ชวนส่อง! กลุ่มทุน-ตระกูลดัง เจ้าของ 19 โรงแรมหรู ที่พัก "ผู้นำ" ร่วม APEC 2022

ชวนส่อง! กลุ่มทุน-ตระกูลดัง เจ้าของ 19 โรงแรมหรู ที่พัก "ผู้นำ" ร่วม APEC 2022

ชวนสำรวจเจ้าของ 19 โรงแรมหรู ซึ่งเป็นที่พักของเหล่าผู้นำระดับโลกที่มาร่วมงาน “APEC 2022 Thailand” เป็นของกลุ่มทุน-ตระกูลดัง ของใครบ้าง

การประชุม APEC 2022 Thailand เริ่มต้นขึ้นแล้ว ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565 โดยเหล่า “VVIP” ที่ประกอบด้วย “ผู้นำ” จาก 14 เขตเศรษฐกิจ และระดับ “ผู้แทน” อีก 6 เขตเศรษฐกิจที่เดินทางมาเยือนไทยนั้น ทางการไทยได้จัดเตรียม “โรงแรมหรู” ให้เป็นที่พำนักระหว่างที่อยู่ในประเทศไทย

“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จะพาไปดูกันว่า ทั้ง 19 โรงแรมหรูที่จะได้ต้อนรับแขกคนสำคัญของประเทศในครั้งนี้ มีสตอรีความน่าสนใจอย่างไร และปัจจุบันอยู่ในมือของกลุ่มธุรกิจใด... ตามไปดูกัน!

  • กลุ่มธุรกิจในเครือสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

3 โรงแรมแรกที่จะกล่าวถึง อยู่ภายใต้การดำเนินงานของสองบริษัท คือ บริษัท เคมปิน สยาม จำกัด และ บริษัท สยามสินธร จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจภายใต้เครือสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

เริ่มจาก โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ ดำเนินงานโดย บริษัท เคมปิน สยาม จำกัด เป็นโรงแรมสุดหรูใต้ร่ม “เคมปินสกี้” แบรนด์โรงแรมที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรป ตั้งอยู่บนทำเลทองใจกลางกรุงเทพฯ ติดกับศูนย์การค้าสยามพารากอน

จุดเด่น คือ เป็นโรงแรมสไตล์รีสอร์ท โดยออกแบบให้สระว่ายน้ำฟรีฟอร์มและสวนร่มรื่นอยู่ตรงกลาง ทำให้มองเห็นวิวสระว่ายน้ำได้จากห้องพักทุกห้อง

ด้าน บริษัท สยามสินธร จำกัด อีกหนึ่งบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก็มี 2 โรงแรมหรูระดับ 5 ดาวอยู่ในพอร์ตธุรกิจ คือ โรงแรมคิมป์ตัน มาลัย กรุงเทพฯ ที่บริหารงานโดยเชน IHG เจ้าของแบรนด์ “คิมป์ตัน” ถือเป็นโรงแรมหรูแนวบูทีค

ขณะที่ โรงแรมสินธร เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ บริหารโดยแบรนด์ “เคมปินสกี้” นั้น ก็โดดเด่นเรื่องดีไซน์อาคารทรงโค้งมนรับกับสวนด้านหน้า โดยทั้งสองโรงแรมตั้งอยู่ข้างๆ กัน ภายใน “สินธร วิลเลจ” โครงการมิกซ์ยูสยักษ์ใหญ่ย่านหลังสวน

  • แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) ของ “ตระกูลสิริวัฒนภักดี”

สำหรับ แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น (AWC) บริษัทในเครือทีซีซี กรุ๊ป (TCC Group) ของ “ตระกูลสิริวัฒนภักดี” ของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี นั้น เรียกได้ว่า เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ลำดับต้นของไทย มีทั้ง 19 โรงแรม, 9 กลุ่มศูนย์การค้า, 4 อาคารสำนักงาน บริหารงานโดย “วัลลภา ไตรโสรัส” ทายาทคนที่ 2 ของ เจ้าสัวเจริญ และ คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ซึ่งปัจจุบันรั้งตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC

