วิกฤติการเงินโลก 2024: จุดจบของจุดเริ่มต้น (ภาคจบ) | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

วิกฤติการเงินโลก 2024: จุดจบของจุดเริ่มต้น (ภาคจบ) | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ในบทความ 2 ฉบับที่แล้ว ผู้เขียนได้ตั้งโจทย์ว่าแต่เมื่อเข้าสู่ปี 2023 โลกจะเผชิญกับความผันผวนทางการเงินที่มีต้นกำเนิดหลักจากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ และเข้าสู่วิกฤตในช่วงกลางปีเป็นต้นไป

ขณะที่ 2024 โลกจะเริ่มเข้าสู่ระบอบเศรษฐกิจใหม่ (New economic regime) ที่แตกต่างจากระบอบเดิม 5 ประการ โดยได้กล่าวถึงคุณลักษณะ 2 ประการแรก ดังนี้

ประการแรก เงินเฟ้อเฉลี่ยจะสูงขึ้นกว่ายุคก่อนเกิด Covid โดยจะอยู่ในช่วงประมาณ 3-6% โดยเฉลี่ย สูงกว่า 0-2% ก่อน Covid  จาก 3 เหตุผล คือ

(1) การเปลี่ยนผ่านจากพลังงานแบบดั้งเดิมไปเป็นพลังงานสะอาดมีต้นทุนสูง

(2) การเปลี่ยนแปลงนโยบายการคลังโลก โดยจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจที่รวมเงินเฟ้อขยายตัวสูง เพื่อที่จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ลดลง และ

(3) ธนาคารกลางต่าง ๆ จะปรับเป้าหมายเงินเฟ้อขึ้น เนื่องจากการกดเงินเฟ้อให้เข้าสู่เป้าหมายเดิม จะทำให้เศรษฐกิจถดถอยรุนแรง

ประการที่สอง ดอกเบี้ยจะสูงขึ้นกว่าในระดับเดิม ซึ่งรวมทั้งดอกเบี้ยนโยบายและดอกเบี้ยในตลาดการเงิน จาก 3 เหตุผล คือ

(1) เงินเฟ้อระยะยาวที่จะสูงขึ้น ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายสามารถอยู่ในระดับสูงขึ้นได้ (โดยไม่ฉุดรั้งหรือผ่อนคลายเศรษฐกิจเกินไป)

(2) จำนวนผู้เกษียณอายุที่กำลังเพิ่มมากขึ้นหลังจากประชากรยุค Baby boomer เริ่มเกษียณลง ทำให้เงินออมเริ่มลดลง และทำให้ดอกเบี้ย (ซึ่งเป็นราคาของเงิน) สูงขึ้น

(3) ดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงจะลดแรงจูงใจในการก่อหนี้ลง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาหนี้ทั่วโลกที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ในฉบับนี้ ผู้เขียนจะขออธิบายอีก 3 คุณลักษณะที่เหลือ ดังนี้

ประการที่สาม วินัยการคลังของโลกจะแย่ลง โดยในช่วงวิกฤต COVID-19 ทางการทั่วโลกต่างเร่งมาตรการการคลัง เพื่อเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการ Lockdown ทำให้เม็ดเงินที่กระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลกเพิ่มขึ้น และทำให้หนี้สาธารณะทั่วโลกเพิ่มขึ้น

จากการคำนวณของผู้เขียน ภาระหนี้สาธารณะเฉลี่ยของ 7 ประเทศสำคัญของโลก อันได้แก่ ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐ ไทย ฝรั่งเศส เยอรมนี และสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นจากประมาณ 100% ของ GDP มาเป็น 124%

แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ โดยปกติแล้วจะมี 4 วิธี ดังนี้ 

(1) ขึ้นภาษีและลดรายจ่ายภาครัฐ ซึ่งเป็นแนวทางแบบปกติที่รัฐบาลจะคำนึงถึงเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ตาม สำหรับวิกฤต COVID ครั้งนี้ การลดรายจ่ายและเพิ่มภาษีอย่างรุนแรงทำได้ยาก เพราะรายจ่ายภาครัฐจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรายจ่ายสวัสดิการสังคมโดยเฉพาะเพื่อสังคมสูงวัย รายจ่ายอุดหนุนด้านพลังงานสะอาด และรายจ่ายด้านกลาโหมที่เพิ่มขึ้นจากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่จะมีสูงขึ้น นอกจากนั้น ยังติดประเด็นด้านการเมืองอีกด้วย 

(2) การเพิ่มอัตราเงินเฟ้อ เพราะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เพราะจะทำให้มูลหนี้ที่แท้จริงลดลง ซึ่งเป็นหนทางที่รัฐบาลน่าจะทำในระยะต่อไป (แต่น่าจะพยายามคุมไม่ให้เงินเฟ้อสูงเกิน 5%)

(3) การผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากรัฐไม่มีรายได้พอที่จะจ่ายภาระดอกเบี้ยได้ เช่น กรีซ แต่การผิดนัดในปัจจุบันค่อนข้างยาก เพราะหากทำอย่างตั้งใจและโจ่งแจ้ง ตลาดการเงินจะลงโทษอย่างรุนแรง จนไม่สามารถเป็นรัฐบาลอยู่ได้ (เช่น กรณีของอดีตนายกรัฐมนตรี ลิซ ทรัสส์ ของอังกฤษ)

