ร่วมรับมือปัญหาสภาพภูมิอากาศผ่าน APEC | สมประวิณ มันประเสริฐ

ร่วมรับมือปัญหาสภาพภูมิอากาศผ่าน APEC | สมประวิณ มันประเสริฐ

ในวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค หรือกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก การประชุมสุดยอดผู้นำเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมหารือที่จัดขึ้นตลาดปี 2022 ที่ผ่านมา

เอเปคมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 21 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 1 ใน 3 ของโลก และมีมูลค่าเศรษฐกิจรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก การประชุมจัดขึ้นในจังหวะเวลาที่ดี ที่กลุ่มเศรษฐกิจสำคัญจะร่วมกันฟื้นฟูและปรับปรุงห่วงโซ่การค้าโลก เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ภูมิทัศน์ใหม่หลังการระบาดของโควิด-19 

เอเปคเดินตาม ‘วิสัยทัศน์ปุตราจายา’ ที่มุ่งสร้างกลุ่มเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง มีพลวัต ยืดหยุ่นและสงบสุขภายในปี 2040 เพื่อให้สมาชิกเติบโตอย่างเข้มแข็ง ทั่วถึงและ ‘ยั่งยืน’ วิสัยทัศน์ปุตราจายาขยายขอบเขตของความร่วมมือจากการค้า การลงทุนและนวัตกรรม ไปสู่ ‘การเติบโตอย่างยั่งยืน’ ที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

ร่วมรับมือปัญหาสภาพภูมิอากาศผ่าน APEC | สมประวิณ มันประเสริฐ

เอเปคเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก รายงานของธนาคารโลกในปี 2020 ประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะสร้างความสูญเสียให้กับสมาชิกเอเปคเป็นมูลค่ารวมกว่า 7.3% ของ GDP รวมของกลุ่มภายในปี 2100 โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในกลุ่ม 

ซึ่งอาจได้รับความเสียหายสูงถึง 30% ของ GDP ในทางตรงกันข้าม รายงานของเอเปคในปี 2021 ระบุว่า สมาชิกเอเปคปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศรวมกันถึง 65% ของการปล่อยรวมทั้งหมดของโลก 

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องการทั้งทางออกที่ยั่งยืนในระยะยาว การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อปี 2015 ได้มีการรับรอง ‘ข้อตกลงปารีส’ ที่ประเทศสมาชิกจะร่วมกันยุติการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศภายในปี 2050 เพื่อจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม 

ล่าสุดการประชุมรัฐภาคีฯ ในปี 2021 มีการผลักดันให้ประเทศสมาชิกประกาศแผนการลดการปล่อยมลพิษภายในปี 2030 ที่เป็นรูปธรรมขึ้น การประชุมเอเปครับไม้ต่อจากการประชุมรัฐภาคีฯ

โดยการประชุมปีนี้ สมาชิกเอเปคได้หารือเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model, BCG) เพื่อร่วมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน ตัวอย่างของความร่วมมือที่กำลังเกิดขึ้น

คือ การร่วมพัฒนา ‘ระบบการเงินเพื่อความยั่งยืน’ ที่จะสนับสนุนการเข้าถึงเงินทุนและเครื่องมือทางการเงินสำหรับกิจกรรมการค้าการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ร่วมรับมือปัญหาสภาพภูมิอากาศผ่าน APEC | สมประวิณ มันประเสริฐ

นอกจากทางออกที่ยั่งยืนในระยะยาว ยาบรรเทาอาการในระยะสั้นก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ระบบการเงินเป็นกลไกสำคัญในการกระจายความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายในสมาชิก ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ 

เอเปคเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการกระจายความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากลักษณะทางภูมิประเทศและภูมิอากาศของสมาชิกที่มีความหลากหลาย โดยในช่วงปี 1970-2021

ประเทศในกลุ่มเอเปคเผชิญสภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Event วัดจากเดือนที่ปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 10 หรือสูงกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 90) โดยเฉลี่ย 135 จาก 624 เดือน หากจับคู่ประเทศในกลุ่มจะพบว่า ประเทศคู่หนึ่งจะเผชิญสภาพอากาศสุดขั้วพร้อมกันโดยเฉลี่ยแค่ 37 เดือน 

ในกรณีของไทยเราเผชิญสภาพอากาศสุดขั้วพร้อมกับปาปัวนิวกินีและชีลีแค่ 19 และ 21 เดือนในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา นั่นแปลว่าเราสามารถรวมความเสี่ยงทางด้านสภาพภูมิอากาศของสมาชิก และบริหารความเสี่ยงร่วมกันได้

ในอนาคต เราน่าจะได้เห็นการเปิดเสรีและการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างระบบการเงินของสมาชิก เพื่อสร้างระบบนิเวศทางการเงินที่ช่วยกระจายความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ เราน่าจะได้เห็นเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ ที่จะช่วยจัดการความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

อาทิ Catastrophe Bond หรือการประกันภัยพืชผล โดยปัจจุบัน เอเปคมีกลุ่มงาน Regional Disaster Risk Funds and Insurance (DRFI) ที่กำลังศึกษาและออกแบบระบบการเงินเพื่อการป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ 

สุดท้ายแล้ว การแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม เราทุกคนเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน จึงต้องช่วยกันปกป้องรักษา และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติด้วยความรับผิดชอบ

การประชุมเอเปคเป็นโอกาสที่สมาชิกจะได้แสดงบทบาทในฐานะ ‘เจ้าของร่วม’ ของทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นเวทีสำคัญที่สมาชิกจะได้มีส่วนร่วมในการหาทางออกที่เป็นรูปธรรม ในการสร้างสมดุลระหว่างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิตและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ผู้เขียน: ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ
รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 
กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) 
และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 
กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)