ในส่วนของโรงแรมที่จะได้ต้อนรับผู้นำเอเปคในรอบนี้ มี 3 โรงแรมด้วยกันที่เป็นของ AWC ประกอบด้วย โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล บนถนนวิทยุ , โรงแรม ดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ ตั้งอยู่ภายใน อาคาร ปาร์คเวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์ ใจกลางย่านธุรกิจบนถนนวิทยุ และ โรงแรม แบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค อยู่ในซอยสุขุมวิท 22 ติดกับ “สวนเบญจสิริ”

  • ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ของ “วิลเลียม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค”

บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่มีตั้งแต่ธุรกิจพักผ่อน ร้านอาหาร และไลฟ์สไตล์ที่จัดว่า “ใหญ่ที่สุด” รายหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ก่อตั้ง และบริหารงานโดย "วิลเลียม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค" หรือที่รู้จักกันว่า "บิล ไฮเน็ค" นักธุรกิจหมื่นล้าน ที่วันนี้เปลี่ยนมาใช้สัญชาติไทยโดยสมบูรณ์แล้ว

ธุรกิจของไมเนอร์มีหลากหลายมาก แต่ในส่วนของ “ไมเนอร์ โฮเทลส์” นั้น ก็มีทั้งธุรกิจในรูปแบบเป็นเจ้าของ บริหารจัดการ และร่วมลงทุน โดยมีโรงแรมในเครือทั้งสิ้นกว่า 520 แห่งและมีจำนวนห้องพักรวมกว่า 75,000 ห้อง กระจายตัวอยู่ใน 56 ประเทศทั่วโลก ภายใต้เครื่องหมายการค้า อาทิ อนันตรา, อวานี, โอ๊คส์, ทิโวลี, เอเลวาน่า, เอ็นเอช คอลเลคชั่น, เอ็นเอช, นาว, แมริออท, โฟร์ซีซั่นส์, เซ็นต์ รีจิส, เรดิสัน บลู 

สำหรับโรงแรมในเครือไมเนอร์ที่ได้ต้อนรับผู้นำที่มาร่วมงานประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคในครั้งนี้ มี 2 โรงแรมด้วยกัน หนึ่ง คือ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ โรงแรมหรูสไตล์คลาสสิก ตั้งอยู่บนถนนราชดำริ 

ประวัติของโรงแรมนี้ก่อนจะมาเป็น “อนันตรา สยาม กรุงเทพฯ” นั้นเรียกว่ายาวนานมาก โดยเริ่มแรกเปิดให้บริการเป็นครั้งแรกในชื่อ “โรงแรม เพนนินซูล่า” ในปี 2521 ก่อนที่จะถูกขายให้กับกลุ่มโรงแรม รีเจนท์ ในปี 2525 ซึ่งมี บริษัท ราชดำริ จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของ หลังจากนั้น ไมเนอร์ โฮเทล กรุ๊ป (MHG) ได้เข้าถือหุ้นทั้งหมดของ บริษัท ราชดำริ จำกัด (มหาชน) ในปี 2544 และเปลี่ยนชื่อโรงแรมแห่งนี้เป็น โรงแรม โฟร์ซีซั่นส์ กรุงเทพฯ ในปี 2546 ก่อนจะเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเมื่อปี 2558 เป็น “อนันตรา สยาม กรุงเทพฯ” อย่างในปัจจุบัน

และใกล้ๆ กันก็มีอีกหนึ่งโรงแรมในเครือไมเนอร์ นั่นก็คือ โรงแรมเดอะ เซนต์ รีจิส กรุงเทพฯ ซึ่งได้เปิดห้องพักต้อนรับผู้นำที่มาร่วมงานเอเปคด้วยเช่นกัน

  • ตระกูลว่องกุศลกิจ และ ตระกูลวัธนเวคิน แห่งโรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ

หนึ่งในแลนด์มาร์กสำคัญแห่งแยกราชประสงค์ จะเป็นอะไรไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ 

เดิมทีนั้น โรงแรมเอราวัณ เป็นกิจการของ บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่เนื่องจากกิจการไม่ประสบความสำเร็จ ขาดทุนต่อเนื่อง จึงเปิดให้เอกชนเข้าประมูล ซึ่งกลุ่มทุนจากตระกูลว่องกุศลกิจ ตระกูลวัธนเวคิน และตระกูลเจนวัฒนวิทย์ ที่ร่วมทุนกันในนาม บริษัท อัมรินทร์ พลาซ่า จำกัด (ภายหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์) เป็นผู้ชนะการประมูล และก่อสร้างโรงแรมใหม่ทั้งหมด