(4) การให้ธนาคารกลางรับซื้อหนี้สาธารณะของรัฐบาล หรือการทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) นั่นเอง ซึ่งปัจจุบันทำได้ยากขึ้นเพราะจะยิ่งทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงและคุมไม่อยู่

ทั้งนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า ในปี 2024 เป็นต้นไป รัฐบาลจะใช้ทุกวิธีเพื่อบริหารจัดการปัญหาทางการคลัง โดยจะขึ้นภาษีบ้างโดยเฉพาะภาษีฐานทรัพย์สิน จะปล่อยให้เงินเฟ้อสูงขึ้นกว่ายุคก่อน จะออกพันธบัตรใหม่เพื่อมาปรับโครงสร้างหนี้เก่า รวมถึงจะให้สถาบันการเงินของรัฐเข้าช่วยสนับสนุนพันธบัตรของรัฐ

ภาพเหล่านี้จะทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ปรับลดลงบ้าง แต่จะทำให้วินัยทางการคลังลดลง และมีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตการคลังได้ง่ายขึ้น 

ประการที่สี่ เศรษฐกิจโลกจะผันผวนขึ้น โดยจะเกิดภาวะ “โตแล้วแตก” (Boom-bust Cycle) บ่อยขึ้น โดยเศรษฐกิจโลกในยุคต่อไป จะถูกฉุดรั้งจากปัจจัยทั้งบวกและลบต่อเศรษฐกิจ โดยปัจจัยบวกได้แก่ เงินเฟ้อที่สูงขึ้น (หากไม่สูงจนเกินไป) จะผลักดันให้ประชาชนออกมาใช้จ่ายมากขึ้น

เช่นเดียวกับภาคธุรกิจที่จะมีอำนาจในการตั้งราคา (Pricing power) มากขึ้น เมื่อภาคธุรกิจมีเงินมากขึ้น ก็จะหันมาพัฒนาสินค้าและบริการ แทนที่จะพยายามหาหนทางลดต้นทุนเช่นแต่ก่อน นอกจากนั้น ภาครัฐในประเทศมหาอำนาจ

รวมถึงภาคเอกชนระดับโลกหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนมากขึ้น ทั้งการลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานสะอาด การเดินทาง การติดต่อสื่อสาร ปัญญาประดิษฐ์ และอื่น ๆ รวมถึงการลงทุนด้านการผลิตต่าง ๆ (Capex) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในอนาคต

ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ การที่ภาวะสังคมสูงวัยที่มีมากขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐ ยุโรป และจีน ที่จำนวนผู้สูงอายุต่อประชากรวัยทำงานเพิ่มขึ้นจาก 15-30% ในปัจจุบันเป็น 40-50% ในปี 2050 เมื่อกำลังแรงงานน้อยลง โอกาสที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวก็มีมากขึ้น (หากเทคโนโลยีใหม่จะไม่สามารถมาทดแทนแรงงานที่ลดลงได้)

นอกจากนั้น การที่ภาครัฐเข้ามาแทรกแซงระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งจากนโยบายการเงินการคลัง ที่ผ่อนคลายเมื่อเกิดวิกฤตแต่ก็เข้มงวดอย่างรวดเร็วเมื่อเงินเฟ้อพุ่งขึ้น และเมื่อผสานกับความเสี่ยงวิกฤตการคลังที่จะมีสูงขึ้น ก็จะทำให้เกิดภาวะ Boom and Bust ง่ายขึ้น

ประการสุดท้าย ได้แก่ ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ ที่จะมีผลต่อภาคเศรษฐกิจและธุรกิจจะรุนแรงขึ้น เช่น กระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ (Anti-globalization) ขณะที่ขั้วอำนาจของโลกจะเปลี่ยนไปจากสหรัฐที่เป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลก (Unipolar) กลายเป็นเกิดโลกหลายขั้ว (Multipolar) 

โดยในกระแส Anti-globalization ที่เกิดตั้งแต่ยุคสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมพ์นั้นถูกสานต่อโดยประธานาธิบดีไบเดน และเมื่อผสานกับความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ และโลกหลัง Covid-19 ที่ภาคธุรกิจไม่ไว้ใจทางการจีนที่ปิดเศรษฐกิจอยู่บ่อยครั้งตามแนวนโยบาย Zero Covid รวมถึงสงครามยูเครนที่แบ่งแยกมุมมองกลุ่มประเทศที่ฝักใฝ่ตะวันตกและฝักใฝ่จีนและรัสเซีย

ทำให้ภาวะสงครามเย็นระหว่างขั้วอำนาจเดิมและขั้วอำนาจใหม่จะมีมากขึ้น บ่อยขึ้น และรุนแรงขึ้น และจะทำให้ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจยากขึ้น ประสิทธิภาพในการทำธุรกิจลดลง และการวางแผนธุรกิจยากขึ้น

ปี 2024 เป็นต้นไป โลกจะเข้าสู่ยุคใหม่ ยุคที่เงินเฟ้อสูงขึ้น ดอกเบี้ยเริ่มสูง วินัยการคลังอ่อนแอ เศรษฐกิจโตดีขึ้น แต่แตกง่ายขึ้น และปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์มีมากขึ้น 

ท่านเตรียมพร้อมสำหรับโลกอนาคตแล้วหรือยัง.
  บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่
คอลัมน์ : Global Vision  
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์
ฝ่ายวิจัยการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด
[email protected]