"5 บิ๊กคอร์ป" ร่วมกันเร่งเครื่องขับเคลื่อนธุรกิจ สร้างสมดุลและความยั่งยืน

"5 บิ๊กคอร์ป" ร่วมกันเร่งเครื่องขับเคลื่อนธุรกิจ สร้างสมดุลและความยั่งยืน

"5 บิ๊กคอร์ป" ขับเครื่องธุรกิจยั่งยืน "ไทยเบฟ-เอสซีจี-ซีพี" มุ่งเป้าเร่งแผนเน็ตซีโร่ ด้าน "จีซี" ชูไบโอพลาสติก ดันนวัตกรรมยืดอายุผลิตภัณฑ์ ขณะที่ "ทียู" ถอดบทเรียนวิกฤติประมง ก้าวเป็นผู้นำอาหารทะเลโลก

การพัฒนาธุรกิจบนแนวทางความยั่งยืนเป็นเมกะเทรนด์ของธุรกิจทั่วโลก ซึ่งภาคเอกชนไทยได้ร่วมมือกันจัดงาน Sustainability Expo 2022 หรือ SX 2022 โดยเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2565 มีเวทีเสวนาระหว่างผู้บริหารบริษัทชั้นนำของประเทศ "CEO Panel Discussion : Leading Sustainable Business" ที่มานำเสนอแนวคิดการทำธุรกิจแบบยั่งยืน รวมถึงการสนับสนุนนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2030 หรือ 2573 

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผ่านเวที CEO Panel Discussion : Leading Sustainable Business ในงาน Sustainability Expo 2022 เกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน เกิดจากรากฐานธุรกิจของกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ และผู้ก่อตั้งคือ ประธาน เจริญ สิริวัฒนภักดี หรือ บิดา ได้เริ่มต้นธุรกิจแรกๆ คือ การผลิตบรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว ซึ่งในกระบวนการผลิตมีการนำวัตถุดิบเศษแก้วกลับมาหมุนเวียนใช้ซ้ำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หรือเรียกว่า Circular Economy

ทั้งนี้ แนวทางการพัฒนาองค์กรหรือธุรกิจอย่างยั่งยืนมีมานานแล้ว ภายใต้ ESG หรือดำเนินงานควบคู่การรักษาสิ่งแวดล้อม ดูแลสังคม และมีธรรมาภิบาล แต่ปัจจุบันถูกปรับคำและยกระดับให้เป็นวาระสากล หรือทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศ องค์กร ทุกภาคส่วนตระหนักในประเด็น ดังกล่าวมากขึ้น

ขณะที่ ไทยเบฟ ถือเป็นองค์กรธุรกิจไทยที่เพิ่งเริ่มขยายตลาดสู่ระดับภูมิภาคอาเซียนเมื่อเทียบกับองค์กรอื่น ไม่ว่าจะเป็นไทยยูเนี่ยนฯ เครือซีพี เอสซีจี ที่อยู่บนเวทีสัมมนาเดียวกัน การรวมพลังจึงมีโอกาสได้เรียนรู้แนวทางพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนจากพันธมิตรในครั้งนี้

"หลายท่านขยับขยายการลงทุน สร้างกิจการไปทั่วอาเซียนและตลาดโลก ขณะที่ ไทยเบฟ ยังเดินต๊อกแต๊กในอาเซียน และเมื่อถูกคุณรุ่งโรจน์ (เอส ซีจี) ถามเราอย่างเรียบง่ายถึงการทำเรื่องราวเกี่ยวโยงกับความยั่งยืนแบบไหน ทำให้ผมกลับมานึกถึงจุดเริ่มต้นธุรกิจจากทางคุณพ่อคือ แพ็กเกจจิ้งขวดแก้วมีการนำมาใช้หมุนเวียน กล่าวคือเราทำเรื่องเหล่านี้มานาน หรือราว 65 ปีที่คุณพ่อทำงาน เพราะคุณพ่อค้าขายตั้งแต่อายุ 13 ปี และปีนี้คุณพ่อ 78 แล้ว" นายฐาปน กล่าว

