BEM เตรียมทำสัญญาร่วมทุนรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยันความพร้อมเริ่มก่อสร้างทันที

BEM เตรียมทำสัญญาร่วมทุนรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยันความพร้อมเริ่มก่อสร้างทันที

BEM นัดผู้ถือหุ้น 28 พ.ย.นี้ เตรียมทำสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เผยความพร้อมเริ่มก่อสร้างทันทีหลังลงนามสัญญา มั่นใจเปิดบริการส่วนตะวันออก ศูนย์วัฒนธรรม-สุวินทวงศ์ ภายใน 3 ปีครึ่ง

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการทางพิเศษและรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยระบุว่า คณะกรรมการบริษัทมีมติกำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2565 ในวันที่ 28 พ.ย.2565 เพื่อพิจารณาเข้าทำสัญญาร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

อีกทั้งจะพิจารณาการเข้าทำสัญญาว่าจ้างบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหารและก่อสร้างงานโยธา (ช่วงตะวันตก) และผู้ออกแบบ จัดหา ติดตั้ง ทดสอบอุปกรณ์งานระบบ และทดลองเดินทางรถไฟฟ้า (ช่วงตะวันออกและตะวันตก) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

อย่างไรก็ดี การลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะทำให้บริษัทเพิ่มความสามารถในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และขยายโครงการเครือข่ายของระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าที่บริษัทบริหารอยู่ในปัจจุบันให้ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการที่มากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มจำนวนผู้โดยสารและรายได้ของโครงการรถไฟฟ้าภายใต้สัมปทานของบริษัท BEM

โดยบริษัทมีความพร้อมที่จะเข้าดำเนินงานได้ทันที หลังจากลงนามสัญญา และมั่นใจว่าจะเปิดให้บริการส่วนตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-สุวินทวงศ์) ได้ภายใน 3 ปีครึ่ง และส่วนตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) ได้ภายใน 6 ปี ตามแผนงานของ รฟม. ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดเด่นของ BEM ที่ทำงานทุกโครงการประสบความสำเร็จ เปิดบริการได้ตามสัญญาเป็นไปตามแผนหรือก่อนแผนเสมอ

นายสมบัติ กล่าวด้วยว่า ผลการดำเนินงานของ BEM ในช่วงไตรมาสที่ 3/2565 มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท จำนวน 863 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จำนวน 755 ล้านบาทหรือร้อยละ 699 มีรายได้จากการดำเนินงาน จำนวน 3,739 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จำนวน 1,585 ล้านบาท หรือร้อยละ 73.6

โดยแบ่งเป็นรายได้ค่าผ่านทางเพิ่มขึ้น จำนวน 868 ล้านบาท รายได้ค่าโดยสารและรับจ้างเดินรถเพิ่มขึ้น จำนวน 651 ล้านบาท และรายได้พัฒนาเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น จำนวน 66 ล้านบาท จากปัจจัยบวกหลังการเปิดประเทศที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณรถที่ใช้ทางด่วนและผู้โดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการกลับมาทำงานของภาคธุรกิจ การกลับมาเรียน on site ของสถาบันการศึกษา และยอดนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งตัวเลขกำไร 863 ล้านบาทในไตรมาส 3 ปีนี้เป็นตัวเลข New High นับตั้งแต่ปี 2563 ที่มีการระบาดของโควิด

ทั้งนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลให้ปริมาณรถที่ใช้ทางด่วนและผู้โดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยปริมาณรถที่ใช้ทางด่วนในไตรมาสนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1,069,102 เที่ยวต่อวัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 59.7 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินปริมาณผู้โดยสารในไตรมาสนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 312,663 เที่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 292.4 โดยมั่นใจว่าการฟื้นตัวครั้งนี้เป็นแบบ V Shape แน่นอน