จุดพลิกผันอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยมาถึงแล้ว ???

จุดพลิกผันอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยมาถึงแล้ว ???

Amazon ประกาศลงทุน 5 พันล้านดอลลาร์ และอย่างอื่นที่จะตามมา...ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานับเป็นจังหวะที่ดีเยี่ยมสำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทย

เพราะไม่เพียงแค่ภาครัฐจะกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมการลงทุน, ยกระดับทักษะด้านดิจิทัล, ส่งเสริมธุรกิจดิจิทัลภายในประเทศ ฯลฯ ที่ผู้เขียนได้เคยกล่าวถึงในหลายบทความก่อนหน้าอาทิ พรฎ. ยกเว้นภาษี Capital Gains สำหรับการลงทุนใน Start-Up เป็นต้น

แต่ก็ยังมีทั้งข่าวจริงและข่าวลือของการลงทุนโดยธุรกิจยักษ์ใหญ่ระดับโลก (Big Boys) เข้ามาในอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทย

อาทิเช่น การประกาศลงทุน 5 พันล้านดอลลาร์ของ Amazon เพื่อพัฒนาธุรกิจ Cloud ในประเทศไทย โดย Amazon Web Services (AWS) สองสัปดาห์ที่ผ่านมา, การประกาศลงทุนสร้าง Cloud ในประเทศไทยของ Google สองเดือนก่อนหน้านี้

และข่าวลือของการย้ายฐานการผลิตเครื่องโน๊ตบุ๊ค (Macbook Pro) เข้ามาในประเทศไทยโดย Apple เมื่อเดือนที่แล้ว เป็นต้น

ความน่าตื่นเต้นของเข้ามาลงทุนของธุรกิจยักษ์ใหญ่เหล่านี้ (ด้วยการวิเคราะห์จากข่าวที่เปิดเผยแล้ว) ก็คือ การใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อที่จะขายบริการและสินค้าไปยังประเทศอื่นนอกเหนือจากประเทศไทย ซึ่งมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากกรณีที่ธุรกิจข้ามชาติมาตั้งสำนักงานขายในประเทศไทยเพื่อที่จะนำเข้าบริการและสินค้าจากบริษัทแม่ที่อยู่ในต่างประเทศเพื่อเข้ามาขายในประเทศไทย

ในขณะที่ กรณีที่สองเป็นรูปแบบที่คนไทยมักจะคุ้นเคยกันเพราะเป็นแนวทางปฏิบัติของธุรกิจข้ามชาติมาหลายทศวรรษที่มาตั้งสำนักงานขายในประเทศไทยและ Country Manager ก็มีบทบาทที่ไม่แตกต่างกับหัวหน้า Sales ที่บริหารทีมงาน Sales และ Sales Support

สำหรับคนที่เคยเรียนเศรษฐศาสตร์ย่อมต้องทราบดีว่า GDP = C+I+G+(X-M) 

ดังนั้นสำนักงานขายที่มุ้งเน้นการนำเข้าบริการและสินค้าจากบริษัทแม่ที่อยู่ในต่างประเทศมักจะสร้างผลลบต่อ GDP ของประเทศในระยะยาว

แต่ในขณะที่กรณีที่แรกที่ใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อที่จะขายบริการและสินค้าไปยังประเทศอื่นนอกเหนือจากประเทศไทยย่อมต้องสร้างผลบวกต่อ GDP ของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาวซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและยินดีที่ได้มีทั้งคราวจริงและข่าวลือของการลงทุนของ Big Boys เข้ามาในอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยในช่วงเวลาไม่กี่เดือน

สำหรับกรณีของ AWS (ด้วยการวิเคราะห์จากข่าวที่เปิดเผยแล้ว) เป็นขนาดของการลงทุนที่เทียบเท่ากับการลงทุนของ AWS ในสิงคโปร์เมื่อทศวรรษก่อนหน้าและอินโดนีเซียเมื่อปีที่แล้วจึงคาดคะเนได้ว่าน่าจะเป็นการลงทุนในเชิงยุทธศาสตร์ที่จะใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อที่จะขายบริการและสินค้าไปยังประเทศอื่นนอกเหนือจากประเทศไทยที่มักจะไม่ได้เกิดขึ้นได้บ่อยและโอกาสก็ลดน้อยลงสำหรับการที่ AWS จะไปลงทุนในมูลค่าเท่านี้กับประเทศอื่นในภูมิภาค

หากเราโชคดีและ AWS ไม่ได้ขยายการลงทุนไปในประเทศอื่นในระยะเวลาอันสั้นจะเปิดโอกาสให้ประเทศใกล้เคียงต้องมาใช้ Cloud ของ AWS ที่อยู่ในประเทศไทยเพราะระยะทางมีผลโดยตรงกับความเร็วและประสิทธิภาพของการให้บริการ Cloud ลูกค้าในประเทศที่ใกล้เคียงจึงมีแน้วโน้มที่จะย้ายมาใช้บริการ Cloud ที่อยู่ในประเทศไทย

และในการที่ใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสำหรับ Cloud จะต้องนำไปสู่การจ้างงานและยกระดับทักษะด้านดิจิทัลทั้งทางตรงที่จะเป็นพนักงานของ AWS และทางอ้อมที่จะเป็นพนักงานของทั้ง SME และ Start-Up ที่จะเกิดมาใหม่เพื่อรองรับ Ecosystem ของ Cloud ที่กำลังมีขึ้นในประเทศ

ในกรณีนี้เราจะมีหัวหน้าวิศวกรและทีมงานวิศวกรด้านดิจิทัลที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่อีกหลายหมื่นถึงแสนราย

ในขณะที่ข้อมูลของการประกาศลงทุนสร้าง Cloud ในประเทศไทยของ Google จะยังไม่ชัดเจนมากนักว่าจะเป็นการลงทุนเพื่อการขายบริการและสินค้าสำหรับผู้ใช้งานในประเทศไทยแต่เพียงอย่างเดียวหรือจะเป็นเพื่อขายบริการและสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วยหรือไม่แต่อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการลดการนำเข้าเพื่อเปลี่ยนมาเป็นการผลิตใช้เองในประเทศซึ่งก็ยังเป็นผลผลบวกต่อ GDP ของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

สุดท้ายนี้ ข่าวลือของการย้ายฐานการผลิต Macbook Pro เข้ามามาในประเทศไทยโดย Apple ถึงแม้จะยังไม่มีอะไรที่ยืนยันได้แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง เพราะมีแนวโน้มที่จะสร้างปรากฎการณ์ที่พลิกผันของอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยได้ไม่แพ้เรื่องของ Cloud 

นับเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อที่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีทั้งข่าวดีที่เกี่ยวกับนโยบายของรัฐและการลงทุนของ Big Boys เข้ามาในประเทศไทยจริงๆ