  • โจทย์ใหญ่ เร่งเน็ตซีโร่

ปัจจุบัน โจทย์ใหญ่ของผู้ประกอบการคือ การตั้งเป้าลด ก๊าซเรือนกระจก ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2030 โดย ไทยเบฟ ไม่ได้ตีกรอบระยะเวลาเพียงเท่านั้น ยังมองเป้าหมายระยะยาวหลังทำตามได้เป้าหมายดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบโลกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ตระหนักดีว่าเกิดจากทุกคนมีส่วนร่วมสร้างผ่านความต้องการในการบริโภคนิยม (Consumerism) และอีกมิติถือเป็นโอกาสทางการค้าขายของภาคธุรกิจว่าจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษ์โลก สร้างความยั่งยืน และเริ่มต้นจากน้องๆ หนูๆ เพราะเด็กๆ มักรับประทานอาหารเหลือ สร้างผลกระทบต่อโลกได้เช่นกัน

"การพัฒนาความยั่งยืน เป็นพันธสัญญาที่ทำคนเดียวไม่ได้ ทุกคนต้องเข้าใจตรงกัน รวมพลังไทยแลนด์เน็ตเวิร์ก เพื่อใส่ใจ หรือ mindful ในเรื่องเหล่านี้ช่วยลดประเด็นปัญหาต่างๆ" นายฐาปน กล่าว

ปัจจุบัน การวางแผนพัฒนาสู่ความยั่งยืน ธุรกิจข้ามสายอุตสาหกรรมมีการจับมือรวมพลังกันมากขึ้น เพราะเชื่อว่าผู้นำองค์กรต่างๆ มีความคิดและไอเดียสร้างสรรค์ต่อยอดได้

"ไม่ว่าอุตสาหกรรมไหน เทียร์ไหน เรามีพลังความคิดสร้างสรรค์เพื่อช่วยพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างสมดุลที่ดี เพื่อโลกที่ดีกว่า เพื่อทุกคน" นายฐาปน กล่าว

  • "ซีพี" เร่งยั่งยืนทั้งซัพพลายเชน

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมกำลังอยู่ในจุดที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบต่างๆ ที่มาจาก ภาวะโลกร้อน จะส่งผลต่อกระบวนการผลิตเพื่อบริโภคท่ามกลางจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น

เครือซีพี เป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์กรผู้นำด้านความยั่งยืนโลก (UN Global Compact Lead) จากสหประชาชาติซีพีได้กำหนดเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่องค์กร Zero food Waste และ Zero Emission ภายในปี 2030 ขณะนี้ได้เตรียมทุกอย่างเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายนี้

รวมถึงการก้าวเข้าสู่โอกาสใหม่ในอุตสาหกรรม พลังงานหมุนเวียน โดยซีพีเปลี่ยนแปลงและปรับตัวสู่รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนหลายมิติ ทั้งกลุ่มธุรกิจค้าปลีก โทรคมนาคม ตลอดจนการดำเนินธุรกิจใน 21 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ ส่วนอุตสาหกรรมเกษตรได้ปรับสู่การดำเนินการบน ความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน

"เป้าหมายที่ต้องสร้างการรับรู้ทั้งองค์กร ขับเคลื่อนแนวทางเดียวกันทั้งองค์กร เราอาจมุ่งมั่นแต่จะเพิ่มรายได้ส่วนแบ่งการตลาด หาผลิตภัณฑ์ใหม่มาตอบสนองความต้องการของภาคบริโภค แต่หากเราเปลี่ยนให้การสร้างโมเดลธุรกิจเพื่อความยั่งยืนให้เกิดได้จริง ผมก็มั่นใจว่า เราสามารถบาลานซ์ทั้ง 2 ฝั่งให้ไปด้วยกันได้ และการธุรกิจเพื่อไม่ใช่ภาระและอุปสรรค แต่คือสิ่งที่เป้าหมายใหม่ทีมีความท้าทาย" นายศุภชัย กล่าว

