวลาประมาณ 17.00 น.ตามเวลาท้องถิ่นของวันพฤหัสบดี (17 พ.ย.) ซึ่งเป็นกำหนดเส้นตายที่นายมัสก์ได้แจ้งไว้ล่วงหน้า 1 วัน

แหล่งข่าวซึ่งเป็นพนักงานจากทวิตเตอร์ 3 คนได้บอกกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซี ว่า พวกเขาทั้งสามมีแผนจะลาออกในวันพฤหัสบดี (17 พ.ย.) และไม่ทราบว่าจะมีพนักงานที่ลาออกอีกจำนวนเท่าใด

หนึ่งในพนักงานทวิตเตอร์ กล่าวว่า "รถไฟออกจากชานชาลาแล้วใน #social-watercooler" ซึ่งเป็นการกล่าวถึงห้องสนทนาในแอปพลิเคชันสแล็ค (Slack) ที่พนักงานทวิตเตอร์ใช้งานในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อแจ้งให้ผู้อื่นทราบว่าพวกเขากำลังจะลาออก

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า เมื่อวันพุธ (16 พ.ย.) นายมัสก์ได้ส่งอีเมลไปทั่วบริษัท เพื่อบอกให้พนักงานเตรียมพร้อมรับกับชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และหนักหน่วง หากพวกเขาต้องการอยู่ต่อ โดยให้เวลาถึง 17.00 น.ของวันพฤหัสบดี ที่จะตัดสินใจ ก่อนที่จะตามมาด้วยอีเมลอีก 2-3 ฉบับที่ระบุว่า ผู้จัดการต้องพบปะกับพนักงานด้วยตนเองสัปดาห์ละครั้ง หรืออย่างน้อยเดือนละครั้ง และผู้จัดการอาจถูกไล่ออกหากอนุญาตให้พนักงานทำงานจากระยะไกล โดยพนักงานเหล่านั้นจะไม่ได้รับการรับรองตามความเห็นของเขาว่าเป็นพนักงานที่ "ยอดเยี่ยม" หรือ "พิเศษ"

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระบุว่า นายมัสก์ยังคงขอให้วิศวกรระดับสูงบางคนที่เลือกจะลาออกให้พิจารณาอยู่ทำงานกับบริษัทต่อไปด้วย

ทั้งนี้ กระแสการลาออกครั้งล่าสุดผนวกกับการเลิกจ้างจำนวนมาก และการลาออกจากทวิตเตอร์โดยสมัครใจ ทำให้ทวิตเตอร์มีขนาดเล็กกว่าตอนที่นายมัสก์ เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอในปลายเดือนต.ค.อย่างมาก

วิศวกรคนหนึ่ง กล่าวว่า การลาออกส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานด้านวิศวกรรมที่สำคัญของทวิตเตอร์

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์