จาก VUCA world สู่ BANI world

จาก VUCA world สู่ BANI world

VUCA เป็นคำย่อที่กองทัพสหรัฐ ใช้เรียกสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรงอย่างต่อเนื่องในช่วงสงครามอัฟกานิสถานและอิรัก

ในโลกธุรกิจ คำว่า VUCA กลายเป็นที่นิยมในยุค 2000 เพราะสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เศรษฐกิจและสังคม มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่แพ้สถานการณ์สงครามเช่นกัน เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและวัฒนธรรม จนมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้คนและองค์กร

อย่างการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ และการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย เป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่องค์กรธุรกิจต่างๆ ที่ต้องทำความเข้าใจและปรับตัวให้ทัน

อย่างไรก็ตาม วิกฤติโรคระบาดโควิด-19 อุบัติขึ้นในครั้งนี้ ได้เปลี่ยนแปลงโลกไปมากมายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นักวิชาการหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่าโลกในอนาคตหลังจากนี้ไป (New Normal) จะเป็นอย่างไร และ VUCA สามารถอธิบายสภาพการณ์ของโลกในยุค New Normal นี้ได้อีกต่อไปไหม? 

ในที่สุด Jamais Cascio นักพฤติกรรมศาสตร์ชื่อดังชาวอเมริกา ก็ออกมาไขปริศนาเรื่องนี้ ด้วยการนำเสนอรูปแบบใหม่ที่โลกในอนาคตหลังวิกฤติโควิดต้องพบเจอ และเรียกมันว่า BANI (อ่านว่า บานี่) ซึ่งปรากฏในข้อเขียนงานสัมมนาของ IFTF (Institute of the Future เป็น Think Tank หรือองค์กรเสนอความคิดต่อสังคม) 

ในปี 2016 BANI เป็นกรอบคิดในการอธิบายและพยากรณ์โดยเสนอว่า หลายสิ่งในโลกแตกสลายได้ง่าย และก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก ความเปราะบางนี้มีผลต่อความมั่นคงขององค์กรต่างๆ BANI จะช่วยให้ผู้คนมองโลกจากความเป็นจริง เตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมพร้อมสำหรับโลกธุรกิจในยุคต่อไปได้ดีขึ้น

++ หมดยุค VUCA ยุค BANI มาแล้ว?

คำว่า VUCA ถูกใช้ครั้งแรกใน U.S. Army War College ซึ่งนักศึกษาทหารได้ใช้คำย่อนี้เพื่ออธิบายสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความผันผวน ยากจะคาดเดา มีความซับซ้อนสูง และคลุมเครือเกินกว่าจะอธิบายได้ คำว่า VUCA ก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้นในวงการอื่นๆ ด้วย เพื่อนำมาอธิบายสถานการณ์ที่ยากจะอธิบาย คาดเดาไม่ได้ และไม่แน่นอน 

โดยความหมายของ VUCA นั้นมาจากคำ 4 คำ คือ V-Volatility ความผันผวน ยากจะคาดเดา เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันไม่ทันตั้งตัว U-Uncertainty มีความไม่แน่นอนสูง ไม่ชัดเจน ยากจะอธิบาย C-Complexity มีความซับซ้อนสูง มีปัจจัยมากมายที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ A-Ambiguity มีความคลุมเครือ เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ยากจะคาดเดาผลลัพธ์ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2020 มีที่ปรึกษาชาวเยอรมัน จากสถาบัน Institute of the Future Staphane Graphmyor ได้แชร์แนวคิดว่า VUCA นั้นไม่ทันสมัยที่จะใช้ในการอธิบายโลกแห่งปัจจุบันและอนาคตที่จะมาถึง BANI World จึงถูกคิดค้นโดย Jamais Cascio โดยต่อยอดจากแนวคิดทางสังคมวิทยา Liquid Modernity (ที่ว่าทุกอย่างเป็นของไหล ที่คลุมเคลือ ไม่แน่นอน) ของ Zygmunt Bauman BANI World

++ BANI (อ่านว่า บานี่) ประกอบไปด้วย

Brittle เป็นโลกที่เปราะบาง หมายถึง แทบทุกอย่าง มาเร็วไปเร็ว ความสำเร็จในโลกธุรกิจหลายตัวไม่อาจอยู่คงทนถาวร แถมยังแตกหักได้ง่าย อาจถูก disrupt ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยี รูปแบบธุรกิจ ฯลฯ ตัวอย่างเช่น แม้ว่าตอนนี้ blockchain กำลังมาแรง แต่หากมีเทคโนโลยีที่ดีกว่าที่พร้อมใช้งานได้จริงทันที (หรือแม้แต่ ควอนตัมคอมพิวเตอร์) ระบบทั้งหมดก็อาจจะจบทันทีแค่พริบตาได้ ธุรกิจที่สร้างขึ้นจากรากฐานที่เปราะบาง อาจพังได้ในชั่วข้ามคืน องค์กรจึงต้องมีความสามารถในการฟื้นตัวที่รวดเร็ว องค์กรจึงไม่ควรใช้การปฏิบัติงานแบบใดแบบหนึ่งทั้ง 100% แม้แนวทางนั้นจะดูน่าเชื่อถือ ยืดหยุ่น และดูแข็งแรงก็ตาม ซึ่งความเปราะบางเหล่านี้ มักมาจากหลายสาเหตุ แต่หนึ่งในนั้นคือความต้องการที่จะตั้งหน้าตั้งตาทำผลกำไรให้สูงสุด โดยไม่คำนึงถึง หรือไม่สนใจเรื่องอื่น

