“ชัชชาติ” ตั้งเป้า 4-5 ปี กรุงเทพฯ ขึ้นแท่นเมืองอัจฉริยะ

“ชัชชาติ” ตั้งเป้า 4-5 ปี กรุงเทพฯ ขึ้นแท่นเมืองอัจฉริยะ

“ชัชชาติ” ตั้งเป้า 4-5 ปี กรุงเทพฯ ขึ้นแท่นเมืองอัจฉริยะ วาง 3 กรอบเมืองน่าอยู่ โครงสร้างพื้นการเดินทาง ระบบอินเทอร์เน็ต และโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม ชงปัญหาเส้นเลือดฝอยควบใช้เทคโนโลยีช่วยบริหารแก้ไข ทำให้โปร่งใส และคนวางใจรัฐ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในงาน Thailand Smart City : Bangkok Model จัดขึ้นโดยโพสต์ทูเดย์ ร่วมกับเนชั่น ทีวี และสื่อในเครือเนชั่น กรุ๊ป เพื่อถอดประสบการณ์ และวิสัยทัศน์ของผู้บริหารภาครัฐ และเอกชน ในการใช้นวัตกรรมส่งเสริมให้ประเทศไทย ก้าวสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะอย่างแท้จริง ตอนหนึ่งว่า เมืองอัจฉริยะที่มีคนเคยนิยามคือ ตลาดแรงงาน (Labor market) ถ้าไม่มีงาน คนเก่งๆ ก็ไม่เข้ามาอยู่ ซึ่งการที่จะดึงคนเก่งๆ เข้ามาก็จำเป็นที่จะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี 

โดยหัวใจหลักสำคัญคือ การมีงาน และเศรษฐกิจ ส่วนหน้าที่ของเมืองคือ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำให้เมืองทำหน้าที่ของเมืองทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานให้มีความสะดวกมากขึ้น พัฒนาคุณภาพชีวิตของคน และสิ่งแวดล้อมต่างๆ สร้างโอกาสสำหรับทุกคน สร้างความไว้วางใจ" 

อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีของสมาร์ท ซิตี้ ประกอบด้วย 1.โครงสร้างพื้นฐานและระบบการเดินทาง  2.ระบบเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต 3.โครงสร้างพื้นฐานของสังคม หากมีแค่เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ใช่เมืองที่น่าอยู่ ต่อให้เทคโนโลยีล้ำแค่ไหน แต่ผู้คนไม่ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เหมาะสม สุดท้ายเมืองก็ไม่ฉลาด
 

ทั้งนี้เมื่อเทคโนโลยีไม่สามารถตอบคำถามได้ หากจะตั้งคำถามของเมืองต้องมาจากคนที่เข้าใจปัญหา และมีคำตอบ โดยมีเทคโนโลยีมาช่วย เราไม่ได้เชื่อเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI) แต่เราเชื่อในเรื่องเทคโนโลยีเป็นผู้ช่วยที่ชาญฉลาด Intelligent Assistant (IA) เมื่อคนมีปัญหา โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยตอบคำถามเพื่อแก้ปัญหา หากจะแก้ปัญหาอาชญากรรมต้องมองปัญหาหลายส่วน เช่น การศึกษา การหางาน ระบบความปลอดภัย เป็นต้น 

“เมืองที่อัจฉริยะในด้านของโครงสร้างพื้นฐานก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีเสมอไป แต่เพียงแค่ย้อนกลับมาในส่วนของวิธีคิด และการสร้างการรับรู้ภายในเมือง โดยเน้นเอาคนภายในเมืองเป็นหลัก ยกตัวอย่างเมืองที่มีถนนกว่า 6,000 ไมล์ กรุงนิวยอร์ก การจะทำให้เมืองอัจฉริยะได้ ไม่ใช่เพียงแค่การใช้เทคโนโลยี แต่สิ่งที่เมืองนิวยอร์กทำคือ การนำสีมาทาบนถนน เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ต่างๆ ให้พื้นที่ถนนสามารถใช้ประโยชน์นอกเหนือจากการจอดรถยนต์ได้ หรือสิ่งที่ผู้ว่าการหลายๆ เมืองทำคือ การสร้างพื้นที่สีเขียว และสร้างพื้นที่ใช้สอยภายในเมืองจากถนน และพื้นที่ ที่เมืองมี แค่นี้เมืองก็อัจฉริยะแล้ว”

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า เมืองอัจฉริยะจะต้องเป็นเมืองที่ทำให้ผู้คนมีความคิดที่แตกต่าง และมีการยอมรับในการพัฒนาซึ่งต่อให้มีเมืองที่ฉลาดแต่ผู้คนไม่คิดอย่างแตกต่างเพื่อการเปลี่ยนแปลงพลังจากผู้คนก็ไม่เปลี่ยน เพราะเมืองคือ ผู้คน ถ้าคนไม่ฉลาดเมืองก็ไม่ฉลาด 

“กรุงเทพฯ เราจำเป็นที่จะต้องมีแว่นที่มองได้หลากหลายสี เปรียบเสมือนกับการแก้ไขปัญหาที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาแก้ไขเพียงแค่ด้านเดียวไม่ได้ เช่น การแก้ไขปัญหาด้านอาชญากรรม การตั้งวงกล้องวงจรปิดเพียงอย่างเดียวก็จะแก้ปัญหาเพียงแค่ด้านเดียว แต่ถ้าหากเรามองด้วยว่าหลากหลายก็แก้ไขปัญหาอื่นๆ ไปพร้อมกันได้”