ทั้งนี้ ทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส ในวิกฤติด้าน การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ นี้จะทำให้มีโอกาสสร้างความยั่งยืน จัดการกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อโลกได้ ดังนั้น ภาคธุรกิจควรลงทุนอย่างจริงจัง ไม่เพียงแต่ลงทุนในเรื่องพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น แต่ยังมีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่เราต้องลงทุนต่อไปเพื่อดำเนินการและรับผิดชอบว่าภาคธุรกิจจะไม่ปล่อยมลพิษมากขึ้น

  • ก๊าซเรือนกระจกต้องเป็นศูนย์

ส่วนเป้าหมาย Zero Carbon และ Zero Waste เป็นเป้าหมายที่ประกาศมา 2 ปี แต่เป้าหมายความยั่งยืนของเครือประกาศมา 5 ปีแล้ว แต่ไม่ได้มีภาพรวมที่ชัดเจน โดยเป้าหมาย Zero Carbon และ Zero Waste จะช่วยลดมลภาวะและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากและถ้าไม่ตั้งเป้าหมายคงคิดไม่ออกว่าจะผ่านสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร

ดังนั้น การรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และจะไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จึงกำหนดเป้าหมายเป็นองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอนและมุ่งสู่การลดขยะเป็นศูนย์ภายในปี 2030 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050

การวางแผนเพื่อให้ได้เป้าหมายที่ตั้งไว้ เครือซีพี จำเป็นต้องมององค์กรรวมของห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ดังนั้น จึงต้องมีการจัดการทรัพยากรตามแนวทาง Circular Economy และการใช้ พลังงานสะอาด อาทิ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในโรงงาน ปัจจุบันฟาร์มสุกรได้ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลทั้งหมด ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้ามาชดเชยการใช้ไฟฟ้าปกติได้ถึง 40% รวมถึงการใช้ พลังงานหมุนเวียน 100% เพื่อทดแทนการใช้ไฟฟ้าฝ่ายผลิตในระบบ โดยเฉพาะการนำโซลาร์เซลล์มาติดตั้งในพื้นที่อุตสาหกรรมทั้งหมด

  • "จีซี" ชูไบโอพลาสติก

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี กล่าวว่า การขับเคลื่อนความยั่งยืนมีหลายรูปแบบ โดยจีซีได้เลือกขับเคลื่อนผ่านการพัฒนาไบโอพลาสติกที่จะช่วยย่อยสลายสินค้าได้ง่าย รวมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

นอกจากนี้ จีซี ได้มีการผลักดันนวัตกรรมอัพไซคลิ่ง ซึ่งเป็นการนำขยะมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กลายเป็นสิ่งใหม่ได้ รวมทั้งได้มีการศึกษาการใช้เทคโนโลยีสารเคลือบเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของจีซี เพื่อให้ใช้ได้อีก 20-30 ปี โดยซีจีจะเน้นการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความร่วมมือ โดยเฉพาะการทำรีไซเคิลที่จะให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น การให้เยาวชนในชุมชนเก็บขวดมาล้าง สร้างแรงบันดาลใจเล็กๆ สู่การทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่เพื่อโลกต่อไป

  • "เอสซีจี" เร่งแผนลดคาร์บอน

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราใช้เวลาในการตอบคำถามว่าทำไมต้องทำเพื่อความยั่งยืน ทำไมเลือกลงทุนกับสิ่งนี้ ท่ามกลางภาวะโลกร้อนและโลกรวน ซึ่งทำให้เกิดความไม่แน่นอนสูงมาก และความไม่แน่นอนนี้ ไม่ใช่เรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแต่เป็นเรื่องของระยะเวลาของความผันผวน รวมทั้งบริษัทฯ ต้องจัดลำดับความสำคัญของการลงทุน ซึ่งบางอย่างที่ทำแล้วเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาก แต่กลับทำไม่ตอบสนองด้านรายได้ หรือบางอย่างทำรายได้ดีมากแต่ไม่ได้ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมมากนัก ซึ่งสุดท้ายแล้วจะต้องมองย้อนกลับไปที่วิสัยทัศน์ขององค์กรว่าต้องการเดินไปข้างหน้าอย่างไร ซึ่งในวิกฤติที่เรากำลังเผชิญถ้ามองให้ดีมันคือโอกาส โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้น้อยที่สุดทั้งยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

