สศอ. เผยดัชผลผลิตอุตฯ 9 เดือนแรก ขยายตัว 2.83% ตอบรับเศรษฐกิจฟื้นตัว

สศอ. เผยดัชผลผลิตอุตฯ 9 เดือนแรก ขยายตัว 2.83% ตอบรับเศรษฐกิจฟื้นตัว

สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนก.ย. 2565 ขยายตัว 3.36% ไตรมาส 3 ปี 2565 ขยายตัว 8.06% ส่งผลให้ 9 เดือนแรก MPI ขยายตัว 2.83% สะท้อนดีมานด์ในประเทศฟื้นตัวทั้งภาคท่องเที่ยวและส่งออก ขณะที่ต้นทุนการผลิตมีทิศทางชะลอตัวลง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 97.90 ขยายตัวร้อยละ 3.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและการส่งออก สะท้อนได้จากการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน รวมถึงการผลิตสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี อาทิ เบียร์ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และเครื่องประดับ

ประกอบกับสถานการณ์เงินเฟ้อมีทิศทางชะลอตัวลงต่อเนื่อง จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) หมวดสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน ที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ขยายตัวร้อยละ 8.7 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดของปี 2565

นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) เดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 19,710.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 7.92 เมื่อเทียบกับช่วงปีก่อน เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 22

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยใน 27 จังหวัด กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีมาตรการป้องกัน ช่วยเหลือ ฟื้นฟู สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งได้กำชับและมอบหมายให้ทุกหน่วยงานลงพื้นที่ มอบถุงยังชีพให้ประชาชนที่เดือดร้อนและได้รับผลกระทบในพื้นที่ประสบภัยเป็นการเร่งด่วน

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2565 ขยายตัวร้อยละ 3.36 และไตรมาส 3 ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 8.06 ส่งผลให้ 9 เดือนแรก ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 2.83 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกในเดือนกันยายน 2565 ได้แก่ ยานยนต์ จากรถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดกลาง และรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ที่มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นและสามารถผลิตได้ต่อเนื่อง น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวจากการเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบ และชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวตามการเติบโตของตลาดโลก    

ทั้งนี้ จากการใช้เครื่องมือระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย (EWS-IE) พบว่า คาดการณ์ดัชนี MPI เดือนตุลาคม 2565 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และทั้งปี 2565 คาดการณ์ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.5-2.5 มาจากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น  การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ

นอกจากนี้ สถานการณ์การส่งออกจะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดอาเซียน และตะวันออกกลาง เช่น ประเทศกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) และออสเตรเลีย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังและติดตาม ได้แก่ ค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าลง ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) วิกฤตพลังงาน จากความผันผวนของราคาน้ำมัน ทำให้ต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยเพิ่มขึ้น และทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในหลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงการเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน และ ญี่ปุ่น  

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมภาคการผลิตในภาพรวมไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากสถานการณ์น้ำท่วม เนื่องจากผู้ประกอบการเตรียมพร้อมรับมือและมีมาตรการป้องกันจากประสบการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปี 2554 ขณะเดียวกัน สศอ. ได้มอบสิ่งของอุปโภค บริโภค และของใช้ที่จำเป็น เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงร่วมปล่อยขบวนคาราวานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ภายใต้โครงการ “อุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยพี่น้องชาวไทย” ของกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังได้จัดทำข้อเสนอแนะแนวทางมาตรการป้องกัน เยียวยา และฟื้นฟูผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่อไป

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือนก.ย. 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 25.98 จากรถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดกลาง และรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ทั้งตลาดในประเทศและการส่งออก หลังจากมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น และสามารถผลิตได้ต่อเนื่อง

น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.68 จากน้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันเบนซิน 95 จากการเดินทางในประเทศของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.59 จากแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และ IC ตามการขยายตัวของตลาดโลก 

จักรยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 72.69 ตามการขยายตัวของตลาดในประเทศและการส่งออก หลังจากปีที่แล้วฐานต่ำ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานผลิตชิ้นส่วน ทำให้ผู้ผลิตขาดชิ้นส่วนเพื่อทำการผลิต

น้ำมันปาล์ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 34.41 จากน้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ จากผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก สศอ. เผยดัชผลผลิตอุตฯ 9 เดือนแรก ขยายตัว 2.83% ตอบรับเศรษฐกิจฟื้นตัว