Anxiety-inducing หรือ Anxious เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความกังวล แม้จะเมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตัดสินใจ ก็อาจทำให้ไม่สามารถเลือกสิ่งสำคัญในช่วงเวลาที่กดดันและตึงเครียดได้ เพราะวิตกกังวลกลัวจะเจอความล้มเหลวอยู่ตลอดเวลา แม้จะรู้ว่าทางเลือกนั้นอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด การระบาดของโควิด-19 ทำให้เราได้เห็นการแตกสลายอย่างง่ายดายในทุกระดับ ปัจจุบันไม่มีอะไรมาประกันความมั่นคงของงาน การเปลี่ยนแปลงลักษณะของงานก็ไม่หยุดนิ่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่นำไปสู่ความวิตกหวั่นไหว (A) ขององค์กรโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนทั้งสิ้น ที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นการฟิวส์ขาดง่ายของคนไทยจำนวนไม่น้อยจากสาเหตุเล็ก ๆ

Nonlinear หรือ เป็นโลกที่ความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ไม่เป็นเส้นตรง เหตุและผล อาจไม่แปรผันตามกันชัดเจนเหมือนเดิม มีปัจจัยแทรกซ้อน ตัวแปร สถานการณ์อื่นๆ มาส่งผลกระทบแบบที่เราไม่รู้ Linear คือ เส้นตรงซึ่งมีความชันคงที่ หมายถึงสาเหตุและผลไปอย่างควบคู่กัน ลักษณะที่ไม่เป็นเส้นตรงจะทำให้ไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าสาเหตุจะนำไปสู่ผลใหญ่โตเพียงใดในอัตราความเร็วเท่าใด พูดอีกอย่างว่าอดีตไม่อาจเป็นเครื่องชี้อนาคตได้เสมอไป

ทุกวันนี้ เหมือนเราอยู่ในภาพยนตร์ที่มีจุดจบในแบบที่ไม่ควรจะเป็น ไม่มีตรรกะ เหตุและผลที่เคยใช้ในการคาดการณ์ จะใช้ไม่ได้อีกต่อไป ตัวอย่างง่ายๆ ที่สุด คือ วิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ครั้งนี้ ที่เราพยายามคาดการณ์หลายทีว่าจะจบช่วงนั้นช่วงนี้ เพราะ ยึดหลักระบาดวิทยา และตามหลักเราควรสร้างให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในปีแรกเลย แต่ทว่า...ก็เป็นอย่างที่เราเห็น กว่าจะจบก็ลากกันมา 3-4 ปี ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะจบจริงหรือเปล่า

Incomprehensible หรือ เป็นโลกที่เข้าใจได้ยาก การใช้ชีวิตในโลกที่เปราะบาง เต็มไปด้วยความวิตกกังวลและไม่สามารถคาดเดาได้ ทำให้หลายเหตุการณ์ไม่มีเหตุและผล การตัดสินใจส่วนใหญ่จึงยากที่จะทำความเข้าใจ จึงต้องเพิ่มสัญชาตญาณเข้ามาช่วยในการหาคำตอบและทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ แม้แต่การใช้ big data เข้ามาช่วยก็อาจทำให้งงกว่าเดิมก็มี เพราะเกิดภาวะ “ข้อมูลท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” (Information Overload)

++ BANI World

BANI เป็นมากกว่า “สถานการณ์” (ผันผวน, ไม่แน่นอน, ซับซ้อน, คลุมเครือ) แต่เป็นการมองไปถึงผลกระทบ “ด้านอารมณ์ของคน” ด้วย เช่น ความกังวล ความหดหู่ ความสับสน ฯลฯ (เพราะ Jamais Cascio มาสายมานุษยวิทยา ซึ่งเน้นการศึกษาพฤติกรรมคนด้วย) มันคือ การอธิบายเพื่อให้อะไรๆ ชัดเจนขึ้น เพื่อใช้เป็น framework ใหม่ในการจัดการด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ หรือ การบริหารพัฒนาคน เช่น เมื่อรู้ว่า อะไรที่เปราะบาง Brittle ก็ต้องทำให้เกิดความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้เร็ว กระจายความเสี่ยงได้  ด้านคน ก็ควรจะสร้างให้เกิด mindset แบบล้มแล้วลุกให้ไว เพราะคุณมีโอกาสจะเจ๊งได้ทุกเมื่อ เป็นต้น 

เมื่อเราเผชิญกับความรู้สึกวิตก (Anxious) เราต้องใช้ Empathy และ Mindfulness เข้ามาช่วย เมื่อเราเผชิญกับสถานการณ์ที่ Non-linear เราต้องนำบริบทมาวิเคราะห์ และเน้นที่การปรับตัว เมื่อเราเจอกับสิ่งที่เข้าใจได้ยาก (Incomprehensible) เราต้องเพิ่มความโปร่งใส และใช้สัญชาตญาณ เข้ามาช่วย