"เอสซีจี ตั้งเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยจะลดการใช้ถ่านหินลง รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นในการผลิตซีเมนต์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ใช้พลังงานสูงและสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด" นายรุ่งโรจน์ กล่าว

  • แนะตั้งเป้า "ยั่งยืน" ให้ชัดเจน

ทั้งนี้ การเดินหน้าสู่เส้นทางเน็ตซีโร่ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและติดตามผลให้เหมือนการตั้งเป้าหมายทางธุรกิจ โดยแบ่งเป็นเป้าหมายระยะสั้นในอีก 8 ปีข้างหน้า โดย เอสซีจี จะลดการปล่อยคาร์บอนลงให้ได้ 20% ซึ่งเมื่อบริษัทฯ มีเป้าหมายแล้วสุดท้ายการวางแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นได้ก็จะตามมา

สำหรับคำแนะนำที่อยากบอกเอสเอ็มอีเปลี่ยนโครงสร้างด้านพลังงานไม่ได้ทำง่าย เพราะธุรกิจไม่ได้มีทุนเยอะ แต่สิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดคือ ให้มองย้อนกลับไปที่พื้นฐานในการทำธุรกิจ โดยตั้งต้นจากลูกค้า เริ่มจากการสำรวจความต้องการและปัญหา (pain points) ของลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ทั้งในแง่ของสินค้า การใช้งาน และการรีไซเคิล โดยการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่สามารถใช้ได้เข้าไปจับเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น ซึ่งการมีจุดเริ่มต้นที่ทำได้ง่าย จะเป็นตัวอย่างของเคสที่ประสบความสำเร็จเล็กๆ และเริ่มมีการขยายต่อไปในองค์กรได้

  • "ทียู" พลิกวิกฤติประมง

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ทำธุรกิจแปรรูปอาหารทะเล ซึ่งมีการใช้แรงงานในภาคการผลิตอย่างเข้มข้น ซึ่งในปี 2014 ที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับเรื่องปัญหาการค้ามนุษย์อยู่ใน Tier 3 (ระดับต่ำสุด) รวมทั้งการถูกตราหน้าว่า เป็นประเทศที่มีการทำประมงผิดกฎหมายและมีการกดขี่แรงงานที่ทำงานบนเรือ ทำให้ตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว บริษัทต้องตื่นตัวและเร่งปรับปรุง ไม่ใช่แค่เพียงการบริหารจัดการภายในแต่รวมไปถึงการดูแลตลอดห่วงโซ่อุปทานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

นอกจากนั้น บริษัทฯ เลือกคู่ค้าที่ปฏิบัติกับแรงงานถูกต้อง เลือกซื้อวัตถุดิบจากแหล่งที่ถูกกฎหมาย ต่อยอดการให้ความรู้กับเรือประมงและการบริหารจัดการฟาร์มให้ได้มาตรฐานและมีความยั่งยืน รวมทั้งมีการตรวจสอบไปยังเรือประมงและฟาร์มอย่างต่อเนื่องให้ครอบคลุม

"สำหรับคำแนะนำผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจในไทย การทำเรื่องความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่ใช่แค่การรักษ์โลก แต่มันคือการรักตัวเอง รักธุรกิจของเราด้วย ความยั่งยืนไม่ใช่แค่เพื่อทางรอดของโลก แต่มันคือความอยู่รอดของเราเอง ทั้งยังเป็นการสร้างความสามารถในการแข่งขันที่จะนำไปสู่การเกิดธุรกิจใหม่" นายธีรพงศ์ กล่าว