โรงแรมเอราวัณ โฉมใหม่เปิดตัวในปี 2534 และบริหารด้วยเชนโรงแรม “ไฮแอท” จึงใช้ชื่อว่า ​​โรงแรม แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ โดยการที่ยังคงชื่อ “เอราวัณ” ไว้นั้น ก็เป็นไปตามเงื่อนไขการประมูลที่เจ้าของเดิมระบุไว้

ในตอนหลัง บมจ.อัมรินทร์ พลาซ่า เปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็น บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ ตระกูลว่องกุศลกิจ และ ตระกูลวัธนเวคิน

สำหรับตระกูลว่องกุศลกิจ นั้นก็คือ กลุ่มธุรกิจน้ำตาลมิตรผล ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของไทย ขณะที่ ตระกูลวัธนเวคิน คือผู้ก่อตั้งธนาคารเกียรตินาคิน หรือกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ในปัจจุบันนั่นเอง

  • ตระกูลจิราธิวัฒน์ กับโรงแรมพาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ

โรงแรมพาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ ถือเป็นโรงแรมลักชัวรี่ภายใต้แบรนด์ พาร์ค ไฮแอท แห่งแรกในประเทศไทย ตั้งอยู่บนศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลลงทุนไปกับโรงแรมนี้สูงถึง 7 พันล้านบาท (จากทั้งหมด 18,000 ล้านสำหรับโครงการเซ็นทรัล เอ็มบาสซี) โดยมีโต้โผสำคัญ คือ เต้ - บรม พิจารณ์จิตร (ลูกชายของยุวดี จิราธิวัฒน์) ทายาทรุ่น 4 ของตระกูลเซ็นทรัล รับผิดชอบดูแล

  • แมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ ประวัติยาวนาน ก่อนจะเข้าสู่ชายคา “ตระกูลกรรณสูต”

​​สำหรับโรงแรมเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย “แมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ” นอกจากจะยืนหนึ่งเรื่องอายุแล้ว ยังได้รับรางวัล “โรงแรมที่ดีที่สุดในโลก” จากการจัดอันดับของนิตยสารต่างๆ จากทั่วโลกอีกด้วย

จุดเริ่มต้นของโรงแรมแห่งนี้ คือ ในปี 2419 เมื่อสองนายทหารชาวเดนมาร์ก คือ ร้อยเอกจาร์ด และ ชาร์ล ตัดสินใจว่าจะตั้งรกรากในไทย จึงสร้างโรงแรมบนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และดำเนินกิจการเรื่อยมา นั่นก็คือ “โรงแรมโอเรียนเต็ล” (ชื่อเดิม) ก่อนที่กิจการของโรงแรมฯจะถูก “เปลี่ยนมือ” อีกหลายต่อหลายหน

กระทั่งในปี 2510 “กลุ่มบริษัทอิตัลไทย” ภายใต้การนำของ “ชัยยุทธ กรรณสูต” ได้เข้าซื้อกิจการ ซึ่งขณะนั้นมีห้องพักทั้งสิ้น 133 ห้อง และในปี 2517 กลุ่มอิตัลไทยได้ร่วมทุนกับบริษัทจาร์ดีน แมธทีสัน (Jardine Matheson) เป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษที่ทำธุรกิจหลากประเภท โดยให้บริษัทในเครือชื่อ ฮ่องกงแลนด์ จำกัด เข้าถือหุ้นในฐานะตัวแทน เพื่อเดินแผนสร้างการเติบโตด้วยการเปิดตึก “ริเวอร์ วิง” เพิ่ม

ต่อมาในปี 2528 ฮ่องกงแลนด์ได้โอนหุ้นให้กับ Mandarin Oriental Holdings B.V. ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจทางด้านการบริหารจัดการโรงแรมในกลุ่ม Jardine Matheson โดยปัจจุบันยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ด้วยสัดส่วน 42.39%

