'ธัชพล-จุฬา-นิรุฒ' ชิงดำเลขาฯ 'อีอีซี' คนใหม่

'ธัชพล-จุฬา-นิรุฒ'  ชิงดำเลขาฯ 'อีอีซี' คนใหม่

สกพอ.เร่งสรรหาเลขาธิการคนใหม่ เปิดรายชื่อ 3 ผู้สมัครผ่านเกณฑ์คัดเลือก พบ “นิรุฒ มณีพันธ์” และ “จุฬา สุขมานพ” ข้าราชการสังกัดกระทรวงคมนาคม ท้าชิง “ธัชพล กาญจนกูล” รองเลขาสายงานพื้นที่และชุมชน

คณะกรรมการสรรหาเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และถูกแต่งตั้งมาตั้งแต่เดือน ก.ค.2565 ซึ่งกระบวนการผ่านมาเกือบ 4 เดือน ได้มีผู้ยื่นสมัครเข้ารับการสรรหา 5 คน และมีการคัดเลือกผู้ผ่านเข้าสู่ขั้นการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ 3 คน เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2565 

ขั้นตอนหลังจากนี้จะสรุปรายชื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้ภายในเดือน ธ.ค.2565 ซึ่งจะทำให้ได้เลขาธิการตัวจริงมาทำงานต่อจาก “คณิศ แสงสุพรรณ” ที่ครบวาระไปตั้งแต่เดือน 17 ส.ค.2565 โดยผู้ที่ผ่านรอบสุดท้าย 3 คน มีดังนี้

สำหรับ ผู้สมัคร 3 รายที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกและได้เริ่มขั้นตอนสัมภาษณ์พร้อมแสดงวิสัยทัศน์ไปแล้วนั้น พบว่ามีประสบการณ์และการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอีอีซี โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นเงื่อนไขสำคัญ ซึ่งแต่ละรายมีผลงานดังนี้

1.ธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการสายงานพื้นที่และชุมชน สกพอ. โดยที่ผ่านมาได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษ สกพอ.หลังจากหมดวาระการเป็นผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) โดยเข้ามาช่วยเหลืองานด้านการพัฒนาเมืองใหม่ รวมถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้อาศัยในในอีอีซีครอบคลุมทั้งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง

นอกจากเคยเป็นผู้ว่าการ กคช.แล้วยังเคยเป็นเป็นรองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และผ่านงานบริหารในสถาบันการเงินหลายแห่ง เช่น บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ การทุนไทย จำกัด (มหาชน) , บริษัทเงินทุนธีรชัย ทรัสต์ จำกัด , ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ นครธน

เมื่อพิจารณาประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เห็นผลงานพัฒนาเมืองใหม่และที่อยู่อาศัยในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งถือเป็นภาระกิจสำคัญในการพัฒนา EEC ในระยะแรก และขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กคช.ได้พัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับคนทุกกลุ่มทั้งการพัฒนาคอมเพล็กซ์รองรับสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงการพัฒนาแฟลตดินแดง

'ธัชพล-จุฬา-นิรุฒ'  ชิงดำเลขาฯ 'อีอีซี' คนใหม่

2.นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ถือเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย โดยก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานกำกับกฎเกณฑ์และกฎหมาย และเลขานุการ ธนาคารกรุงไทย รวมทั้งเคยเป็นรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายทรัพยากรบุคคลและกำกับกิจกรรมองค์กร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

ขณะที่ทำงานที่การบินไทยได้ร่วมทำคดีในกรณีที่การบินไทยถูก EU กล่าวหาเรื่องฮั้วกันภายในกลุ่ม Star Alliance สู้คดีจนท้ายที่สุด การบินไทยไม่โดนค่าปรับ นอกจากนี้ยังร่วมปรับผังองค์กรการบินไทย และช่วงร่วมงานกับธนาคารกรุงไทย มีผลงานร่วมทำคดีสำคัญกรณีที่ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ที่ดินกฤษดามหานคร และทำคดีปล่อยกู้บริษัททำธุรกิจถ่านหิน บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) 

ก่อนที่จะมารับตำแหน่งผู้ว่า ร.ฟ.ท.ในสมัย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คนปัจจุบัน และเริ่มนำร่องใช้องค์ความรู้ด้านกฎหมายแก้ปัญหาผู้บุกรุกที่ดิน ร.ฟ.ท.พร้อมเร่งตั้งบริษัทลูก บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด เพื่อเริ่มบริหารสินทรัพย์ ร.ฟ.ท.

3.จุฬา สุขมานพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ผ่านงานบริหารมาหลายองค์กรทั้ง ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) , อธิบดีกรมเจ้าท่า, อธิบดีกรมท่าอากาศยาน และผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)

สำหรับผลงานสำคัญ คือ การแก้ไขปัญหามาตรฐานด้านการบิน แก้ข้อบกพร่องที่มีนัยยะสำคัญต่อความปลอดภัยทางด้านการบิน 33 ข้อจนสำเร็จ ก่อนที่สำนักงานการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จะดำเนินการปลดธงแดงให้ไทยในปี 2560 รวมทั้งแก้ปัญหามาตรฐานการบินให้ผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดสำนักงานการบินพลเรือนแห่งสหภาพยุโรป (EASA) และแก้ปัญหาหลังสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (FAA) ลดระดับมาตรฐานการบินของไทย

นอกจากนี้ ยังถือเป็นผู้อำนวยการ กพท.คนแรก ได้เริ่มจัดโครงสร้างหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบิน หลังจากต้องแยกหน่วยงานนี้ออกมาจากกรมท่าอากาศยาน

สำหรับผู้ที่จะมาเป็นเลขาธิการคนใหม่จะต้องมาขับเคลื่อนแผนงานที่สำคัญ โดยเฉพาะแผนลงทุนอีอีซีระยะ 5 ปี (2565-2569) ที่มีเป้าหมายการลงทุนให้ได้มากกว่าเป้าหมายแผนฉบับแรก (2561-2565) 

สำหรับแผนการลงทุนฉบับใหม่จะทำให้มูลค่าการลงทุนในอีอีซีเพิ่มขึ้นปีละ 500,000 ล้านบาท จากเดิมปีละ 300,000 ล้านบาท ซึ่งช่วยผลักดันเศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพ 4.5-5.0% ต่อปี และให้ไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลางก้าวสู่ประเทศพัฒนาได้ในปี 2572

เลขาธิการคนใหม่จะต้องผลักดันการทำงาน 3 ส่วน คือ 

1.การต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน 200,000 ล้านบาท จากเมืองการบินภาคตะวันออก การพัฒนาพื้นที่ 30 กม. รอบสนามบิน และพัฒนาพื้นที่รอบสถานีหลักรถไฟความเร็วสูง (TOD)

2.การดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ปีละ 400,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในระดับฐานปกติปีละ 250,000 ล้านบาท และการลงทุนส่วนเพิ่มที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (EV) ดิจิทัล การแพทย์สมัยใหม่ การขนส่งโลจิสติกส์ เกษตรสมัยใหม่และอาหาร ภายใต้บริบทเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG) รวมปีละ 150,000 ล้านบาท

3.การยกระดับชุมชนและประชาชน เร่งพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนระดับหมู่บ้าน พัฒนาตลาดสด อีคอมเมิร์ซ การสร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่ม ยกเครื่องการศึกษา สาธารณสุขพื้นฐาน สิ่งแวดล้อมและสาธารณูปโภคที่สะดวกสบายให้ชุมชน