“ชัชชาติ” ตั้งเป้า 4-5 ปี กรุงเทพฯ ขึ้นแท่นเมืองอัจฉริยะ
 

ทั้งนี้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ผู้คนเดินทางมาเยือนมากที่สุด แต่ทว่าได้อันดับที่ 98 ในเมืองที่น่าอยู่ที่สุดทั่วโลก โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าต้องทำให้อันดับขยับขึ้นมาให้เมืองน่าอยู่มากยิ่งขึ้น เป็น 1 ใน 50 ของเมืองน่าอยู่ทั่วโลกให้ได้ แต่เราต้องเริ่มจากยอมรับปัญหาก่อน 

นายชัชชาติ ระบุว่า หลังจากรับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา พบว่าปัญหาที่สำคัญของกรุงเทพฯ คือ ความไว้วางใจระหว่าง กทม.และประชาชน เมืองนี้ไม่ได้อยู่ด้วยกฎหมาย แต่อยู่ด้วยพันธสัญญาซึ่งกันและกัน  หากเมืองไหนที่มีความไว้ใจ และมี Social Contact สามารถใช้ Soft Power ทำให้เมืองนั้นมีความฉลาดได้ ส่วนการนำเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริม Social Contact เพื่อให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกัน และกัน จะต้องยึดประชาชนเป็นหลัก มีความเป็นผู้นำ การมีส่วนร่วม มีความคิดสร้างสรรค์ การสร้างโอกาส ความโปร่งใสและความเท่าเทียม  
 
“เส้นเลือดฝอยนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่นำไปสู่ความไม่เท่าเทียม หากต้องการให้เมืองอัจฉริยะได้จะต้องดำเนินการทั้งระบบ  แต่ที่ผ่านมามีนักการเมือง และนักลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานบริเวณส่วนกลางหรือเส้นเลือดใหญ่เป็นหลัก ส่วนปัญหาในชุมชนหรือเส้นเลือดฝอยไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญ เมื่อเส้นเลือดฝอยอ่อนแอ ทำให้เมืองไปไม่รอด เช่น โครงข่ายรถไฟฟ้า ระยะทาง 400 กิโลเมตร ที่มีการเดินทางที่เข้มแข็ง แต่การเดินทางระดับเส้นเลือดฝอยกลับไปไม่ถึง  หรือกรณีการเก็บขยะ รถขยะเข้าไม่ถึงหน้าบ้าน ต้องใช้คน ดังนั้นจะเอาเทคโนโลยีไปหาชุมชนเพื่อให้เส้นเลือดฝอยเข้มแข็ง”

“ชัชชาติ” ตั้งเป้า 4-5 ปี กรุงเทพฯ ขึ้นแท่นเมืองอัจฉริยะ

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า อีกเรื่องคือ เรื่องความโปร่งใส ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการคอร์รัปชัน และการทุจริต หากไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ก็ไม่สามารถไปต่อได้ เราควรนำเทคโนโลยีมาช่วยเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนกลับมา เพราะการตั้งเป้าหมายให้กรุงเทพฯ เป็นสมาร์ท ซิตี้ได้ คือ ‘ความน่าอยู่’ เราต้องการทำให้เมืองมีความสมาร์ท และน่าอยู่ หากมีแต่ความสมาร์ท แต่เมืองไม่น่าอยู่ก็ไม่มีประโยชน์ ทั้งนี้เรามีแผนที่จะทำให้กรุงเทพฯ ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 1-50 ในการเป็นเมืองน่าอยู่ให้ได้ หากทำได้ เชื่อว่าคือ สมาร์ท ซิตี้” 

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า การจะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคนไม่ได้เป็นแค่เมืองสมาร์ทอย่างเดียว ซึ่งได้มีนโยบาย 9 ดี 9 ด้าน โดยต้นแบบเมืองสมาร์ท ซิตี้ คือ ไทเป และไต้หวัน เพราะมีความคล้ายคลึงกันกับกรุงเทพฯ  ไม่ว่าจะในเรื่องของ  SME หรือ เกษตรกรรม ทั้งนี้ได้ดำเนินการหารือร่วมกันรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลของไต้หวันไว้แล้วในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ซึ่งใน 4-5 ปี คาดว่าเราจะพัฒนาคนได้ทันแน่นอน

“อนาคตของเมือง จะต้องมีระบบที่สอนให้คนรู้เรื่องหลากหลายมากขึ้นในทุกด้าน เพื่อให้ตอบโจทย์รอบด้าน และการทำสมาร์ท ซิตี้ ต้องเริ่มที่คน ไม่ได้เริ่มที่เทคโนโลยี เพราะหัวใจของสมาร์ท ซิตี้ ต้องตอบโจทย์คน และเอาคนเป็นศูนย์กลาง และสุดท้ายแล้วอยู่ที่ความคิด ให้สงสัยในสิ่งที่เรารู้ และขวนขวายในสิ่งที่เราไม่รู้ และก็ใช้เทคโนโลยี เอามาช่วยสนับสนุนความคิดคนให้แตกต่าง และยอมรับก้าวไปด้วยกัน” 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์