ก่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโรงแรมฯจะเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2536 ซึ่งได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใช้ชื่อว่าบริษัท โรงแรมโอเรียนเต็ล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท โอเอชทีแอล จำกัด (มหาชน)” (OHTL) เมื่อเดือน พ.ย.2551 จนถึงปัจจุบัน และได้เปลี่ยนชื่อทางการค้าจาก “โรงแรมโอเรียนเต็ล” มาเป็น “โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล” ในที่สุด

  • โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรียฯ โรงแรมสุดหรู ของ “ทิพพาภรณ์ (เจียรวนนท์) อริยวรารมย์”

สำหรับ “ทิพพาภรณ์ (เจียรวนนท์) อริยวรารมย์” บุตรสาวคนสุดท้องของเจ้าสัวธนินท์ และคุณหญิงเทวี เจียรวนนท์ ซึ่งปัจจุบันบริหารงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) มีโปรเจกต์ยักษ์ใหญ่มากมาย โดยเฉพาะ “เดอะ ฟอเรสเทียส์” โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ถือว่า ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยมูลค่ากว่า 125,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในส่วนของธุรกิจโรงแรมหรู ก็ยังมี “​​วอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพฯ” (Waldorf Astoria Bangkok) โรงแรมระดับลักชัวรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแมกโนเลียส์ ราชดำริ บูเลอวาร์ด ที่ได้มีโอกาสต้อนรับแขก VVIP ผู้นำระดับโลกที่มาร่วมประชุม “สุดยอดผู้นำ APEC” ในครั้งนี้ด้วย

  • โรสวูด กรุงเทพฯ โรงแรมหรูที่บริหารโดย “เอม-อุ๊งอิ๊ง ชินวัตร”

ต่อด้วยอีกหนึ่งโรงแรมหรูที่ได้ต้อนรับผู้นำระดับโลกอย่าง “โรงแรมโรสวูด กรุงเทพฯ” ที่บริหารโดยสองสาวพี่น้องจากบ้านชินวัตรเอม-พินทองทา” และ “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร” ที่ร่วมกันบริหารธุรกิจในชื่อ บริษัท เรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ทำทั้งคอนโดมิเนียม โรงแรม รีสอร์ท โดยมีโรงแรม “โรสวูด กรุงเทพฯ” เป็นหนึ่งในโปรเจกต์ใหญ่ ที่ระบุว่าเป็นโรงแรม6 ดาวระดับอัลตราลักชัวรี

ด้วยดีไซน์ที่สะดุดตาของตัวตึก ซึ่งถูกออกแบบให้มีลักษณะเด่นคือการพนมมือไหว้แบบไทยแลนด์สไตล์ จึงทำให้ได้รับความสนใจจากผู้พบเห็น รวมถึงได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในโรงแรมที่ได้ต้อนรับผู้นำที่มาร่วมงานประชุมเอเปค 2022 ในครั้งนี้ด้วย

  • เชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท ของ “ตระกูลนฤหล้า”

โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท เป็นหนึ่งในโรงแรมลักซ์ชูรี่ คอลเล็คชั่น แบรนด์ ในเครือของสตาร์วูดโฮเต็ลแอนด์รีสอร์ท และเป็นของ “ตระกูลนฤหล้า” ในนาม บริษัท ควอลิตี้ อินน์ จำกัด โดย​ “นฤหล้า” ถือเป็นอีกหนึ่งตระกูลที่ทำธุรกิจอยู่ในแวดวงโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์อีกหลายโครงการ

  • วีรวัฒน์ องค์วาสิฏฐ์ กับ “โซ แบงคอก”

โซ แบงคอก” โรงแรมหรูระดับ 5 ดาวย่านสีลม ซึ่งอยู่ในอาณาจักร “วีรันดา” ที่ วีรวัฒน์ องค์วาสิฏฐ์ ปลุกปั้นมาด้วยตัวเองตั้งแต่เริ่มแรก ขณะที่ครอบครัวมีธุรกิจก่อสร้างเป็นเส้นเลือดหลัก วีรวัฒน์ กลับอยากจะมีธุรกิจที่เป็นของตัวเอง กระทั่งเติบโตมาสู่อาณาจักร “วีรันดา” และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในชื่อ บริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน)

  • แชงกรี-ลา กรุงเทพฯ สวรรค์บนดินของ “โรเบิร์ต ก๊วก”

แบรนด์โรงแรมหรูอย่าง “แชงกรี-ลา” ก่อตั้งโดย “โรเบิร์ต ก๊วก” มหาเศรษฐี เจ้าพ่อน้ำตาลแห่งเอเชีย และเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในมาเลเซีย ผู้ไม่ยอมหยุดทำงาน เพราะแม้กระทั่งในจุดที่ประสบความสำเร็จที่สุดในชีวิต แถมยังอายุมากแล้ว เขาก็ยังสร้างธุรกิจใหม่อย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น “แชงกรี-ลา” โรงแรมสุดหรูที่ราคาเหมือนอยู่บนสวรรค์ รวมถึงสตาร์ทอัปที่ดิสรัปการขนส่งไปตลอดกาลอย่าง “KERRY” ก็เป็นผลงานของชายผู้นี้เช่นกัน

  • บันยันทรี กรุงเทพ โรงแรมหรู แห่ง “ตระกูลโฮ”

เรียกได้ว่า เป็นอีกหนึ่งโรงแรมหรูที่ยืนยังคู่กรุงเทพฯ มาอย่างยาวนานอีกโรงแรมหนึ่งก็ว่าได้ สำหรับ “บันยันทรี กรุงเทพ” ซึ่งก่อตั้งโดย “โฮ กวงปิง” นักธุรกิจจากสิงคโปร์ หนึ่งในคีย์แมนคนสำคัญของตระกูลโฮ ซึ่งมาวางรากฐานธุรกิจในประเทศไทยจนเติบใหญ่ในนามของ “กลุ่มไทยวา” ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารเป็นหลัก

แต่ด้วยแพสชั่นส่วนตัวของ “โฮ กวงปิง” และ ภรรยา ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวพักผ่อน จึงเริ่มสร้างโรงแรมแห่งแรกขึ้นที่ภูเก็ต คือ “บันยันทรี ภูเก็ต” ซึ่งจริงจังมากกับเรื่อง "สปา" จนจุดกระแสวงการสปาเมืองไทยให้เติบใหญ่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างในปัจจุบัน 

ก่อนจะมาเปิด บันยันทรี กรุงเทพ ในปี 1997 ภายใต้แบรนด์ "เดอะเวสทิน บันยันทรี" ซึ่งตอนแรกจับเซ็กเมนต์ บิสิเนส โฮเทล จนเมื่อหมดสัญญากับเวสทิน จึงได้ปรับโพสิชั่นมาเป็น Urban Resort ให้ผู้เข้าพักรู้สึกผ่อนคลาย เหมือนพักในรีสอร์ท

  • โรงแรมสุโขทัย.. ชื่อไทยแต่เจ้าของเป็น "ฮ่องกง"

เชื่อว่าหลายคนอาจไม่ทราบว่า โรงแรมสุโขทัย ที่ไม่ได้ไทยแค่ชื่อ แต่ยังมีคอนเซปต์การออกแบบ รวมถึงองค์ประกอบต่างๆ ภายในโรงแรมยังล้วนมีกลิ่นอายความเป็นไทยที่ชัดเจนนั้น กลับเป็นธุรกิจของ “กลุ่มทุนจากฮ่องกง” ซึ่งปัจจุบัน ได้ขยายแบรนด์ “สุโขทัย”​ไปสู่ “เซี่ยงไฮ้” เป็นสาขาที่สองแล้วด้วย

สำหรับเจ้าของแบรนด์สุโขทัยนั้นคือ “HKRI Group” กรุ๊ป กลุ่มทุนจากฮ่องกงซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1977 และคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ ไม่เพียงแต่ในประเทศฮ่องกง แต่ยังกระจายไปถึง จีน ญี่ปุ่น และ ไทย อีกด้วย

  • คอนราด กรุงเทพฯ โรงแรมของกลุ่มทุนจีน

ปิดท้ายด้วยโรงแรม คอนราด กรุงเทพฯ โรงแรมหรูบนถนนวิทยุ มีเจ้าของคือกลุ่มทุนจีนในชื่อ “China Resources enterprise” ซึ่งทำธุรกิจหลากหลายสาขา ตั้งแต่ ธุรกิจเบียร์ พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ซีเมนต์ แก๊ส ยา ไปจนถึงการเงิน